“พาณิชย์” ประชุมคณะอนุกรรมการ CPTPP ด้านการค้า การค้าบริการ และการลงทุน มอบหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประเมินความพร้อมของไทย และจัดทำแผนงานการปรับตัวการเข้าร่วม CPTPP ขีดเส้นส่งคืนภายใน มี.ค.นี้ ก่อนนำเข้า กนศ. พิจารณา และเสนอ ครม. ให้ทันภายใน 90 วัน
นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 18 มี.ค. 2564 ที่ผ่านมา ได้เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เกี่ยวกับเรื่อง CPTPP ด้านการค้าสินค้า การค้าบริการ และการลงทุน โดยได้หารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมกันประเมินความพร้อมของไทย และจัดทำแผนงานการปรับตัวตามผลการศึกษาของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาผลกระทบจากการเข้าร่วม CPTPP และขอให้เสนอแผนงานกลับมายังกระทรวงพาณิชย์ ก่อนที่จะรวบรวมเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) เพื่อประมวลความพร้อมหรือไม่พร้อมของประเทศไทยในประเด็นต่างๆ และนำเสนอ ครม. ให้ทันภายใน 90 วัน หรือภายในกลางเดือน เม.ย. 2564 ตามมติที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 9 ก.พ. 2564 ได้กำหนดเอาไว้
“ที่ประชุมได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องประเมินผลกระทบ ความพร้อมของไทย และจัดทำแผนงานการปรับตัวตามข้อเสนอของรายงานการศึกษาของคณะกรรมาธิการวิสามัญ CPTPP ที่สภาผู้แทนราษฎรส่งให้ ครม. แล้วส่งกลับมาให้กระทรวงพาณิชย์ ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะอนุกรรมการด้านการค้าสินค้า การค้าบริการ และการลงทุน ภายในเดือน มี.ค. 2564 เพื่อรวบรวมเสนอ กนศ. และ ครม. ต่อไป”
ทั้งนี้ คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี เรื่อง CPTPP ด้านการค้าสินค้า การค้าบริการ และการลงทุน ประกอบด้วย ผู้แทนจาก 29 หน่วยงาน เช่น กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงสาธารณสุข ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ สํานักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน กรมศุลกากร สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง และกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ เป็นต้น มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธาน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เป็นรองประธาน และกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เป็นฝ่ายเลขานุการ
สำหรับคณะอนุกรรมการชุดนี้ เป็น 1 ใน 8 คณะ ที่ กนศ. ตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 5 ก.พ. 2564 ประกอบด้วย 1. คณะอนุกรรมการด้านเกษตรและพันธุ์พืช 2. คณะอนุกรรมการด้านการแพทย์และสาธารณสุข 3. คณะอนุกรรมการด้านการค้าสินค้า การค้าบริการ และการลงทุน 4. คณะอนุกรรมการด้านการระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐกับรัฐ และเอกชนกับรัฐ 5. คณะอนุกรรมการด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ 6. คณะอนุกรรมการด้านการจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐและรัฐวิสาหกิจ 7. คณะอนุกรรมการด้านแรงงาน และ 8. คณะอนุกรรมการด้านการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบ เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันประเมินความพร้อมของไทย และจัดทำแผนงานการปรับตัวตามผลการศึกษาของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาผลกระทบจากการเข้าร่วม CPTPP จากนั้น ครม. ได้มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 9 ก.พ. 2564 และให้คณะอนุกรรมการแต่ละชุดไปรวบรวมข้อมูล ข้อเสนอแนะ ก่อนรายงานให้ ครม. ภายใน 90 วัน
“พาณิชย์” มอบหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประเมินความพร้อม ทำแผนปรับตัวเข้าร่วม CPTPP ด้านการค้า - ผู้จัดการออนไลน์
Read More
No comments:
Post a Comment