วิกฤตโควิด-19 ทำให้ผู้คนจำนวนมากต้องดิ้นรนเพื่อหารายได้ให้เพียงพอจุนเจือครอบครัว หลายครอบครัวต้องเผชิญกับแรงกดดันจากภาระหนี้สิน ซึ่งไม่น่าเชื่อว่าคนคนหนึ่งจะเป็นหนี้ได้หลากหลาย ตั้งแต่หนี้บัตรเครดิตและบัตรกดเงินสดหลายใบ หนี้รถ-บ้าน-ค้ำประกัน ถ้าเป็นข้าราชการอาจมีหนี้สวัสดิการหลากหลายนอกเหนือจากที่แจกแจงไว้
ในภาวะที่บีบคั้นเช่นนี้ ทางออกที่ลูกหนี้จำนวนไม่น้อยเลือก คือ
- หยิบยืมญาติสนิทมิตรสหาย เพื่อรักษาสภาพคล่องชั่วคราว แต่เมื่อสถานการณ์ด้านรายได้ไม่ดีขึ้น สุดท้ายก็ไม่สามารถใช้คืนได้ จนเป็นปัญหาด้านความสัมพันธ์จนเข้าหน้ากันไม่ติด เกิดแรงกดดันทางสังคม จนเกิดภาวะเครียด
- พยายามหนีหนี้ไปสุดขอบฟ้า ทำตัวติดต่อไม่ได้ จนเกิดภาวะดอกเบี้ยทบต้นไปเรื่อยๆ หนี้สินพอกพูน และนำมาสู่การยึดทรัพย์
- พึ่งพิงหนี้นอกระบบทั้งที่ดอกเบี้ยสูงมาก และสุดท้ายต้องเข้าสู่วงจรหนี้ไม่มีที่สิ้นสุด เพราะแค่ดอกเบี้ย 5% ต่อเดือน (ซึ่งส่วนใหญ่มากกว่านั้น) ในเวลาปีเศษดอกเบี้ยก็เท่ากับต้นแล้ว นอกจากนี้บางคนยังเจอเจ้าหนี้คุกคามจนดำเนินชีวิตปกติไม่ได้
สุดท้ายทุกทางออกข้างต้นล้วนมีปัญหาในที่สุด เพราะเป็นการแก้ปัญหาระยะสั้น คำถามสำคัญคือ เมื่อจ่ายหนี้ไม่ไหวควรทำอย่างไร? จึงจะแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน
จากประสบการณ์ที่ทำงานร่วมงานกับสถาบันการเงินเกือบ 3 ทศวรรษ และเป็นผู้บุกเบิกงานแก้ไขปัญหาหนี้สินภาคประชาชนรุ่นแรกของ ธปท. คิดว่า การแก้ปัญหาหนี้สิน ถ้ามุ่งคิดแต่เรื่องหนี้สินอย่างเดียว ส่วนใหญ่จะพบทางตัน จำเป็นต้องพิจารณาตัวแปร 3 ตัวที่เกี่ยวข้องกับหนี้ จึงจะช่วยเพิ่มสภาพคล่องและจัดการปัญหาหนี้ได้ถูกต้อง กล่าวคือ
ตัวแปรแรกคือรายจ่าย แน่นอนว่าเมื่อรายได้ลด เราจะใช้จ่ายเหมือนเดิมคงไม่ได้ และรายจ่ายหลายตัวยังซ่อนตาเราอีกมาก ขณะเดียวกันเรื่องรายจ่ายเป็นเรื่องที่ต้องร่วมกันแก้ปัญหาทั้งครอบครัว แต่กลับพบว่าหัวหน้าครอบครัวมักจะแบกปัญหาและรับความเครียดไว้คนเดียว กว่าคนในครอบครัวจะรับรู้ ปัญหาก็บานปลายเกินกว่าจะแก้ไข ในกรณีที่ครอบครัวช่วยเหลือกัน พบว่า ลดค่าใช้จ่ายได้อย่างไม่น่าเชื่อ เช่น บางครอบครัวจากที่เคยกินอาหารนอกบ้านเป็นประจำ ต้องหันมาทำอาหารกินเอง แต่ก็ยังไม่พอ ต้องเลือกเมนูอาหารให้เหมาะกับรายได้ด้วย บางคนที่ผ่านพ้นวิกฤตหนี้เล่าว่า เราประหยัดสุดๆ ผักบุ้ง 1 กำ ไข่ดาว 2 ฟอง คือกับข้าว 3 มื้อของครอบครัว ช่วงนี้ก็เน้นข้าวคลุกซีอิ๊วเยอะหน่อยก็พอไปได้
ตัวแปรต่อมาคือรายได้ ซึ่งการหารายได้เสริมจะว่าเป็นเรื่องยากก็ยาก แต่พลิกมุมคิดว่า อะไรที่ 2 มือนี้ทำได้ นับเป็นงานเป็นเงินทั้งนั้น ทำให้มีทางออกได้ไม่ยากนัก จากประสบการณ์ของลูกหนี้รายหนึ่งถูกให้ออกจากงาน แรกๆ ก็เคว้งคว้าง ช่วงกลางวันก็ทำงานรับจ้าง รายได้ไม่แน่นอน แต่เขาไม่ย่อท้อไปรับเศษผ้าจากโรงงานมาเย็บผ้าเช็ดเท้าตอนกลางคืน ซึ่งงานแบบนี้ถือเป็นงานอาชีวบำบัด ทำให้จิตนิ่งได้ สุดท้ายเมื่อเขาหายฟุ้งซ่านจากปัญหาหนี้สิน ชีวิตเริ่มเข้าที่เข้าทาง ไปสัมภาษณ์งานใหม่ที่ไหนก็มีสติ ในเวลาไม่ถึง 6 เดือน เขาก็ได้งานประจำที่มีรายได้มั่นคง
ตัวแปรสุดท้ายคือหนี้สิน เมื่อจ่ายไม่ไหว ลูกหนี้แทบทุกคนย่อมรู้สึกผิดที่ไม่สามารถรักษาสัญญาที่ให้กับเจ้าหนี้ได้ สุดท้ายก็ดิ้นรนไปหาทางออก 3 ข้อแรก ที่ไม่ขยายไปสู่ปัญหาอื่น ก็ทำให้ปัญหาหนี้สินรุนแรงขึ้น ทางที่ดีที่สุดคือการเผชิญหน้ากับปัญหา โดยการเข้าไปปรึกษากับเจ้าหนี้ เปิดใจถึงปัญหาที่เกิดขึ้น แสดงความจริงใจและความตั้งใจ ถ้าเจ้าหนี้รู้ว่าลูกหนี้คนนี้แม้ไม่มีเงินหรือมีเงินน้อย แต่มาแสดงตัวและให้ความร่วมมือกับเจ้าหนี้เพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินทุกวิถีทาง สิ่งเหล่านี้คือเครดิต คือความน่าเชื่อถือ ที่เจ้าหนี้ให้คุณค่า เมื่อต่างฝ่ายพยายามทำข้อตกลง แม้จะจ่ายได้ไม่ครบหรือยังจ่ายไม่ได้ตามข้อตกลงใหม่ แต่เจ้าหนี้ก็ยังเห็นความตั้งใจ การจะส่งฟ้อง ยึดทรัพย์ ลูกหนี้กลุ่มนี้ก็จะอยู่กลุ่มที่จะถูกฟ้องเป็นอันดับท้ายๆ
สุดท้ายนี้ สิ่งที่อยากจะฝากเป็นกำลังใจกับลูกหนี้ทุกคนที่กำลังเป็นทุกข์กับปัญหาหนี้สินว่า ลูกหนี้ทุกคนไม่ได้ต่อสู้กับปัญหาหนี้สินอย่างเดียวดาย เพราะธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พยายามสร้างช่องทางช่วยเหลือลูกหนี้เอง ร่วมมือกับสถาบันการเงิน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการไกล่เกลี่ยหนี้ จนปัจจุบันช่องทางการดูแลลูกหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล (บัตรฯ) เรียกได้ว่าครบวงจรระดับหนึ่งแล้ว ผ่านมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้บัตรฯ ซึ่งจะช่วยให้ลูกหนี้มีโอกาสเลื่อนชำระหนี้ ลดเพดานดอกเบี้ย ขยายงวดการชำระหนี้ และเร่งปรับโครงสร้างหนี้ให้สอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ และที่สำคัญ เมื่อมีปัญหานี้อย่าคิดคนเดียว การเปิดใจกับครอบครัวให้ร่วมกันฝ่าฟันวิกฤตนี้ไปด้วยกัน การเข้าไปหาเจ้าหนี้เพื่อแสดงความตั้งใจและจริงใจ จะช่วยให้ทุกคนมีทางออกร่วมกัน
อย่าลืม! ‘มีหนี้ต้องแก้ไข เริ่มต้นใหม่อย่างยั่งยืน’
เมื่อจ่ายหนี้ไม่ไหวควรทำอย่างไร? – THE STANDARD - thestandard.co
Read More
No comments:
Post a Comment