ครบหนึ่งสัปดาห์เต็ม หลังจากประเทศไทยปลดล็อกกัญชา กัญชง ออกจากบัญชียาเสพติด และเปิดให้ประชาชนปลูกพืชกัญชา กัญชง เพื่อประโยชน์ในการดูแลรักษาสุขภาพได้ผ่านการจดแจ้ง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องงัดข้อกฎหมายขึ้นมาอุดช่องว่างในช่วงสูญญากาศ ระหว่างรอจัดทำกฎหมายกัญชา กัญชง
กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ภายใต้การนำของนายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย (ภท.) ผลักดันให้นำกัญชามาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์และสุขภาพ ก่อนต่อยอดเพิ่มมูลค่ากลายเป็นพืชเศรษฐกิจ ทำให้มีผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของกัญชา กัญชง ออกสู่ตลาดมากมาย ทั้งผลิตภัณฑ์อาหาร เครื่องสำอาง และสมุนไพร
นายอนุทินกล่าวบ่อยครั้งว่า เป็นการ "ประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของกัญชา กัญชง ในประเทศไทย"
ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ.2565 มีผลบังคับใช้เมื่อ 9 มิ.ย. 2565 ส่งผลให้ทุกส่วนของพืชกัญชา-กัญชง ไม่เป็นยาเสพติด ยกเว้นสารสกัดที่มีปริมาณสารเตตราไฮโดรแคนาบินอล (tetrahydrocannabinol - THC) เกิน 0.2 % ที่ยังเป็นยาเสพติด
ประกาศฉบับนี้ถูกประกาศลงราชกิจจานุเบกษาตั้งแต่ 9 ก.พ. 2565 โดย สธ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีเวลา 120 วันในการเตรียมการก่อน "ปลดล็อกกัญชา"
ขณะที่ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กัญชา กัญชง (ฉบับ..) พ.ศ. ... ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร โดยเพิ่งผ่านวาระหนึ่ง ขั้นรับหลักการ เมื่อ 8 มิ.ย. ทำให้เกิดสูญญากาศในการคุ้มครองดูแลผู้บริโภค
สธ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงต้องพลิกข้อกฎหมายอื่น ๆ ขึ้นมาออกประกาศตามอำนาจของตน เพื่ออุดช่องว่างช่องโหว่ในระหว่างนี้ โดยบางฉบับออกมานานแล้วแต่ประชาชนอาจยังไม่ได้รับข้อมูลข่าวสารมากนัก จึงปฏิบัติตัวไม่ถูกต้องในยุค "กัญชาเสรี" ขณะที่บางฉบับเพิ่งออกมาหลังวันที่ 9 มิ.ย.
บีบีซีไทยรวบรวมข้อมูลไว้ ณ ที่นี้
กัญชาในอาหาร ทำได้แค่ขึ้นคำเตือน
กรมอนามัย หน่วยงานในสังกัด สธ. ออกประกาศกรมอนามัย เรื่อง การนำใบกัญชามาใช้ในการทำ ประกอบหรือปรุงอาหาร ในสถานประกอบกิจการอาหาร พ.ศ. 2565 จำนวน 2 ฉบับ
ประกาศทั้ง 2 ฉบับ ลงนามโดย นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย อาศัยอำนาจตามมาตรา 32 แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2535
ฉบับแรก ประกาศเมื่อ 30 มี.ค. มีเนื้อหารวม 6 ข้อ สาระสำคัญคือ การกำหนดให้สถานประกอบการกิจการอาหาร ต้องควบคุม กำกับ และจัดให้มีการสื่อสารข้อมูลด้านสุขภาพและต้องตระหนักด้านความปลอดภัยแก่ผู้บริโภคเกี่ยวกับการจำหน่ายอาหารที่มีการใช้ใบกัญชาเป็นส่วนประกอบของอาหาร ดังนี้
หนึ่ง จัดทำข้อความแสดงข้อมูลเป็นสถานประกอบกิจการอาหารที่มีการใช้กัญชา
สอง แสดงรายการอาหารที่มีการใช้ใบกัญชาทั้งหมด
สาม แสดงข้อมูลปริมาณการใช้ใบกัญชาเป็นส่วนประกอบต่อรายการอาหาร ทว่ากรมอนามัยเพิ่งออกมายกตัวอย่างเพิ่มเติมไม่กี่วันนี้ว่า อาหารทอด แนะนำการใช้ใบกัญชาสด 1-2 ใบสดต่อเมนู ส่วนอาหารประเภทผัด แกง ต้ม ผสมในเครื่องดื่ม แนะนำการใช้ใบกัญชาสด 1 ใบสดต่อเมนู
สี่ แสดงข้อแนะนำเพื่อความปลอดภัย ในการบริโภคอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีใบกัญชาเป็นส่วนประกอบ
ห้า แสดงคำเตือนรายการอาหารที่มีการใช้ใบกัญชาให้แก่ผู้บริโภคที่มีความเสี่ยง หากรับประทานอาหารที่ใช้ใบกัญชาทราบ
สำหรับข้อความคำเตือนที่ถูกระบุไว้ในประกาศของกรมอนามัยมี 4 ข้อความ ได้แก่
- "เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี สตรีมีครรภ์ และสตรีให้นมบุตร ไม่ควรรับประทาน"
- "หากมีอาการผิดปกติ ควรหยุดรับประทานทันที"
- "ผู้ที่แพ้หรือไวต่อสารเตตราไฮโดรแคนนาบินอล (Tetrahydrocannabinol, THC) หรือสารแคนนาบิไดออล (Cannabidiol, CBD) ควรระวังในการรับประทาน"
- "อาจทำให้ง่วงซึมได้ ควรหลีกเลี่ยงการขับขี่ยานพาหนะ หรือทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักรกล"
หก ห้ามแสดงข้อความหรือโฆษณาสรรพคุณในการป้องกันหรือรักษาโรค
ส่วนประกาศฉบับที่สอง ประกาศใช้ในวัน "ปลดล็อกกัญชา" 9 มิ.ย. มีสาระเพิ่มเติมเพียงแค่ "กำหนดให้สถานประกอบกิจการอาหาร มีการจัดเก็บใบกัญชาที่สะอาด ถูกสุขลักษณะ จัดเก็บเป็นสัดส่วน อยู่ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม ไม่ทำให้เกิดเชื้อรา หรือเน่าเสีย"
ภายใต้ประกาศของกรมอนามัย สถานประกอบกิจการอาหารครอบคลุมถึง ตลาด สถานที่จำหน่ายอาหาร สถานที่สะสมอาหาร และการจำหน่ายในที่หรือทางสาธารณะ
อย่างไรก็ตามการควบคุมและป้องกันผลกระทบจากการใช้กัญชาปรุงอาหาร ส่วนใหญ่เป็นเพียง "คำแนะนำ" ซึ่งการเอาผิดทางกฎหมาย จะทำได้ก็ต่อเมื่อมีการทำผิดกฎหมายจะแจ้ง เช่น ใช้น้ำมันกัญชาเกินปริมาณที่กำหนด (มีปริมาณ THC เกิน 0.2%) ก็จะผิดกฎหมายยาเสพติด
คุมกลิ่น-ควัน กัญชา กัญชง
เมื่อกัญชา กัญชง ปลูกได้อย่างเสรีในครัวเรือน และไม่มีข้อห้ามเพื่อการสันทนาการในครัวเรือน ทำให้ สธ. ต้องออกประกาศอีกฉบับเพื่อป้องกันนักสูบมาสูบกัญชาตามท้องถนน หรือในพื้นที่สาธารณะ
เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง กำหนดให้การกระทำให้เกิดกลิ่น หรือควันกัญชา กัญชง หรือพืชอื่นใด เป็นเหตุรำคาญ พ.ศ.2565 เมื่อ 14 มิ.ย. มีผลบังคับใช้ในวันรุ่งขึ้น (15 มิ.ย.)
ประกาศฉบับนี้อาศัยอำนาจตามมาตรา 25 (5) แห่ง พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ. 2535 ลงนามโดยนายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สธ. ปฏิบัติราชการแทน รมว.สธ. มีเนื้อหา 4 ข้อ
สาระสำคัญเป็นการควบคุมการใช้กัญชา กัญชง ในทางที่ไม่เหมาะสม เช่น สันทนาการ เนื่องจากควันของพืชดังกล่าวมีอนุภาคขนาดเล็กที่สามารถเข้าสู่ปอดได้ด้วยการหายใจเอาควันเข้าไป ทำให้มีความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วย เช่น โรคปอด หอบหืด หลอดลมอักเสบ จึง "กำหนดให้การกระทำให้เกิดกลิ่น หรือควันกัญชา กัญชง หรือพืชอื่นใด เว้นแต่พืชที่มีกฎหมายอื่นควบคุมแล้ว จนเป็นเหตุให้เสื่อมหรืออาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพของผู้อยู่อาศัยบริเวณใกล้เคียง หรือผู้ที่ต้องประสบกับเหตุนั้น เป็นเหตุรำคาญ ตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข"
ผู้บริหาร สธ. อธิบายเพิ่มเติมว่า โรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยเข้าข่ายเป็นที่สาธารณะ ห้ามก่อให้เกิดควันและกลิ่นอยู่แล้ว นั่นเท่ากับว่ามีการควบคุมการใช้ในสถานศึกษาอยู่แล้ว
สำหรับผู้ก่อเหตุรำคาญ หากได้รับแจ้งจากเจ้าพนักงานให้ปรับปรุงแก้ไข แต่ไม่ยอมดำเนินการ จะมีความผิดตาม พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ. 2535 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 2,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ห้ามใช้กัญชาในเยาวชนต่ำ 20 ปี-หญิงตั้งครรภ์
สธ. ยังเตรียมประกาศใช้ร่างประกาศ สธ. อีกฉบับ เรื่อง สมุนไพรควบคุม (กัญชา) โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 4, 44, 45(3), 45(4) แห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พ.ศ. 2542 กำหนดให้กัญชา หรือสารสกัดกัญชา เป็นสมุนไพรควบคุม ซึ่งปกติจะใช้เพื่ออนุรักษ์สมุนไพรที่กำลังจะสูญหาย และมีราคาแพง เช่น กวาวเครือ ก็เคยใช้กฎหมายนี้
นพ. ยงยศ ธรรมวุฒิ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ชี้แจงเหตุผลในการออกประกาศ สธ. ฉบับใหม่ว่า เพื่อจำกัดการครอบครองช่อดอกกัญชาทั้งระดับบุคคลและวิสาหกิจชุมชน ซึ่งมีรายละเอียดการควบคุมการครอบครองต่างกัน เพื่อป้องกันการเสพหรือใช้เพื่อสันทนาการ
สำหรับกลุ่มคนที่ห้ามครอบครองและใช้ประโยชน์จากกัญชาคือ ผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี, สตรีมีครรภ์ หรือสตรีที่ให้นมบุตร นอกจากนี้ยังห้าม "การใช้ประโยชน์ในที่สาธารณะโดยการสูบ" ด้วย
ล่าสุด (16 มิ.ย.) รมว.สธ. เปิดเผยว่า ได้ลงนามในประกาศฉบับนี้แล้ว และเตรียมประกาศลงราชกิจจานุเบกษาเพื่อมีผลบังคับใช้ต่อไป
กทม. ชิงห้ามขายอาหาร ขนม เครื่องดื่มกัญชาใน รร.
ในระหว่างรอ สธ. งัดประกาศของตัวเองมาควบคุมกัญชา กัญชง ในช่วงสัญญากาศ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้ชิงประกาศให้โรงเรียนในสังกัด กทม. เป็นพื้นที่ "ปลอดกัญชาหรือกัญชง" โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 49 แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 ออกประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง การเฝ้าระวังปัญหาที่เกิดจากการใช้กัญชาหรือกัญชงในนักเรียนโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร มีผลทันทีตั้งแต่ 15 มิ.ย.
ประกาศของผู้ว่าฯ ออกมาเพื่อกำหนดมาตรการป้องกันและเฝ้าระวังปัญหาที่เกิดจากการใช้กัญชาหรือกัญชงในนักเรียนโรงเรียนสังกัด กทม. มีเนื้อหาอยู่ 9 ข้อ ทว่า 3 ข้อที่สำคัญคือ
- ให้โรงเรียนสังกัด กทม. เป็นพื้นที่ "ปลอดกัญชาหรือกัญชง"
- งดจำหน่ายอาหาร ขนม และเครื่องดื่ม ที่มีส่วนผสมของกัญชาหรือกัญชงภายในโรงเรียนสังกัด กทม.
- ห้ามโฆษณาอาหาร ขนม และเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของกัญชาหรือกัญชงภายในโรงเรียนสังกัด กทม.
การใช้อำนาจของ "พ่อเมือง กทม." เกิดขึ้นหลังจากนายชัชชาติได้รับรายงานจากสำนักการแพทย์ กทม. ว่า มีกรณีชายวัย 51 ปีเสียชีวิตจากอาการหัวใจวาย โดยพบว่ามีประวัติเสพกัญชา ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบสาเหตุที่แน่ชัด
สำหรับโรงเรียนในสังกัด กทม. มีทั้งสิ้น 437 แห่ง
กัญชา : สิ่งที่ สธ. ไม่ได้ทำ-ทำแต่คนไม่รู้ ก่อนเปิด “กัญชาเสรี” - บีบีซีไทย
Read More
No comments:
Post a Comment