แม้จะได้ชื่อว่าเป็นเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติ คัดเลือกหนังจากทั่วทุกมุมโลกมาร่วมประกวดและจัดฉาย แต่เทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ในแต่ละปีก็ดูจะมีเจตนาที่ให้ความสำคัญกับบางประเทศสลับกันไป ซึ่งแน่นอน เทศกาลที่ได้ชื่อว่ามีบทบาทในด้านการเมืองระหว่างประเทศอย่างเทศกาลคานส์ ย่อมไม่นิ่งเฉยต่อความขัดแย้งและการก่อสงครามในหรือระหว่างประเทศต่าง ๆ ซึ่งคานส์ได้แสดงท่าทีต่อต้านตลอดเวลา
ในช่วงที่สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครนที่ดำเนินมาอย่างยาวนานหลายเดือนนี้ เทศกาลคานส์จึงประกาศตัวไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลของฝ่ายรัสเซียที่ใช้กำลังทหารเข้าโจมตียูเครนอย่างชัดเจน และได้แบน ไม่อนุญาตให้ผู้สื่อข่าวจากประเทศรัสเซียที่สังกัดสำนักสื่อที่มีท่าทีเข้าข้างรัฐบาลเดินทางเข้ามาทำข่าวที่เทศกาลในปีนี้อีกด้วย
หนึ่งในเซอร์ไพรส์สำคัญในพิธีเปิดงานเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ครั้งที่ 75 ประจำปี 2022 เมื่อค่ำคืนวันที่ 17 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ก็คือทางเทศกาลได้ต่อสัญญาณวีดิโอไลฟ์สดจากกรุงเคียฟ เชิญให้ประธานาธิบดียูเครนคนปัจจุบัน Volodymyr Zelensky ซึ่งเคยมีอาชีพเป็นนักแสดงมาก่อน มาร่วมปาฐกถาสั้น ๆ ในการเปิดงานเทศกาลประจำปีนี้ด้วย สร้างความตื่นเต้นตกใจผสมดีใจต่อผู้เข้าร่วมงานที่แน่นขนัดโรงภาพยนตร์ Grand Theatre Lumiere
CREDIT : CHRISTOPHE SIMON / AFP
โดยประธานาธิบดี Volodymyr Zelensky ได้กล่าวกับผู้ชมที่คานส์ว่า ภาพยนตร์จะต้องไม่นิ่งเฉยต่อการก่อสงครามและความรุนแรงต่าง ๆ พร้อมได้ยกตัวอย่างภาพยนตร์ตลกเรื่อง The Great Dictator (1940) ของ Charles Chaplin ที่เสียดสีและบริภาษการใช้อำนาจเผด็จการของผู้นำพรรคนาซีเยอรมัน Adolf Hitler
โดยแม้ว่าภาพยนตร์เรื่องนี้จะไม่สามารถ ‘ล้ม’ Hitler ได้ แต่มันก็เป็นกระบอกเสียงสำคัญให้สาธารณชนได้ตระหนักถึงภยันตรายในการปกครองรูปแบบนี้ อันจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีได้ต่อไป ภาพยนตร์ในฐานะสื่อสารมวลชนจึงยังเป็นสิ่งสำคัญจำเป็นที่คนทำหนังจะนิ่งดูดายไม่ได้ และขอให้ช่วยกันลุกขึ้นมาใช้สื่อภาพยนตร์ในการประกาศให้โลกรู้ว่าเกิดความไม่เป็นธรรมใดในสังคมระดับสากลที่ทุกคนควรจะต้องหันมาสร้างความเปลี่ยนแปลง
ซึ่งผู้อำนวยการคัดเลือกภาพยนตร์ร่วมฉายในเทศกาลคานส์ คุณ Thierry Fremaux ก็ได้สนองตอบข้อเรียกร้องที่ว่านี้ ด้วยการเพิ่มรายชื่อหนังเรื่องสุดท้ายร่วมอยู่ในโปรแกรมสาย Special Screening ก่อนเทศกาลจะเริ่มต้นเพียงหนึ่งสัปดาห์ นั่นคือสารคดีภาคต่อชื่อ Mariupolis 2 ของผู้กำกับลิทัวเนีย Mantas Kvedaravicius ผู้ล่วงลับขณะลงพื้นที่ถ่ายทำสารคดีตีแผ่สภาพบ้านเมืองมาริอูโพลที่พังยับเยินของชาวยูเครนในระหว่างสงครามเมื่อวันที่ 2 เมษายน ค.ศ. 2022 ที่ผ่านมานี้เอง
Mariupolis 2 เป็นสารคดีภาคต่อจาก Mariupolis ซึ่งเคยฉายเปิดตัวในสาย PANORAMA เทศกาลภาพยนตร์เมืองเบอร์ลินเมื่อปี 2016 โดยผู้กำกับ Mantas Kvedaravicius ได้เดินทางไปยังเมืองมาริอูโพล ทางตะวันออกของประเทศยูเครน เพื่อบันทึกภาพชีวิตอันสงบง่ายของชาวเมืองท่ามกลางความหวาดกลัวต่อความขัดแย้งระหว่างกลุ่มกบฏโปรรัสเซียและรัฐบาลของยูเครนเองที่ก่อตัวขึ้น
ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเยาวชนที่ฝึกซ้อมทั้งดนตรีและการแสดงเพื่อเฉลิมฉลองวันแห่งชัยชนะ 9 พฤษภาคม ค.ศ. 2015 ด้วยความวิตกกังวลว่าจะถูกยกเลิกการแสดงจากทางการหรือไม่ ไปจนถึงการติดตามการทำงานของนักข่าวสาวมือใหม่ในการรายงานข่าวสถานการณ์ระเบิดรุนแรงในหลายพื้นที่ ไม่เว้นแม้แต่เขตน่านน้ำหาปลาของชาวเมืองอย่างใกล้ชิด
[สามารถชมสารคดีเรื่องนี้ในรูปแบบออนไลน์ได้ทาง https://ift.tt/3oYZTds โดยชำระค่าตั๋วเพื่อสมทบทุนสนับสนุนกลุ่มคนทำหนังชาวยูเครน]
แต่หลังจากที่รัสเซียเริ่มบุกทำลายเมืองใหญ่หลายแห่งยูเครน จนเมืองมาริอูโพลโดนกระหน่ำโจมตีไปด้วย ผู้กำกับ Mantas Kvedaravicius จึงเดินทางไปยังเมืองนี้อีกครั้ง เพื่อถ่ายทำสารคดีภาคสองบันทึกภาพให้ผู้ชมได้เห็นกับตาว่าปัจจุบันเมืองมาริอูโพลที่เคยสงบสุขนั้น โดนอาวุธหนักของฝ่ายรัสเซียทำลายจนพังยับเยินขนาดไหน
แต่ยังถ่ายไม่ทันจะเสร็จดี ผู้กำกับ Mantas Kvedaravicius ก็โดนกองทัพรัสเซียสังหารจนจบชีวิตไปเสียก่อน คู่หมั้นสาว Hanna Bilobrova และมือตัดต่อ Dounia Sichov จึงได้ช่วยกันรวบรวม footage ต่าง ๆ ที่ Mantas Kvedaravicius ถ่ายไว้ มาเรียบเรียงเป็นสารคดีตามแผนเดิมที่ผู้กำกับได้วาดฝัน จนได้เป็นสารคดีความยาว 112 นาที เรื่อง Mariupolis 2 นี้ และได้รับเชิญให้ร่วมฉายในเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ในนาทีสุดท้าย
ผู้กำกับ Mantas Kvedaravicius ผู้ล่วงลับ
Mariupolis 2 น่าจะเป็นหนังที่ชวนให้รู้สึกหดหู่มากที่สุดแล้วในเทศกาลคานส์ประจำปีนี้ เนื่องจากตลอดความยาว 112 นาที ผู้ชมจะได้เห็นสภาพบ้านเมืองที่ ‘พังยับเยิน’ ไม่มีชิ้นดีของเมืองมาริอูโพล จนผู้คนที่รอดชีวิตไม่สามารถอยู่อาศัยได้ต่อไป พวกเขาต้องร่วมกลุ่มกันอพยพไปอยู่ในอาคารที่ยังพอจะมีสภาพดี หาเก็บข้าวของอุปกรณ์ที่ยังพอใช้งานได้จากแหล่งต่าง ๆ และหาเศษอาหารมาต้มซุปทานกันเพื่อประทังชีวิต
ชาวเมืองมาริอูโพลที่ปรากฏในสารคดีเรื่องนี้ล้วนมีใบหน้าที่นิ่งเฉยเหมือนไม่รู้ร้อนรู้หนาวอะไร พวกเขาไม่รู้อีกแล้วว่าจะต้องทำอย่างไรเพื่อให้สงครามยุติ และพวกเขาจะกลับมาฟื้นฟูบ้านเมืองให้อาศัยอยู่ได้ดังเดิมได้อย่างไร ในโลก dystopia แห่งความเป็นจริงที่ชวนให้สิ้นหวังในระดับที่ไม่รู้ว่าจะเสียแรงร้องไห้ฟูมฟายไปเพื่อการใด
สิ่งที่น่าตกใจที่สุดในสารคดีเรื่องนี้คือ ทุกช่วงที่มีการแช่ภาพยาว ๆ เราจะได้ยินเสียงระเบิดดังจากสารทิศต่าง ๆ ทุก ๆ 1 นาที คือมีการโจมตีกันอย่างต่อเนื่องจริง ๆ จนกลายเป็นประสบการณ์สุดหลอนของการชมภาพยนตร์สารคดีจากพื้นที่จริงที่เราจะได้ยิน motif เป็นเสียงระเบิดก้องดังอยู่ทุกนาทีตลอดความยาว 1 ชั่วโมง 52 นาทีของหนัง ซึ่งเสียงระเบิดครั้งต่อไป อาจจะเป็นเสียงระเบิดที่เกิดขึ้น ณ สถานที่ที่ผู้กำกับกำลังถ่ายบันทึกเหตุการณ์อยู่ได้ทุกเมื่อ!
การฉายหนังเรื่องนี้ในเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์จึงเป็นไปอย่างโศกสลด โดยผู้ชมพร้อมใจกันลุกขึ้นยืนไว้อาลัยผู้กำกับที่ยอมเสี่ยงอันตรายจนตัวตายเพียงเพื่อฉายภาพความจริงอันแสนหดหู่นี้ให้โลกได้รับรู้
แต่ถึงแม้ว่าเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์จะแสดงตนเป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐบาลรัสเซียอย่างชัดเจน งานเทศกาลในปีนี้ก็ไม่ได้แบนคนทำหนังจากประเทศรัสเซียทั้งหมด โดยยังได้คัดเลือกผลงานใหม่เรื่อง Tchaikovsky’s Wife ของผู้กำกับรัสเซีย Kirill Serebennikov ที่เป็นปฏิปักษ์กับรัฐบาลเนื่องจากถูกกลั่นแกล้งในคดียักยอกฉ้อฉลเงินสนับสนุนการจัดแสดงละครจากรัฐบาลรัสเซียจนไม่สามารถเดินทางมาร่วมเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ได้เมื่อปี ค.ศ. 2018 และ 2021 แม้ว่าจะมีหนังเข้าประกวด ให้เข้าร่วมชิงรางวัลปาล์มทองคำอีกครั้ง
โดยในปีนี้ Kirill Serebrennikov ก็สามารถเดินทางมาร่วมเดินพรมแดงในงานกาล่าเปิดตัวหนังเรื่องนี้ได้อย่างเต็มภาคภูมิ เนื่องจากเขาได้ลี้ภัยจากรัสเซียไปอยู่ที่เยอรมนีแล้ว นับเป็นครั้งแรกที่ Kirill Serebrennikov ได้มาร่วมงานในเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ในฐานะผู้กำกับหนังสายประกวด
นอกจาก Tchaikovsky’s Wife จากรัสเซียในสายประกวดหลักแล้ว ทางเทศกาลยังได้คัดเลือกหนังจากประเทศยูเครนเรื่อง Butterfly Vision ของผู้กำกับ Maksim Nakonechnyi ร่วมประกวดในสาย Un Certain Regard อีกด้วย
โดยหนังเรื่องนี้ได้เล่าเหตุการณ์ร่วมสมัยของ Lilia ทหารหญิงหน่วยบินลาดตระเวนหญิงชาวยูเครนที่ถูกกองทัพรัสเซียจับขังคุกที่เมืองดอนบาส และเพิ่งจะได้รับการปล่อยตัวกลับบ้านจากการแลกนักโทษจองจำกัน
หนังติดตามการเยียวยารักษาบาดแผลจากสงครามทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ ที่แม้ว่าบาดแผลบนร่างกายของเธอจะดูน่าหวาดกลัวเพียงใด แต่สภาพจิตใจภายในของเธอดูจะบอบช้ำเสียมากกว่า
หนังแสดงให้เห็นเลยว่า ทหารหญิงอย่าง Lilia จะต้องมีความเข้มแข็งหนักแน่นมั่นคงเพียงใด จึงจะสามารถข้ามผ่านฝันร้ายทางการเมืองระหว่างประเทศครั้งนี้ได้ โดยเฉพาะเมื่อเธอเป็นฝ่ายประสบความเจ็บปวดโดยตรง
นอกเหนือจาก ยูเครน แล้ว อีกประเทศที่ได้รับการต้อนรับจากเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ รวมถึงคนทำหนังชาติอื่น ๆ มากที่สุดในปีนี้ก็คงจะเป็น เกาหลีใต้ ที่ไม่เพียงแต่จะมีภาพยนตร์จากเกาหลีใต้แท้ ๆ ร่วมฉายในสาย Official Selection ถึงสองเรื่องด้วยกัน คือ Decision to Leave ของผู้กำกับ Park Chan-wook ในสายประกวดหลักและสุดท้ายก็คว้ารางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยมไปครองได้
และเรื่อง Hunt ในสาย Midnight Screening ของนักแสดงหนุ่ม Lee Jung-jae ที่ผันตัวมาเป็นผู้กำกับเป็นครั้งแรก เล่าเรื่องราวการตามหาตัวตนของสายลับจากเกาหลีเหนือที่แอบเนียนมาเข้าร่วมในทีมสายสืบจากเกาหลีใต้ โดยสมาชิกในทีมจะต้องสืบหาให้ได้ว่าหนอนบ่อนไส้นี้คือใคร จนแต่ละฝ่ายไม่สามารถไว้วางใจใครได้เลย ก่อนที่ความลับทั้งหมดจะถูกเปิดเผย
แต่ยังมีปรากฏการณ์ที่น่าสนใจเมื่อผู้กำกับชาติอื่น ๆ สนใจไปทำหนังกันที่เกาหลีใต้ด้วยอีกสองราย คือ ผู้กำกับญี่ปุ่น Hirokazu Kore-eda ที่หันไปทำหนังเกี่ยวกับแก๊งลักพาเด็กทารกมาขายแก่พ่อแม่บุญธรรมที่ไม่สามารถรับอุปการะโดยวิธีปกติได้ ชื่อ Broker โดยใช้นักแสดงเกาหลีใต้และพูดภาษาเกาหลีทั้งหมด เข้าร่วมฉายในสายประกวดหลัก
และ ผู้กำกับฝรั่งเศสเชื้อสายกัมพูชา Davy Chou ที่ทำหนังเรื่อง Return to Seoul เกี่ยวกับ Freddie สาวสัญชาติเกาหลีใต้วัย 25 ปี แต่ไปเติบโตในครอบครัวอุปถัมภ์ที่ประเทศฝรั่งเศส ได้เดินทางกลับมายังกรุงโซลเพื่อตามหาบิดาและมารดาทางสายเลือดของตนเอง ได้ร่วมฉายในสาย Un Certain Regard ซึ่งก็แสดงให้เห็นว่า มีผู้กำกับหลาย ๆ ชาติที่เริ่มสนใจเดินทางไปทำหนังที่เกาหลีใต้ ซึ่งดูจะให้การสนับสนุนคนทำหนังที่สนใจเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นในพื้นที่ประเทศนี้กันเป็นอย่างดีเลยทีเดียว
ในส่วนของประเทศไทย น่าเสียดายยิ่งที่ในปี ค.ศ. 2022 ไม่มีภาพยนตร์ไทยร่วมฉายในสายใดของเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์เลยแม้แต่เรื่องเดียว อย่างไรก็ดีประเทศไทยก็ยังคงเป็นที่กล่าวขวัญถึงในหนังหลาย ๆ เรื่อง และยังมีนักแสดงชาวไทยร่วมรับเชิญในบทบาทเล็ก ๆ ของหนังที่ฉายที่เทศกาลคานส์ปีนี้ด้วย
โดยเรื่องที่กล่าวถึงประเทศไทยมากที่สุดก็คือหนังเกาหลีใต้เรื่อง Hunt ของผู้กำกับ Lee Jung-jae ซึ่งหลังจากที่ฝ่ายเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ตีเนียนจัดประชุมเพื่อรวมชาติกัน ณ ประเทศที่สาม โดยมีจุดประสงค์เพื่อแอบลอบสังหารประธานาธิบดีของอีกฝ่าย ทั้งสองประเทศก็ได้เลือก กรุงเทพฯ ประเทศไทยเป็นสถานที่จัดประชุม!
เราจึงได้เห็นตึกอาคารที่ออกแบบในลักษณะไทยประยุกต์ ตกแต่งด้วยช่อฟ้าใบระกา มีอนุสาวรีย์ที่แลดูคล้ายอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ และรถโดยสารขนส่งสายเหนือสายใต้ ร่วมปรากฏอยู่ในฉากการต่อสู้ด้วยระเบิดและอาวุธปืนอย่างเมามัน แม้ว่าผู้กำกับจะจำเป็นต้องถ่ายทำฉากเหล่านั้นในเกาหลีใต้ เนื่องด้วยสถานการณ์โควิด-19 ก็ตามที
ส่วนหนังฝรั่งเศสเรื่อง Return to Seoul ของผู้กำกับ Davy Chou ก็มีโปรแกรมเมอร์และโปรดิวเซอร์ภาพยนตร์อิสระชาวไทย คุณดรสะรณ โกวิทวณิชชา ซึ่งเคยเดินทางมาร่วมเทศกาลภาพยนตร์คานส์แล้วหลายครั้ง ร่วมรับบทเล็ก ๆ เป็นแขกในบาร์ที่นางเอกของเรื่องได้มาเที่ยวอีกด้วย
ด้านสารคดีเล่าประวัติชีวิตในเส้นทางสายดนตรีของ David Bowie เรื่อง Moonage Daydream ของผู้กำกับ Brett Morgen ในสาย Midnight Screening ก็มีช่วงที่ David Bowie เดินทางมาเยือนประเทศไทยเมื่อ พ.ศ. 2526 ด้วย
นอกจากนี้ ประเทศไทยยังได้รับการกล่าวขวัญถึงว่าเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่ใคร ๆ ก็อยากจะมีโอกาสได้มาเยือน ไม่ว่าจะเป็นหนังสายประกวดเรื่อง Leila’s Brothers ของผู้กำกับอิหร่าน Saeed Roustaee เกี่ยวกับสี่พี่น้องหนุ่ม ๆ ที่กำลังตกอับจากการตกงาน ก็ได้วาดฝันว่าอยากหาเงินให้ได้เยอะ ๆ จะได้เก็บเงินมาเที่ยวประเทศไทย
หรือในหนังประกวดเรื่อง Mother and Son ของผู้กำกับฝรั่งเศส Leonor Serraille ตัวละครคุณแม่ผิวสีที่อพยพจากไอโวรีโคสต์ ทวีปแอฟริกา มายังกรุงปารีส ก็ได้แสดงความห่วงกังวลบุตรชายที่ได้ทำงานเป็นหลักแหล่ง ณ มหาวิทยาลัยรายได้ดี จะหนีไปเที่ยวที่ภูเก็ต ประเทศไทยจนโดนสึนามิซัดไปเสียแล้ว
แสดงให้เห็นว่านักท่องเที่ยวทั่วโลกต่างคอยรอให้โควิด-19 หายสนิทด้วยความคิดถึงประเทศไทย อยากจะใช้เวลาวันหยุดเดินทางมาพักผ่อน ณ ดินแดนแหลมทองนี้กันอย่างเต็มที่แล้ว หลังจากต้องเก็บกักตัวอยู่กับบ้านมายาวนานกว่าสองขวบปี!
ยูเครน เกาหลีใต้ และประเทศไทย ในสายตาคนทำหนังเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ 2022 - กรุงเทพธุรกิจ
Read More
No comments:
Post a Comment