อัปเดตเทรนด์ “ธุรกิจไอศกรีม” ยุคโควิด พร้อมสรุปบันได 4 ขั้นของการทำธุรกิจไอศกรีม รวมถึงธุรกิจ “ไอศกรีมโฮมเมด” ให้ประสบความสำเร็จ และมีโอกาสชิงชิ้นเค้กจากการแข่งขันในตลาดไอศกรีมไทยมูลค่ากว่าหมื่นล้านบาท
ท่ามกลางวิกฤติโควิด-19 หลายธุรกิจหดตัว แต่ "ธุรกิจไอศกรีม" ในไทยกลับยังดำเนินต่อไปได้แถมมีโอกาสเติบโตขึ้นอีกด้วย นั่นไม่ใช่แค่อากาศประเทศไทยร้อนจนต้องการหาอะไรเย็นๆ มารับประทานให้ชื่นใจเท่านั้น
แต่ "ไอศกรีม" หรือ "ไอติม" เป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์ที่มีกลุ่มเป้าหมายเป็นคนทุกวัย และเป็นหนึ่งในความสุขที่เข้ามาเติมเต็มความสุขและประสบการณ์เล็กๆ น้อยๆ ให้ใจฟูในช่วงโรคระบาดที่ทุกคนยังต้องเลี่ยงการเดินทางพบปะกัน
งานสัมมนา “Let’s turn dreams into ice creams: ธุรกิจไอศกรีมไม่ใช่แค่ความฝัน” จัดโดย เต็ดตรา แพ้ค ประเทศไทย ได้เปิดเผยถึงโอกาสในการสร้างแบรนด์และรายได้ในตลาดไอศกรีม ที่สะท้อนว่าเป็นอีกหนึ่งตลาดที่น่าสนใจ
สุภณัฐ รัตนทิพ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดของบริษัทเต็ดตรา แพ้ค (ประเทศไทย) จำกัด และ เพ็ญณี จิรายุวัฒนา เชฟและเจ้าของเพจ Penny The Chef ร่วมให้ข้อมูลเกี่ยวกับภาพรวมธุรกิจและเทรนด์ผู้บริโภคไอศกรีมในปัจจุบัน
ที่ผ่านมาประเทศไทยเป็นประเทศที่ส่งออกไอศกรีมเป็นอันดับหนึ่งของอาเซียน และเป็นอันดับ 4 ของโลก รองจาก อันดับ ยุโรป อเมริกา และอังกฤษ
โดยมูลค่าการตลาดไอศกรีมทั่วโลก ที่มีมูลค่าสูงถึง 3.8 ล้านล้านบาท ซึ่งสถาบันอาหาร (National Food Institute) ได้คาดการณ์ว่าในปี 2570 ตลาดไอศกรีมทั่วโลกจะเติบโตไปถึง 5.5 ล้านล้านบาท ขณะที่ตลาดไอศกรีมในไทยมีมูลค่าตลาดราว 1.2-1.7 หมื่นล้านบาท
- เทรนด์ไอศกรีมยุคโควิด
สิ่งที่น่าสนใจในธุรกิจไอศกรีมคือ ในช่วงโควิดความต้องการไอศกรีมไม่ได้ลดลงไปตามสถานการณ์ เพียงแต่ผู้บริโภคมีพฤติกรรมในการรับประทานไอศกรีมที่เปลี่ยนแปลงไป โดยพฤติกรรมหลักๆ ได้แก่
- มีการวางแผนในการรับประทานไอศกรีมมากขึ้น
แทนที่จะเดินเข้าไปซื้อรับประทานที่ร้าน หรือซื้อแบบพอดีๆ กับการรับประทานหนึ่งครั้ง ก็เปลี่ยนมาเป็นการซื้อเป็นควอท (Quart) หรือซื้อคราวละมากๆ ตุนไว้รับประทานที่บ้าน เพื่อลดการเดินทาง ซึ่งพฤติกรรมนี้ทำให้มีแนวโน้มซื้อไอศกรีมในปริมาณที่มากขึ้นด้วย
- นิยมไอศกรีมขนาดเล็ก หรือพอดีคำ
เพื่อลดการแบ่งหรือสัมผัสร่วมกับผู้อื่น และรับประทานได้ง่ายกว่า
- มองหาประสบการณ์ที่แปลกใหม่
ไอศกรีมก็เหมือนกับธุรกิจอื่นๆ ที่จะต้องคอยเสิร์ฟสิ่งใหม่ เพื่อสร้างประสบการณ์การร่วมใหม่ๆ ให้กับลูกค้า ซึ่งปัจจุบันผู้บริโภคเริ่มมองหาประสบการณ์ใหม่ จากการรับประทานไอศกรีม เช่นคิดค้นรสชาติแปลกใหม่ รสชาติที่ไม่เคยมีมาก่อน อาทิ ไอศกรีมซีอิ้วดำ ไอศกรีมรสพวงมาลัย ไอศกรีมรสปลาช่อน เป็นต้น ซึ่งไอเดียต่างๆ เหล่านี้เริ่มทำให้ตลาดไอศกรีมโฮมเมดค่อยๆ ได้รับความนิยมจากคนรักไอศกรีมมากขึ้นได้
- ไอศกรีมที่ไม่ทำลายสุขภาพ
เทรนด์สุขภาพมาแรงแม้แต่ธุรกิจไอศกรีมก็หนีไม่พ้น สังเกตได้ว่าในช่วงที่ผ่านมา หลายแบรนด์เริ่มปรับตัวเจาะตลาดคนรักสุขภาพ แตกไลน์สินค้าที่ใช้วัตถุดิบจากพืช หรือ Plant based รวมไปถึงการลดปริมาณไขมัน ลดน้ำตาล เช่น ไอศกรีมผัก ผลไม้ ที่ทำให้คนรักสุขภาพมีทางเลือกมากขึ้น
- บันได 4 ขั้น ปั้นธุรกิจไอศกรีมให้ประสบความสำเร็จ
แม้ไอศกรีมจะมีดีมานด์อยู่ตลอดเวลา แต่ผู้เล่นในตลาดไอศกรีมก็มีอยู่ไม่น้อย ซึ่งแน่นอนว่าไม่ใช่ทุกแบรนด์จะประสบความสำเร็จ
ทว่าปัจจัยที่ทำให้แบรนด์ไอศกรีมเข้าไปนั่งอยู่ในใจผู้บริโภคและเกิดการซื้อซ้ำจนเติบโตได้ท่ามกลางคู่แข่งมหาศาล มี 4 เรื่องหลักที่ต้องให้ความสำคัญ
1. รสชาติ
คนที่รับประทานไอศกรีม ไม่ได้ต้องการความอิ่ม แต่ต้องการประสบการณ์ที่ดีจากไอศกรีม ดังนั้นธุรกิจไอศกรีมจะไปต่อได้ จะต้องมีทั้งความอร่อย ถูกปากกลุ่มเป้าหมาย มีรสชาติโดดเด่นหรือมีเอกลักษณ์ของตัวเอง และที่สำคัญที่สุดคือเนื้อไอศกรีมมีรสสัมผัสที่ดี ทำให้อยากรับประทานซ้ำๆ หรืออยากบอกต่อและแบ่งปันให้คนอื่นด้วย
2. มีกระบวนการกระจายสินค้าที่ดี
สิ่งที่คนทำธุรกิจไอศกรีมไม่ว่าจะรายเล็กรายใหญ่ต้องให้ความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ารสชาติที่ดี คือระบบการจัดส่ง และการจัดเก็บทั้งต้นทางและปลายทางที่ต้องมีอุณหภูมิเย็นพอและเหมาะสมกับการรักษาคุณภาพและรูปร่างของไอศกรีมให้ถึงมือลูกค้าได้อย่างสมบูรณ์
3. ใช้นวัตกรรมที่เหมาะสม
เพนพอยต์หลักของคนทำธุรกิจไอศกรีม คือการควบคุมปัจจัยต่างๆ ในการผลิตไอศกรีมให้มีประสิทธิภาพ เช่น ผลึกน้ำแข็งการกระจายอากาศ อุณหภูมิ ฯลฯ ที่หากเลือกใช้นวัตกรรมที่เหมาะสมก็จะช่วยควบคุมคุณภาพและต้นทุนในการผลิตได้ดีรวมถึงทำให้สามารถสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ได้มากขึ้นด้วย
4. การตลาดดี
นอกจากรสชาติถูกใจ การนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่มีเรื่องราวน่าสนใจ จะทำให้เกิดการซื้อซ้ำ สินค้าขายตัวเองได้และไม่จมหายไปกับตลาดที่มีการแข่งขันสูง
ปัจจุบันสำหรับผู้ประกอบการธุรกิจไอศกรีมรายย่อย หรือแม้แต่ไอศกรีมโฮมเมดที่อยากเติบโตขึ้นมาในระดับอุตสาหกรรม มีบริการที่ช่วยให้สามารถควบคุมการผลิตได้ง่ายขึ้น อย่าง เต็ดตรา แพ้ค หนึ่งในผู้ให้บริการผลิตไอศกรีมที่อยู่เบื้องหลังธุรกิจไอศกรีมหลายประเทศทั่วโลก ที่มีบริการนำเสนอโซลูชั่นครบววงจรในอุตสาหกรรมการผลิตไอศกรีมตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายทาง ทั้งเครื่องจักรผลิตไอศกรีม เครื่องขึ้นรูปไอศกรีม ไอเดียการผลิต บริการทดสอบผลิตภัณฑ์ก่อนผลิต รวมไปถึงซัพพลายเออร์วัตถุดิบ ฯลฯ
ซึ่งเป็นอีกหนึ่งตัวช่วยให้ธุรกิจไอศกรีมในฝันของผู้ประกอบการกลายเป็นจริงได้ไม่ยากจนเกินไป ท่ามกลางตลาดไอศกรีมที่ยังมีโอกาสทางธุรกิจซ่อนอยู่อีกมากแม้ในสถานการณ์โรคระบาดเช่นนี้
อัปเดตเทรนด์ "ธุรกิจไอศกรีม" ปี 2022 ทำอย่างไรให้ประสบความสำเร็จ ? - กรุงเทพธุรกิจ
Read More
No comments:
Post a Comment