ช่วงหลายปีที่ผ่านมาธุรกิจเฮลท์แคร์ในประเทศไทย ได้ก้าวขึ้นมาเป็นอีกหนึ่งกิจการดาวรุ่ง จากปัจจัยบวกหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นการเข้าสู่สังคมสูงวัย ไปจนถึงภาครัฐผลักดันเป้าเมดิคอลฮับ (medical hub) หวังปั้นไทยเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ แต่ทว่าการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่เกิดขึ้น ได้สร้างความท้าทายจนอาจเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญธุรกิจเฮลท์แคร์ประเทศไทย
นพ.ธนาธิป ศุภประดิษฐ์ รองประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ THG เชนโรงพยาบาลเอกชนรายใหญ่ กล่าวในงานสัมมนา ในหัวข้อ “ธุรกิจ-สังคม สร้างภูมิคุ้มกัน ฝ่าภัยโควิด” ที่จัดโดยหนังสือพิมพ์ “ประชาชาติธุรกิจ”
โควิดจุดประกาย “คิดเร็วทำเร็ว”
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร THG เริ่มฉายภาพธุรกิจเฮลท์แคร์จากนี้ไปให้ฟังว่า เครือธนบุรีในฐานะด่านหน้าและอยู่ในวงการมาร่วม 46 ปี มีหลัก code of conduct หรือจริยธรรมพลเมือง หรือแนวปฏิบัติ ที่กลุ่มผู้ก่อตั้งได้ปลูกฝังกันมา ให้ใช้ทั้งในภาวะปกติและภาวะฉุกเฉิน โดยต้องปฏิบัติหน้าที่อย่างซื่อสัตย์และจริงใจ โดยในช่วงเกิดสถานการณ์โควิด บริษัทได้จัดตั้ง รพ.สนาม 3 แห่ง ได้แก่ รพ.สนาม มทบ.11 จำนวน 494 เตียง, รพ.ราชพิพัฒน์ 2 จำนวน 168 เตียง และ รพ.ผู้สูงอายุบางขุนเทียน จำนวน 177 เตียง และฮอสพิเทลอีก 10 แห่ง รวมทั้งสิ้นกว่า 4,000 เตียง เพื่อรองรับผู้ป่วยกลุ่มสีเขียว เหลือง และแดง
ควบคู่กับการดึงบุคลากรวิชาชีพอื่น เช่น สจ๊วต แอร์โฮสเตส แพทย์ พยาบาล จากคลินิกความงาม ฯลฯ ที่ได้รับผลกระทบเข้ามาช่วยทำงานใน รพ.สนาม ที่รองรับผู้ป่วยโควิดโดยเฉพาะ ถือเป็น code of conduct รูปแบบหนึ่ง และเป็นปรากฏการณ์ของพลเมืองที่ออกมาช่วยทำงานด่านหน้า
โควิด-19 เป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้เราต้องคิดเร็วขึ้น อย่างกรณีของ รพ.สนาม หรือไอซียูสนาม ที่ใช้เวลาทำและคิดนิดเดียวเพียง 10-15 วัน เพราะสิ่งสำคัญ คือ เวลา หากเช้าแม้วันเดียวเท่ากับคนไทยต้องตายไป 300 คน แต่หากสามารถทำได้เร็วก็จะสามารถเซฟงบประมาณได้มหาศาล และช่วยรักษาชีวิตคนได้อีกมาก นอกจากนี้ ในเวลาที่เร็วขึ้นยังทำให้ได้เรียนรู้และได้โนว์ฮาวใหม่ ๆ กลับมาด้วยเสมอ
“วัคซีน” ภูมิคุ้มกันหลัก
พร้อมกันนี้ คีย์แมน รพ.ธนบุรี ยังระบุถึงทางรอดประเทศไทย จากภาวะเช่นนี้ด้วยว่า หลัก ๆ จะต้องเสริมสร้างภูมิคุ้มกันทั้งในแง่ประชาชน คือ คนไทยต้องเข้าถึงการฉีดวัคซีนป้องกันโควิดให้เร็วที่สุด ฟื้นความเชื่อมั่นภายในประเทศ ส่วนองค์กรก็ต้องเร่งเพิ่มขีดความสามารถเพื่อแข่งขันต่อให้ได้ในสภาวะที่เศรษฐกิจจะตกต่ำไปอีก 3-4 ปี ซึ่งก่อนหน้านี้ได้มีการคาดการณ์กันว่าโควิดจะทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจ หรือจีดีพีโลกหายไปกว่า 10% จากปัจจัยในเรื่องของระยะห่างทางสังคม
ก่อนหน้านี้เทรนด์ผู้บริโภคหรือประชาชนทั่วไปหันมาเอาใจใส่ดูแลสุขภาพมากขึ้น แต่หลังจากวันนี้ไปคนจะ concern สุขภาพแน่ ๆ แต่มันทั้งกล้า ๆ กลัว ๆ ระยะห่าง 1.5 เมตรที่หายไปจะเกิดธุรกิจใหม่ ๆ แต่ธุรกิจบางประเภทก็จะหายไป เช่น ธุรกิจกลางคืนตอนนี้หายไปเลย แต่เดี๋ยวก็จะกลับมาได้ แต่กลับมาในรูปแบบใดยังไม่รู้ ดังนั้นในฐานะผู้ประกอบการควรจะปรับตัวด้วยการหานวัตกรรมใหม่ ระบบการทำงานใหม่ โปรดักต์ใหม่ เซอร์วิสใหม่ ที่ทำให้ลูกค้า หรือผู้ที่เข้ามาใช้บริการรู้สึกว่าปลอดภัย ไม่ห่างเหิน
อย่างไรก็ดี ในระยะห่างที่หายไป จำเป็นต้องมีบางสิ่งเข้ามาตอบโจทย์ เพื่อทดแทนช่องว่างตรงกลางนี้ ผ่านดิจิทัล โดยอนาคตธุรกิจทั่วไปและแม้แต่เฮลท์แคร์อาจจะต้องมีบริการใหม่ ๆ หรือนำดิจิทัลแพลตฟอร์มมาใช้มากขึ้น
“เฮลท์แคร์” เปลี่ยนทิศ
คีย์แมน รพ.ธนบุรี ย้ำว่า สำหรับธุรกิจโรงพยาบาลเอง โดยส่วนตัวเชื่อว่าจะต้องรีเซตระบบใหม่ ด้วยการนำเอาเรื่องดิจิทัลมาใช้มากขึ้น เพื่อสร้างความสะดวกสบายให้กับผู้ป่วยมากกว่าเดิม ขณะเดียวกันก็จะเป็นการช่วยตอบโจทย์ในเรื่องของความกังวลของผู้ป่วยที่ไม่อยากมา รพ. หรือไม่ต้องการใช้เวลาใน รพ.นาน สำหรับโรคง่าย ต้องลดขั้นตอนบางประการเพื่อให้ผู้ป่วยเข้าถึงหมอได้ง่ายขึ้น ภายใต้ความปลอดภัยที่สูงขึ้น
ต่อจากนี้ไปธุรกิจเฮลท์แคร์จะไม่เหมือนเดิมแล้ว ต้องปรับหลายอย่าง โดยเฉพาะส่วนที่เป็นบริการด่านหน้า เนื่องจากขณะนี้คนที่อยากมา รพ. ส่วนมากจะเป็นกลุ่มคนที่ป่วยจริง ๆ แต่กลุ่มคนที่ก้ำกึ่ง ไม่แน่ชัดว่าป่วยจริงหรือไม่ อาจจะไม่มา รพ. ซึ่งคนกลุ่มนี้มีจำนวนค่อนข้างสูง ฉะนั้น จึงต้องตอบโจทย์กลุ่มนี้ให้ได้ อย่างที่บอก เรื่องของดิจิทัลต้องมา
ขณะเดียวกันก็ต้องมีการ reprocess ใหม่ คือ รั้วต้องต่ำลงสำหรับโรคง่าย โรคยากต้องเข้มแข็งขึ้นด้วย มาตรการความปลอดภัย ต้องทำทั้ง 2 ขา ให้เร็วและสะดวกขึ้น ของยากอยู่แล้วต้องดีขึ้น เข้มแข็งขึ้น เพราะตอนนี้มีเรื่องของโรคระบาดเข้ามาเป็นอีกตัวแปรสำคัญ
ธนบุรีเจาะคนไข้โพสต์โควิด
นพ.ธนาธิปกล่าวต่อไปว่า สำหรับเป้าประเทศไทยในการขึ้นเป็นเมดิคอลฮับ เบื้องต้นยังมีความเป็นไปได้ แต่จะกลับมาจุดเดิมในตอนไหนยังตอบไม่ได้ แต่ทั้งนี้ โดยปกติการท่องเที่ยวในไทยจะแบ่งเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มท่องเที่ยวแบบแอดเวนเจอร์ ส่วนใหญ่มักเป็นวัยหนุ่มสาว ส่วนอีกกลุ่มที่เข้ามาเพื่อรักษาโรคยากเฉพาะทาง เช่น มะเร็ง หัวใจ เป็นต้น
ทั้งนี้ สิ่งที่ประเทศไทยยังขาด คือ พื้นที่ของผู้ที่อยู่ในช่องว่างตรงกลางระหว่าง 2 กลุ่มข้างต้น หรืออาจจะเรียกว่าเป็นกลุ่มเติมพลัง ส่วนมากจะเป็นผู้เปราะบางทางร่างกาย อาทิ ผู้สูงอายุ แต่ต้องการจะท่องเที่ยวอย่างปลอดภัยเพื่อฟื้นฟูสุขภาพบางประการซึ่งกลุ่มนี้ยังไม่เติบโตมากนัก
นอกจากนี้ นพ.ธนาธิปยังมองไปข้างหน้ายุคโพสต์โควิด (post COVID-19) ว่า ในระยะ 2-3 ปีแรกหลังจากที่สถานการณ์โควิดคลี่คลายลง คนจะมีความเครียดสูงขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุที่เคยป่วยเป็นโควิดไปแล้วจะมีผลมาก เพราะต้องนอนรับการรักษาตัวใน รพ.เป็นเวลานาน
สำหรับเครือธนบุรีเอง ที่ผ่านมาได้มีการลงทุนตั้งโครงการจิณณ์ เวลบีอิ้ง เคาน์ตี้ ขึ้นมาสำหรับรองรับกลุ่มเมดิคอลทัวริซึ่มที่เน้นไปทางเติมพลัง ต้องการฟื้นฟูร่างกายในรีสอร์ต ผ่านการรักษาในลักษณะบำบัดให้ความรู้สึกเหมือนทั้งรักษาและเที่ยวพักผ่อน
พร้อมกันนี้ นพ.ธนาธิปยังกล่าวถึงการเตรียมเพื่อรับมือในอนาคตในตอนท้ายว่า “ทุกอย่างมันมีวาระของมัน มีโรคระบาด เดี๋ยวมันก็หมด เสร็จแล้วต้องทำอย่างไร เราต้องเรียกความเชื่อมั่น และในตัววิทยาศาสตร์เทคโนโลยีเรื่องวัคซีน ดิจิทัลก็ต้องทำไป ตอนนี้อาจเป็นช่วงรีเซตธุรกิจบริการทางการแพทย์ อนาคตไทยอาจจะไปยืนอยู่ที่เลเวลใหม่ก็ได้ เมดิคอลทัวริซึ่ม กลุ่มหนัก ๆ บินมารักษาโรคเฉพาะทางยังมีอยู่ กลุ่มเบิร์นพลัง ชอบการผจญภัย อาจลดน้อยลงหน่อย ยุคโพสต์โควิด หากร่วมมือกันในหลายภาคส่วนทำพื้นที่สำหรับเจาะกลุ่มเติมพลัง เชื่อว่าจะเป็นทาร์เก็ตใหม่ขนาดใหญ่ของเมดิคอลทัวริซึ่มของประเทศได้”
นพ.ธนาธิป ศุภประดิษฐ์ "คิดเร็วทำเร็ว" กุญแจสู้โควิด THG - ประชาชาติธุรกิจ
Read More
No comments:
Post a Comment