ชีพจรเศรษฐกิจ นงนุช สิงหเดชะ
จีนก็เช่นเดียวกับประเทศกำลังพัฒนาขนาดใหญ่อื่น ๆ นั่นก็คือเมื่อเศรษฐกิจบูม แรงงานจากชนบทและจากเมืองเล็ก ๆ ชั้นนอก มักหลั่งไหลเข้ามาหางานทำในเมืองใหญ่ที่เศรษฐกิจคึกคัก แต่เมื่อเวลาผ่านไปจะเกิดปัญหาตามมาคือเมืองเกิดความแออัดและมีปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ระหว่างเมืองใหญ่กับเมืองเล็กและชนบท
ทำให้ภาครัฐพยายามหาทางกระจายความเจริญไปยังพื้นที่อื่น ๆ เพื่อลดความยากจนและลดการหลั่งไหลเข้าเมืองใหญ่ ด้วยการทำให้ส่วนต่าง ๆ ของจีนมีความเป็นเมืองมากขึ้น
ปัจจัยหลายอย่างทั้งนโยบายภาครัฐ ค่าครองชีพในเมืองที่สูง และล่าสุดการระบาดของโควิด-19 ซึ่งทำให้เศรษฐกิจดิจิทัลบูมมากกว่าเดิม ส่งผลให้การหลั่งไหลเข้าเมืองของแรงงานลดลง
จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติจีน พบว่านับจากโควิด-19 ระบาดเมื่อปีที่แล้ว ชาวจีนนับล้านคนไม่ได้อพยพกลับเข้าไปทำงานในเมือง โดย ณ สิ้นเดือนมีนาคม มีคนงานกลับเข้าไปทำงานในเมืองน้อยลง 2.46 ล้านคน เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2019 ถือว่าเป็นทิศทางตรงข้ามกับหลายสิบปีที่ผ่านมา
“ตัน หวัง” หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของหั่งเส็ง ไชน่า ในเซี่ยงไฮ้ ระบุว่า ที่จริงแล้วแรงงานชะลอการเข้าเมืองตั้งแต่ก่อนโควิด-19 ระบาด แต่พอปีที่แล้วซึ่งมีการระบาดของโควิด-19 การอพยพของแรงงานได้ลดลงเป็นครั้งแรก คาดว่าสภาพเช่นนี้จะเร่งตัวขึ้นในปีต่อ ๆ ไป ส่วนหนึ่งเป็นเพราะไม่สามารถสู้กับค่าครองชีพในเมืองและไม่สามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้
อย่างไรก็ตาม คิดว่าปัจจัยใหญ่ที่สุดน่าจะเป็นเพราะแรงงานเหล่านี้อายุมากขึ้น
โดยช่วง 12 ปีที่ผ่านมา แรงงานอพยพซึ่งมีอายุเกิน 50 ปี มีสัดส่วนเพิ่มเป็น 26% หรือเพิ่มกว่าเท่าตัว ทำให้แทนที่แรงงานเหล่านี้จะกลับเข้าไปทำงานเมืองใหญ่ เช่น ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ ก็เลือกทำงานใกล้บ้านภายในมณฑลของตัวเอง
“ระบบหูโข่ว” ซึ่งเป็นระบบที่กำหนดให้ผู้มีทะเบียนบ้านในเมืองนั้น ๆ เท่านั้น มีสิทธิได้รับสวัสดิการจากรัฐ เช่น การรักษาพยาบาล การศึกษา รวมทั้งสามารถซื้ออสังหาริมทรัพย์ ซึ่งระบบนี้มีจุดประสงค์เพื่อยับยั้งไม่ให้แรงงานต่างถิ่นอพยพเข้าไปแย่งใช้ทรัพยากรของเมือง เป็นปัจจัยหนึ่งที่กดดันแรงงานต่างถิ่น
นโยบายการทำให้เป็นเมืองของรัฐบาล ซึ่งมีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในชนบท เป็นแรงจูงใจทำให้ชาวจีนกลับไปทำธุรกิจในบ้านเกิด
โดยข้อมูล ณ ปีที่แล้วพบว่ามีชาวจีนกลับไปทำธุรกิจในบ้านเกิดมากกว่าปี 2019 จำนวน 1.6 ล้านคน โดยมากกว่าครึ่งของคนเหล่านี้ เน้นการทำงานผ่านไลฟ์สตรีมมิ่ง และผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์อื่น ๆ เพื่อขายสินค้า
ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทำให้ชาวจีนที่อยู่นอกเมืองใหญ่สามารถทำงานจากระยะไกลให้กับบริษัทต่าง ๆ ที่มีสำนักงานอยู่ในย่านใจกลางเมือง โดยเว็บไซต์หางานฉิงตวนเสอระบุว่า ปีที่แล้วมีการโพสต์รับสมัครพิธีกร สำหรับไลฟ์สตรีมมิ่งและงานที่เกี่ยวข้องเพิ่มขึ้น จากเมืองระดับสามและสี่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้ความต้องการผู้ทรงอิทธิพลเพื่อนำเสนอสินค้าแฟชั่นมีมากขึ้นเช่นกัน
ตามข้อมูลของหน่วยงานรัฐบาลจีน พบว่าเศรษฐกิจดิจิทัลเติบโตขึ้นจนมีสัดส่วนมากกว่า 1 ใน 3 ของจีดีพี ขณะเดียวกัน คนชนบทมากกว่า 50 ล้านคน กลายเป็นผู้ใช้อินเทอร์เน็ต อย่างไรก็ตาม ธุรกิจไลฟ์สตรีมมิ่งไม่ง่ายสำหรับผู้มาใหม่อีกต่อไป เพราะการเติบโตมากเกินไปของธุรกิจนี้ในปีที่แล้วนำมาซึ่งการร้องเรียนจำนวนมากเกี่ยวกับสินค้าปลอม จนมีอัตราการคืนสินค้าค่อนข้างสูง
อย่างไรก็ตาม ยังไม่ชัดว่าเศรษฐกิจดิจิทัลจะช่วยผลักดันเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศได้แค่ไหน เพราะยอดขายค้าปลีกเพิ่มขึ้นน้อยกว่าที่คาด ส่วนแบ่งยอดขายออนไลน์ค่อนข้างนิ่ง โดยผลสำรวจของแอนต์กรุ๊ป ในเครืออาลีบาบา พบว่าไตรมาสแรกปีนี้ แม้ผู้บริโภคทุกระดับรายได้จะมองโลกในแง่ดี แต่ทว่าการใช้จ่ายกลับไม่ค่อยเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องน่ากังวล ในขณะที่ภาครัฐคาดหวังให้การบริโภคภายในประเทศเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
โควิด-เศรษฐกิจดิจิทัล ทำแรงงานจีนไหลกลับชนบท - ประชาชาติธุรกิจ
Read More
No comments:
Post a Comment