ไขข้อข้องใจ ทำไม ‘ยูโร’ ทำเข้าประตูตัวเองถล่มทลาย?
ศึก ยูโร 2020 มีสถิติใหม่เกิดขึ้นหลายอย่าง แต่สถิติหนึ่งที่เรียกว่าเหนือกว่าสถิติเดิมอย่างกระจุยกระจาย ต้องยกให้สถิติการทำเข้าประตูตัวเองของผู้เล่นทีมตั้งๆ
ก่อนหน้ายูโรหนนี้จะเปิดฉาก สถิติการทำเข้าประตูตัวเองใน 15 ทัวร์นาเมนต์ของรายการนี้ที่ผ่านมา รวมกันทั้งสิ้น 9 ประตู
การทำเข้าประตูตัวเองครั้งแรกในประวัติศาสตร์ยูโรเกิดขึ้นเมื่อปี 1976 เมื่อ อันทอน ออนดรุส ของเชกโกสโลวาเกียทำเข้าประตูตัวเองในเกมเตะรอบรองชนะเลิศกับเนเธอร์แลนด์ที่เบลเกรด
กว่าจะมีลูกถัดมาต้องรอถึง 20 ปี ตอนที่ ลูโบสลาฟ เปเนฟ ของบัลแกเรียพลาดทำประตูให้ฝรั่งเศส ส่วนคนสุดท้ายที่ทำประตูตัวเองก่อนทัวร์นาเมนต์ยูโร 2020 คือ แกเร็ธ แม็คออลีย์ ผู้เล่นไอร์แลนด์เหนือ ในยูโร 2016
แต่มาปีนี้ แม้จะเพิ่งเตะรอบก่อนรองชนะเลิศไปเพียงครึ่งทางก็มีการทำเข้าประตูตัวเองไปแล้ว 10 ครั้ง มากกว่าสถิติของยูโร 15 ทัวร์นาเมนต์ก่อนหน้านี้รวมกัน โดยประตูที่สร้างสถิติดังกล่าวคือ จังหวะที่ลูกยิงของ ฆอร์ดี้ อัลบา แฉลบ เดนิส ซากาเรีย ผู้เล่นสวิสเป็นประตูขึ้นนำของสเปน
ก่อนหน้าซากาเรีย มีนักเตะที่ได้รับ “เครดิต” ว่าเป็นคนทำประตูทีมตัวเองแล้ว 9 คน คือ เมอรีห์ เดมิราล, วอยเช็ก เชซส์นี่ย์, มัตส์ ฮุมเมลส์, รูเบน ดิอาส, ราฟาเอล เกร์เรโร่, ลูคัส ฮราเด็คกี้, มาร์ติน ดูบราฟก้า, ยูไรจ์ คุชก้า และ เปดรี้
ไอนิวส์ สื่ออังกฤษ พยายามหาคำตอบว่าทำไมยูโรหนนี้หนเดียวถึงทำสถิติยิงเข้าประตูตัวเองกันถล่มทลายขนาดนี้ โดยถามความเห็นของคนในแวดวงลูกหนังยุโรปหลายคน ดังนี้
จอร์จส์ ลีเคนส์ (อดีตกุนซือทีมชาติเบลเยียม 2 สมัย)
“ยูโรหนนี้ กองหลังโฟกัสที่บอลกันเยอะ แต่ไม่ค่อยใส่ใจสถานการณ์รอบตัวเท่าที่ควร ทำให้เกิดการทำเข้าประตูตัวเองแบบเฟอะฟะหลายครั้ง แต่ก็แสดงให้เห็นว่านักเตะเครียดหรือกดดกันขนาดไหน ทำให้การตัดสินใจในเสี้ยววินาทีไม่ดีพอ
“ไม่แน่ใจว่าเป็นเพราะกองหลังไม่ค่อยคุยกันด้วยหรือเปล่า อาจจะเป็นปัญหาที่การสื่อสารด้วยส่วนหนึ่ง บางทีพวกเขาอาจจะพยายามเล่นบอลให้เพอร์เฟกต์มากเกินไปจนลืมหลักการง่ายๆ ของการป้องกัน นั่นคือเคลียร์บอลให้ปลอดภัยไว้ก่อน”
เอริก ธอร์เวดต์ (อดีตผู้รักษาประตูท็อตแนม ฮอตสเปอร์ และทีมชาตินอร์เวย์)
“ปัจจัยสำคัญข้อหนึ่งน่าจะเป็นอาการล้า ขนาดช่วงโปรแกรมแข่งปกติ นักเตะก็ล้ากันอยู่แล้ว ยิ่งในสถานการณ์ปัจจุบัน หลายคนต้องลงเตะถี่มาก จึงน่าจะล้ากันพอสมควร
“ในฐานะผู้รักษาประตู สิ่งที่เกิดกับอูไน ซิมอน (ในเกมกับโครเอเชีย) เป็นฝันร้ายที่สุด ผมเองก็เคยทำเข้าประตูตัวเองตอนไปเยือนคริสตัล พาเลซ ครั้งนึง ช่วงเวลานั้นจะติดค้างอยู่ในความทรงจำ แต่จังหวะของซิมอน ทางทัวร์นาเมนต์ให้เป็นเปดรี้ทำเข้าประตูตัวเอง เพราะฉะนั้น ซิมอนคงต้องเลี้ยงปลอบใจเขาสักหน่อย”
มาร์ก เบอร์ตัน (อดีตโค้ชอคาเดมีสโมสรบาร์นสลีย์)
“การทำเข้าประตูตัวเองบางลูกในยูโรหนนี้มาจากจังหวะแปลกๆ 2-3 ครั้ง อย่างลูกที่มาร์ติน ดูบราฟก้า นายทวารสโลวาเกีย กระโดดชกบอลเข้าประตูตัวเอง ซึ่งเรื่องแบบนี้บางทีก็เกิดขึ้นได้
“แต่การทำเข้าประตูตัวเองส่วนใหญ่ในยูโรหนนี้เกิดจากการที่ฝ่ายบุกทำเกมจากด้านข้างแล้วเปิดบอลไปยังพื้นที่อันตราย ซึ่งบางครั้งกองหลังก็มีเวลาตัดสินใจไม่มาก อย่างเกมระหว่างโปรตุเกสกับเยอรมนีในรอบแรกที่รูเบน ดิอาส ทำเข้าประตูตัวเอง เพราะจังหวะนั้น โธมัส มุลเลอร์ ของเยอรมนีไม่โดนบอล ดิอาสไม่มีทางเลือกจึงต้องแหย่ขาออกไปหวังสกัด
“ในจังหวะแบบนี้ บางวันเหลี่ยมบอลโดนแล้วข้ามคานออกไป แต่บางวันก็พุ่งเข้าไปตุงตาข่าย นอกจากนี้ยังมองว่า การที่ฟุตบอลยุคนี้พยายามให้ผู้รักษาประตูทำหน้าที่เหมือนกองหลังอีกคนก็มีส่วนทำให้เกิดการทำเข้าประตูตัวเองบ่อยขึ้นเช่นกัน”
ไทเลอร์ ฮีปส์ (หัวหน้าฝ่ายวิเคราะห์และเทคโนโลยีกีฬา สโมสรโมนาโก)
“ถ้าวิเคราะห์การทำเข้าประตูตัวเองแต่ละลูก ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในพื้นที่อันตราย อย่างสโมสรโมนาโกเอง เมื่อฤดูกาลก่อนเราทำการวิเคราะห์ข้อมูลว่าประตูส่วนใหญ่เกิดขึ้นบริเวณไหน และทำประตูกันอย่างไร
“สำหรับยูโรหนนี้ การทำเข้าประตูตัวเอง 4 ลูกเกิดจากการเปิดบอลใกล้เส้นหลัง ยิ่งบอลมาเร็วยิ่งยากต่อการป้องกัน, 2 ลูกมาจากการแฉลบในกรอบเขตโทษ, 2 ลูกจากจังหวะเล่นลูกตั้งเตะ และ 2 ลูกเป็นจังหวะผิดพลาดที่ไม่ค่อยเกิด
“ทีมที่เล่นตั้งรับลึก นักเตะต้องตื่นตัวและทำหน้าที่ป้องกันกันหนักมาก ขณะเดียวกันก็มักจะเพิ่มโอกาสในการเล่นผิดพลาดได้ง่ายในสถานการณ์ที่บีบคั้น ซึ่งนั่นคือสิ่งที่เราได้เห็นในยูโรหนนี้”
ไขข้อข้องใจ ทำไม 'ยูโร' ทำเข้าประตูตัวเองถล่มทลาย? - มติชน
Read More
No comments:
Post a Comment