5 พฤษภาคม 2564 | โดย สาวิตรี รินวงษ์
35
ในโลกการตลาดมีทฤษฎี คัมภีร์มากมายที่แบรนด์ นักการตลาดน้ำมาใช้ขับเคลื่อนธุรกิจสร้างการเติบโต แต่จะกี่ตำรา ก็ไม่เท่ากับ “ประสบการณ์” จริงในสนาม ที่กลายเป็นบทเรียนให้นักธุรกิจตกผลึกว่าสิ่งไหนต้องห้าม สิ่งไหนควรทำ หรือ Do & Don't
หลายเรื่องภาคธุรกิจรู้และเข้าใจข้อควรทำและอย่าทำ ยิ่งในวิกฤติโรคโควิด-19 ระบาด ทำลายล้างการค้าขาย อำนาจซื้อผู้บริโภคเป็นระลอกๆ ทำให้แผนธุรกิจต้องรัดกุมยิ่งขึ้น สมาคมการตลาดแห่งประเทศไทย เต็มไปด้วยกูรูการตลาด(CMO) แม่ทัพธุรกิจ(ซีอีโอ) จากบริษัทชั้นนำมากมาย ต้องเจอไวรัสมฤตยูระลอกใหม่ แต่ละรายมีปฏิริยาตอบกลับแตกต่างกัน แต่สิ่งที่ อนุวัตร เฉลิมไชย นายกสมาคมการตลาดฯ ตกผลึกได้บรรยากาศ อารมณ์ที่มีต่อสถานการณ์ต่างจากรอบแรกที่ครั้งนั้นต่างช็อก!กันถ้วนหน้า ตั้งตัวไม่ทัน แผนรับมือวิกฤติจึงแตะเบรกทุกอย่าง ทั้งการทำตลาด การลุยโครงการใหม่ๆ
“โควิดรอบแรกผู้ประกอบการเก็บเงินอย่างเดียว เพราะไม่รู้ว่าวันข้างหน้าจะแย่แค่ไหน” ปลายปีสถานการณ์แพร่ระบาดเริ่มคลี่คลายในทิศทางที่ดีขึ้น ธุรกิจกลับเข้าสู่โหมดการทำมาค้าขายภายใต้กลยุทธ์ที่เตรียมไว้อย่างระมัดระวัง และไม่ได้มีแผนเดียว แต่จำลองไว้ทุกสถานการณ์หรือ Scenario ที่อาจต้องอยู่กับโรคโควิด-19 กันแบบยาวๆไม่รู้จุดจบ รัฐจะงัดมาตรการล็อกดาวน์มาใช้อีกหรือไม่ การเยียวยา จะมีมาตรการใดออกมากระตุ้นเศรษฐกิจ รับอำนาจซื้อของผู้บริโภคที่ลดลงเรื่อยๆ เป็นต้น
ผ่านวิกฤติรอบแรกได้อย่างหืดจับ รอบสองหนักขึ้น แต่รอบสามสาหัสมาก ซึ่ง “อนุวัตร” มองว่าบททดสอบจากโรคระบาดหนักหนาขึ้น ดังนั้นสิ่งที่นักการตลาดต้องงัดยุทธวิธีมาสู้ รับมือจึงต้องเข้มข้นขึ้นด้วย
สำหรับสิ่งที่ควรทำในห้วงเวลาวิกฤติ หนีไม่พ้น “วิชาตัวเบา” การทำให้องค์กรปราศจากไขมัน(ลีน) และสร้างพื้นฐานให้แข็งแกร่ง เพื่อให้มีความพร้อม สามารถคว้าโอกาสในวันที่เศรษฐกิจ กำลังซื้อฟื้นตัว หลังโรคระบาด ห้วงเวลานี้ยังเป็นจังหวะที่แบรนด์ นักการตลาดควรไปทำงานใกล้ชิดกับ “ลูกค้า” มากขึ้น ดูข้อมูลตรงไหนที่ยกระดับ ปรับเปลี่ยนพัฒนาได้ เช่น การปรับเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ใหม่ การดูโครงสร้าง กลยุทธ์ราคา รองรับผู้บริโภคใช้เงินอย่างระมัดระวัง จึงต้องทำทุกอย่างอยู่บนพื้นฐานความคุ้มค่าให้มาก
การช่วยเหลือสังคม ซึ่งหลายแบรนด์ยังคงทำต่อเนื่อง ซึ่งแบรนด์ใดที่ดูแล ไม่ทอดทิ้งลูกค้า เมื่อผ่านวิกฤติได้ แบรนด์จะถูกจดจำได้อย่างดี
“การรอดพ้นจากวิกฤติโควิดรอบแรกมาได้ เกิดจากการลีนองค์กร เมื่อทำการตลาดไม่ได้ ต้องทำงานจากที่บ้านทำให้ธุรกิจประหยัดค่าใช้จ่าย ถึงตอนนี้ทุกคนยังไม่มีโอกาสทำตัวให้อ้วน จึงอาศัยประโยชน์จากการประหยัด รักษาตัวให้ได้ใน 2-3 เดือน รอให้โรคระบาดคลี่คลาย แลัวกลับมารุกตลาดอีกครั้ง”
ส่วนข้อไม่ควรทำอย่างยิ่ง คือการอาศัยเวลาแห่งความยากลำบากของผู้คน มา “เอาเปรียบ” สร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน การทำตลาด รวมถึงอย่าตื่นตระหนกมากเกินไปจนเบรกทุกกิจกรรมส่งผลกระทบต่อสังคมโดยรวม
อย่างไรก็ตาม การระบาดของไวรัสรอบใหม่ส่งผลให้ล่าสุด รัฐออกมาตรการคุมเข้มร้านอาหาร ห้ามนั่งกินในร้าน สั่งกลับบ้านใน 6 จังหวัด เช่น กรุงเทพฯ ปทุมธานี และนนทบุรีฯ อาจกระทบบางธุรกิจ แต่ไม่กระทบความเชื่อมั่นของประชาชนในการใช้ชีวิต เพราะเวลานี้ “ตัวเลขผู้ติดเชื้อ” และ “ผู้เสียชีวิต” มีผลต่ออารมณ์ ความเชื่อมั่นอย่างมาก และต่อให้มีการฉีดวัคซีน ยังไม่สามารถการันตีได้ว่าจะไม่ติดเชื้อ ดังนั้น “วัคซีน” สำคัญของผู้ประกอบการ ต้องย้ำหนักแน่นการ์ดห้ามตก!!
ปัจจุบันหลายประเทศฉีดวัคซีนรุดหน้ากว่าไทย แต่หนึ่งความหวังที่เกิดเวลานี้ คือภาคเอกชนชั้นนำผนึกกำลังเฉพาะกิจเป็นทีมไทยแลนด์ช่วยแก้วิกฤติชาติ เพราะเอกชนมีสรรพกำลังและความยืดหยุ่นในการดำเนินการหลายๆเรื่อง
“องค์กรธุรกิจชั้นนำมารวมตัวกันช่วยเรื่องวัคซีน สร้างพลังบวก เกิดมู้ดที่ดีกับประเทสไทยว่าทุกคนเป็นทีมไทยแลนด์ ซึ่งหากออกแรง เร่งรัดได้เร็วจะปลุกความเชื่อมั่นได้ดี”
อย่างไรก็ตาม สถานการณเศรษฐกิจ กำลังซื้อหลังโรคโควิดอาจยังชะลอตัวหรือ U Shape ในฐานะแม่ทัพสมาคมการตลาดฯ ย่อมหวังว่าจะเป็น U ที่แคบ เพื่อให้ทุกอย่างฟื้นตัวได้เร็ว
แกะสูตรรอดสู้!! โควิดรอบใหม่ ธุรกิจ “ควรทำ-ข้อห้าม”ยามวิกฤติ - กรุงเทพธุรกิจ
Read More
No comments:
Post a Comment