ชีพจรเศรษฐกิจโลก นงนุช สิงหเดชะ
ปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา กองทุนป้องกันความเสี่ยงที่ไม่ค่อยเป็นที่รู้จักมากนัก ชื่อ “อาร์เคกอส แคปิตอล แมเนจเมนต์” (Archegos Capital Management) สร้างความปั่นป่วนโกลาหลให้กับวอลสตรีต และสร้างความเสียหายให้กับธนาคารบิ๊กเนมหลายแห่ง โดยเฉพาะ “เครดิต สวิส” และ “โนมูระ” หลังจากอาร์เคกอสฯผิดนัดการเรียกชำระเงินประกันเพิ่มในบัญชีมาร์จิ้น เป็นเหตุให้ธนาคารเหล่านี้ในฐานะโบรกเกอร์ของอาร์เคกอสฯเทขายหุ้นที่อาร์เคกอสฯถืออยู่ในฐานะหลักประกันออกมาเพื่อลดการขาดทุน
อาร์เคกอสฯเก็งกำไรในหุ้นสื่อ คือ “ViacomCBS” โดยมีธนาคารหลายแห่งเป็นโบรกเกอร์ให้กู้ยืม เช่น โกลด์แมน แซกส์, มอร์แกน สแตนเลย์, ดอยช์แบงก์, เครดิต สวิส และโนมูระ เพราะหุ้นดังกล่าวในเวลานั้นมีราคาเพิ่มขึ้นเกือบ 3 เท่า แต่หลังจาก ViacomCBS ประกาศจะขายหุ้นถึง 3 พันล้านหุ้น ทำให้ราคาตกลงเป็นผลให้โบรกเกอร์ที่ให้กู้ยืมแก่อาร์เคกอสฯเรียกให้อาร์เคกอสฯวางเงินประกันเพิ่ม แต่อาร์เคกอสฯไม่สามารถชำระได้ จึงได้บังคับขายหุ้นดังกล่าวออกมา โบรกเกอร์เหล่านี้ไม่เพียงเทขาย ViacomCBS เหล่านั้น แต่ยังขายหุ้นอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับอาร์เคกอสฯออกมาด้วย
ผลจากการเทกระจาด ViacomCBS ทำให้ราคาหุ้นของธนาคารที่เกี่ยวข้องกับอาร์เคกอสฯร่วงลงอย่างแรงเช่นกัน ทั้งนี้ ประเมินว่าธนาคารซึ่งเป็นโบรกเกอร์ของอาร์เคกอสน่าจะมีความเสียหายรวมกันประมาณ 6,000 ล้านดอลลาร์ โดยข่าววงในระบุว่า “โกลด์แมน แซกส์” และ “มอร์แกน สแตนเลย์” เสียหายค่อนข้างน้อยเนื่องจากไหวทันและรีบชิงขายหุ้นที่เกี่ยวข้องกับอาร์เคกอสฯออกไปได้ทันเวลา
ในขณะที่โนมูระแถลงยอมรับว่าน่าจะเกิดความเสียหายประมาณ 2,000 ล้านดอลลาร์ อันเนื่องมาจากลูกค้าผิดนัดวางเงินประกันเพิ่ม ส่วนเครดิต สวิสใช้คำว่าจะขาดทุนอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งจะมีผลกระทบต่อผลประกอบการในไตรมาส 1 ปีนี้ แต่ทั้งโนมูระ และเครดิต สวิสไม่ได้เอ่ยชื่อลูกค้าที่สร้างความเสียหายให้กับบริษัท แต่เป็นที่รับรู้กันว่าน่าจะหมายถึง “อาร์เคกอสฯ”
แม้วอลสตรีตจะมองว่าผลกระทบไม่ร้ายแรงเพราะอยู่ในวงจำกัด จึงไม่เกิดความตื่นตระหนกต่อเนื่อง และราคาหุ้นของธนาคารเหล่านี้ก็สามารถฟื้นตัวกลับมา แต่ก็ทำให้เกิดคำถามถึงช่องโหว่ของกฎหมายในการควบคุมดูแลธนาคารพาณิชย์และวาณิชธนกิจที่ปล่อยกู้ให้กับการทำธุรกรรมเก็งกำไรที่คลุมเครือ
อีกทั้งกรณีอาร์เคกอสฯก็ซ้ำรอยกับกรณีเก็งกำไรในหุ้น “เกมสต็อป” (GameStop) ที่สร้างความเสียหายให้กับเฮดจ์ฟันด์รายหนึ่งเมื่อไม่นานมานี้ รายงานข่าวระบุว่า ข้อตกลงระหว่างอาร์เคกอสฯ และโบรกเกอร์เหล่านี้เป็นการอนุญาตให้อาร์เคกอสฯซื้ออนุพันธ์ผ่านโบรกเกอร์ในรูปของ total return swaps (TRS) ซึ่งทำให้อาร์เคกอสฯสามารถเก็งกำไรราคาหุ้นโดยไม่จำเป็นต้องเป็นเจ้าของหุ้นที่ใช้อ้างอิง (underlying stock) ทำให้อาร์เคกอสฯสามารถกู้ยืมเงินมาลงทุนหุ้นทั่วโลกโดยเกินกำลังของตัวเอง
“ธอร์สเตน เบ็ก” อาจารย์ด้านการธนาคารและการเงินของแคส บิสซิเนส สกูลในลอนดอนระบุว่า วาณิชธนกิจปล่อยกู้มากเกินไป ดังนั้น ถึงเวลาแล้วที่จะมีการควบคุมโดยกำหนดให้ธนาคารใดก็ตามที่ต้องการปล่อยกู้ให้กับลูกค้าที่มีความเสี่ยง จะต้องแยกการดำเนินธุรกิจออกมาจากธนาคารพาณิชย์ที่มีจุดประสงค์ปล่อยกู้สำหรับเศรษฐกิจแท้จริง (real economy) เท่านั้น แบบเดียวกับที่อังกฤษทำ
ด้าน “เอลิซาเบธ วอร์เรน” วุฒิสมาชิกจากพรรคเดโมแครต และหนึ่งในคณะกรรมาธิการการเงินและการคลัง วุฒิสภาสหรัฐกล่าวว่า กรณีของอาร์เคกอสฯสร้างสถานการณ์ที่อันตราย เพราะสะท้อนให้เห็นว่าเฮดจ์ฟันด์ส่วนใหญ่ไม่ถูกควบคุมด้วยกฎระเบียบใด ๆ การซื้อขายอนุพันธ์ที่คลุมเครือเข้าใจยาก การซื้อขายส่วนบุคคลซึ่งกระทำในที่มืด การกู้ยืมสูง เราจำเป็นต้องมีความโปร่งใสและการกำกับดูแลที่เข็มแข็งขึ้น เพื่อให้แน่ใจว่าจะไม่มีเฮดจ์ฟันด์รายต่อไปสร้างความเสียหายให้กับเศรษฐกิจอีก
“เกร็ก วิลเลียม” หัวหน้าพลูริบัส แลบส์ บริษัทให้บริการลงทุนหุ้นทั่วโลกชี้ว่า ผลจากอาร์เคกอสฯเชื่อว่าจะทำให้มีการเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบในระดับโลก โดยมีความเป็นไปได้ที่การลงทุนอนุพันธ์จะถูกเพิ่มเข้าไปในรายการที่ต้องถูกตรวจสอบ และเป็นไปได้ที่ฐานะการลงทุนในอนุพันธ์จะถูกนับเข้าไปอยู่ในฐานเงินทุนของธนาคารพาณิชย์และวาณิชธนกิจ
เมื่อ 'เฮดจ์ฟันด์' โนเนม ทำธนาคาร 'บิ๊กเนม' เกือบเจ๊ง - ประชาชาติธุรกิจ
Read More
No comments:
Post a Comment