15 มี.ค.64 - นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และอดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีมีการตีความแตกต่างกันเกี่ยวกับคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ว่า แม้ต้องรอคำวินิจฉัยกลางก่อน แต่หลังจากอ่านคำวินิจฉัยแล้ว ไม่คิดว่ากระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญในขณะนี้จะมีปัญหา เพราะทุกคนมองตรงกันว่าอำนาจการสถาปนารัฐธรรมนูญ ซึ่งอาจจะครอบคลุมถึงการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ แม้จะไม่ครบทุกหมวดก็ตามเป็นของประชาชน สิ่งที่รัฐสภากำลังดำเนินการมาจนถึงการโหวตวาระสาม ยังไม่ใช่การจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ แต่เป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อบอกว่าจะมีกลไกในการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่อย่างไรเท่านั้น
"การทำรัฐธรรมนูญใหม่จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีการลงประชามติหลังโหวตวาระสาม ซึ่งตรงกับคำวินิจฉัยที่ให้ทำประชามติก่อนมีการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญใหม่ว่าประชาชนต้องการให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่หรือไม่ อีกทั้งร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญก็กำหนดไว้ว่า เมื่อ สสร.ร่างเสร็จต้องไปทำประชามติอีกครั้ง ซึ่งก็ตรงกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ให้ทำประชามติหลังร่างเสร็จ" นายอภิสิทธิ์ กล่าว
นายอภิสิทธิ์ กล่าวต่อว่า การพยายามตีความว่า ต้องทำประชามติอีกครั้งเพิ่มขึ้นก่อนมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 ทำให้เกิดคำถามว่า อำนาจแก้รัฐธรรมนูญเป็นของฝ่ายนิติบัญญัติ แต่การทำประชามติตามรัฐธรรมนูญทำได้สองวิธี คือทำตามมาตรา 256 ที่กำลังทำอยู่ในขณะนี้ และมาตรา 166 ซึ่งเป็นอำนาจของคณะรัฐมนตรี ดังนั้นใครที่ตีความว่าสภาต้องถามประชาชนก่อน ผมมีคำถามว่าสภาจะเอาอำนาจอะไรไปทำประชามติ และถ้าบอกสภาไม่ต้องทำ ครม.ทำ ก็มีคำถามว่าโดยหลักการสภาบังคับครม.ได้หรือไม่ และถ้าครม.บอกว่าไม่ทำ ก็มีคำถามอีกว่าไม่เป็นการผิดหลักการหรือ เพราะกลายเป็นว่าอำนาจฝ่ายนิติบัญญัติไปอยู่ในมือของครม. ฉะนั้น จึงเชื่อว่าการไปตีความว่าต้องทำประชามติอีกครั้งไม่สอดคล้องกับโครงสร้างของรัฐธรรมนูญ
นายอภิสิทธิ์ กล่าวด้วยว่า ต้นทุนที่ต้องจ่ายจากความพยายามเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางการเมืองแบบนี้ มีทั้งอาจต้องทำประชามติถึงสามครั้ง ซึ่งอาจผ่านสองครั้ง ครั้งสุดท้ายไม่ผ่าน ในที่สุดเท่ากับมีความสิ้นเปลืองไม่ใช่แค่งบประมาณ แต่ยังสร้างความขัดแย้งที่ไม่เป็นประโยชน์กับใครด้วย ดังนั้นจึงคิดว่าศาลรัฐธรรมนูญควรทำความชัดเจนก่อนสภาลงมติในวาระสามน่าจะเป็นทางเดินที่ดีที่สุด เพื่อลดปัญหา ขณะที่ผู้มีอำนาจในปัจจุบันต้องยึดมั่นในสิ่งที่แถลงนโยบายกับสภา เหมือนผู้นำในต่างประเทศเขาทำกัน เพราะกำหนดเป็นนโยบายเร่งด่วน ผู้นำรัฐบาลและพรรคร่วมรัฐบาลต้องแสดงความชัดเจนจริงใจมากกว่าที่เป็นอยู่ สนับสนุนทุกขั้นตอน นายกฯซึ่งมีฐานะพิเศษจากโครงสร้างรัฐธรรมนูญปัจจุบัน ที่ประชาชนมองว่าท่านมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของวุฒิสภาได้ ถ้าจริงใจและซื่อสัตย์ต่อการแถลงนโยบายของตัวเอง ต้องแสดงท่าทีที่ชัดเจนออกมา
"ผมอยากเห็นไม่ใช่แค่พรรคประชาธิปัตย์ แต่พรรคร่วมรัฐบาลทุกพรรค เดินหน้าตามนโยบายของรัฐบาล แสดงท่าทีที่จริงจัง เพราะต้องไม่ลืมว่าทุกครั้งที่การจัดทำรัฐธรรมนูญมีเหตุต้องสะดุดหยุดลง ล้วนมาจากการกระทำของฝ่ายรัฐบาลทั้งสิ้น ที่สำคัญคือในการลงมติวาระที่หนึ่ง มีรัฐมนตรีลงมติสวนทางกับนโยบายรัฐบาลแต่กลับไม่มีปฏิกริยาใด ๆ ทั้งสิ้นจากทั้งผู้นำรัฐบาลและพรรคที่ร่วมรัฐบาล เป็นตัวฟ้องถึงความจริงใจของฝ่ายที่เกี่ยวข้อง จึงหวังว่าในช่วงเวลาหลังจากนี้จะใช้เวทีสภาลดความขัดแย้งทางการเมือง ดึงให้ประชาชนมีส่วนร่วมออกแบบการเมืองที่เป็นที่ยอมรับ มีความยั่งยืนต่อไปในอนาคต" อดีตนายกรัฐมนตรีกล่าว
'อภิสิทธิ์' ชี้ร่างแก้รธน. ไม่ใช่จัดทำฉบับใหม่ วาระสามโหวตได้ตามปกติแล้วทำประชามติ - ไทยโพสต์
Read More
No comments:
Post a Comment