รอง ผบ.ตร. ยัน ตร.ไม่เสียหน้า หลัง "ดีเอสไอ" รับทำคดีตำรวจสอบ "ลุงเปี๊ยก" เข้าข่ายความผิด "พ.ร.บ.อุ้มหาย" เผยเป็นสิทธิผู้เสียหาย ร้องเรียน DSI ได้หากรู้สึกไม่ได้รับความเป็นธรรม ย้ำตำรวจพร้อมสอบสวนต่อ ชี้หลายฝ่ายร่วมตรวจสอบยิ่งโปร่งใส
เมื่อวันที่ 26 ม.ค. 67 พล.ต.อ.ธนา ชูวงศ์ รอง ผบ.ตร. กล่าวถึงกรณีที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) เตรียมสอบสวนคดีที่ตำรวจภูธรจังหวัดสระแก้วบังคับสอบปากคำลุงเปี๊ยกให้รับสารภาพในการเสียชีวิตของ น.ส.บัวผัน ตันสุ หรือป้ากบ ว่า เข้าข่ายพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานฯ หรือ "พ.ร.บ.อุ้มหายฯ" หรือไม่นั้น ถือว่าเป็นสิทธิที่ผู้เสียหายสามารถไปร้องเรียนกับกรมสอบสวนคดีพิเศษได้ หากรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม แต่ในเรื่องดังกล่าวทางฝั่งเจ้าหน้าที่ตำรวจก็จะดำเนินการสืบสวนรวบรวมพยานหลักฐานต่อไป พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบ.ตร. ได้ลงพื้นที่ และมอบหมายให้ พล.ต.ท.สมประสงค์ เย็นท้วม ผบช.ภ.2 มีอำนาจเต็มในการควบคุมกำกับการสืบสวนในกรณีดังกล่าว หากพบว่าเข้าข่ายการกระทำความผิดเกี่ยวกับ พ.ร.บ.อุ้มหายฯ จริง ก็จะดำเนินการโดยไม่มีการช่วยเหลือกัน
รอง ผบ.ตร. กล่าวต่อว่า ส่วนขั้นตอนหลังจากกรมสอบสวนคดีพิเศษได้รับสืบสวนกรณีดังกล่าวในฐานะคดีพิเศษแล้ว ก็จะดำเนินการในรูปแบบของคณะกรรมการจากหลายส่วนมาร่วมตรวจสอบร่วมกัน ซึ่งสามารถให้พนักงานสอบสวนสอบสวนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่ได้ดำเนินการสืบสวนไปเบื้องต้นแล้วเข้าร่วมด้วยได้ และหากคณะกรรมการเห็นชอบร่วมกันให้โอนสำนวนคดีนี้ให้กรมสอบสวนคดีพิเศษรับดำเนินการฝ่ายเดียว ก็สามารถทำได้เช่นกัน
พล.ต.อ.ธนา กล่าวต่อว่า กรณีดังกล่าวไม่ถือว่าเป็นการทำให้ตำรวจเสียหน้า หรือแย่งงานกัน แต่มองว่าเป็นการช่วยเหลือ สนับสนุนข้อมูลซึ่งกันและกัน เพื่อให้เกิดความโปร่งใส เมื่อมีผู้มาร้องเรียน โดยเฉพาะในคดีสำคัญที่สังคมยังคลางแคลง และให้ความสนใจ เช่นเดียวกับกรณีที่ตำรวจภูธรจังหวัดสระแก้วได้ส่งหนังสือไปยังอัยการจังหวัดสระแก้ว เพื่อให้ร่วมดำเนินการสอบสวนในการกระทำที่อาจเข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.อุ้มหายฯ นั้นก็ถือเป็นการดำเนินการร่วมกันในรูปแบบคณะทำงานที่อาจหารือกัน เพื่อให้ข้อมูลต่างๆ ความละเอียดรอบคอบมากยิ่งขึ้น ยังไม่สามารถให้ข้อมูลได้ว่าพฤติการณ์ของตำรวจที่สอบสวนลุงเปี๊ยกนั้นจะเข้าข่าย พ.ร.บ.อุ้มหายฯ อย่างไรบ้าง ต้องขอให้สอบสวนปรากฏข้อเท็จจริงก่อน โดยขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการ ส่วนกรณีการสอบปากคำลุงเปี๊ยกที่กำลังบำบัดรักษาอาการสุราเรื้อรังนั้น คาดว่าชุดสอบสวนจะสามารถเข้าสอบปากคำได้ตามระยะเวลาที่วางไว้คือ 7 วัน หลังจากเข้ารับการบำบัดตั้งแต่วันที่ 18 ม.ค.
"ตำรวจไม่เสียหน้า" DSI ทำคดีอุ้มหาย "ลุงเปี๊ยก" ชี้เป็นสิทธิผู้เสียหาย - ไทยรัฐ
Read More
No comments:
Post a Comment