พอจะเห็นรูปเห็นร่างมากขึ้นกับแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เมื่อคณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับการทำประชามติเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ
รัฐธรรมนูญปี 2560 ที่ใช้ในปัจจุบันนั้นได้กำหนดกติกาที่ผูกโยงเอาไว้หลายชั้น ทำให้การแก้ไขต้องไปถอดสลักออกมาเป็นชิ้นๆจึงจะแก้ไขได้
รัฐบาลชุดนี้ในฐานะผู้รับผิดชอบได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่ง ประกอบไปด้วยหลายฝ่ายเพื่อให้เกิดความหลากหลายในการมีส่วนร่วม
“นิกร จำนง” ที่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นประธานอนุกรรมการรับฟังความเห็นของประชาชนได้เดินเครื่องทำงานแล้ว
ปรากฏผลออกมา 3 ประเด็น
จำนวนครั้งที่จะทำประชามติออกเป็น 3 ครั้ง โดยมีเพียงคำถามเดียวคือเห็นชอบหรือไม่ที่จะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และแบ่งเป็น 2 คำถาม คือจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยไม่แก้ไขหมวด 1 และหมวด 2 และเห็นชอบหรือไม่ที่จะให้มีการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญเป็นผู้จัดทำ
ในส่วนของที่มาและจำนวนสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) นั้น มีข้อเสนอให้มีจำนวน 100 คน โดยมาจากการเลือกตั้งจังหวัดละ 1 คน รวม 77 คน และอีก 23 คน รัฐสภาจะเลือกจากผู้เชี่ยวชาญสาขากฎหมายมหาชนจำนวน 5 คน ผู้เชี่ยวชาญด้านรัฐศาสตร์ หรือประศาสนศาสตร์ หรือสังคมศาสตร์ หรือเศรษฐศาสตร์จำนวน 4 คน
ผู้มีประสบการณ์ด้านการเมือง การบริหารราชการแผ่นดิน หรือการร่างรัฐธรรมนูญตามหลักเกณฑ์ที่ประธานรัฐสภากำหนด 4 คน รัฐสภาเลือกจากบุคคลซึ่งมีความรู้ความเชี่ยวชาญประสบการณ์ หรือทำงาน หรือเคยทำงานในองค์กรด้านเด็กและเยาวชน
ด้านสตรี ด้านผู้สูงอายุ ด้านผู้พิการหรือทุพพลภาพ และด้านผู้มีความหลากหลายทางเพศด้านละ 2 คน รวม 10 คน
รัฐสภาจะลงมติในเรื่องนี้
สรุปข้อเสนอก็คือให้จัดทำประชามติ 3 ครั้ง ที่มาของ ส.ส.ร.จำนวน 100 คน โดยจะเสนอให้คณะกรรมการชุดใหญ่พิจารณาในวันที่ 25 ธ.ค.66
ที่ชัดเจนอย่างหนึ่งคือข้อเสนอนี้ไม่ตรงกับความต้องการของ “ก้าวไกล” ก็คือให้ ส.ส.ร.มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด
ซึ่ง “เพื่อไทย” และพรรคการเมืองเห็นไปในทางเดียวกันคือไม่ต้องการให้เลือกตั้งทั้งหมด เพราะประเมินว่าจะทำให้ ส.ส.ร.ทั้งชุดมาจาก “ก้าวไกล” ทั้งหมด
อีกประเด็นก็คือ “ก้าวไกล” ต้องการให้มีการแก้ไขทั้งฉบับ ไม่มียกเว้นมาตราใดมาตราหนึ่งต่างกับทุกพรรคที่เห็นว่าไม่ควรแตะต้องหมวด 1 และหมวด 2 ที่เกี่ยวข้องกับ “สถาบัน”
ยังมีอีกประเด็นก็คือการทำประชามติ 3 ครั้งนั้น ทำให้เกิดปัญหายุ่งยาก และเสียค่าใช้จ่ายเป็นจำนวนมาก
คร่าวๆ 3 ครั้งน่าจะต้องใช้งบประมาณเกือบหมื่นล้านบาท
ก็ต้องดูว่าคณะกรรมการชุดใหญ่จะเคาะอย่างไร และมีความเห็นอย่างไร เพราะมีอำนาจในการตัดสินใจชี้ขาดอยู่แล้ว
ว่าก็ว่าเถอะ...การแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทุกครั้งที่ผ่านมาไม่ใช่เรื่องง่ายๆ
เนื่องจากเป็นกฎหมายใหญ่และมีผลบังคับใช้ต่อทุกองค์กร ทำให้เกิดความเห็นที่หลากหลายที่จะต้องปรับให้ทุกฝ่ายยอมรับได้
เพราะไม่ใช่ประเด็นหลักๆเท่านั้น
แต่ทุกคนทุกพรรคต่างก็มีความปรารถนาที่ตนเองต้องการ!
“สายล่อฟ้า”
อยากแก้แต่ทำยาก - ไทยรัฐ
Read More
No comments:
Post a Comment