คุยกับน้องเจนนิเฟอร์ สาวสวยวัย 24 ปี ลูกครึ่งไทย-อังกฤษ จบชีวการแพทย์ต่างประเทศ ทิ้งชีวิตทำงานอังกฤษ เลือกใช้ชีวิตเกษตรอินทรีย์ ตามพ่อฝรั่งโปรไฟล์ไม่ธรรมดา กับวิถีเกษตรผสมผสาน กับ 5 ขั้นตอนการฟื้นฟูดิน ....
ความโชคดีของประเทศไทย คือ เป็นประเทศที่เหมาะสมแก่การเพาะปลูก ไม่ว่าจะปลูกอะไรลงดิน ล้วนเจริญงอกงาม...
นี่คือ เสียงสะท้อนของ Jennifer Innes-Taylor เจ้าของ Udon Organic Farm สาวลูกครึ่งไทย-อังกฤษ เกษตรไอดอล ที่รักและเติบโตมากับการทำเกษตร และเรื่องราวในชีวิตเธอนั้น เป็นสิ่งน่าสนใจ เนื่องจากได้สัมผัสชีวิต การทำงาน ในต่างประเทศอย่าง อังกฤษมา แต่สุดท้ายกลับมาใช้ชีวิต คลุกดิน คลุกทราย ในฟาร์มของตัวเอง
น้องเจนนิเฟอร์ ในวัย 24 ปี เล่าว่า เธอเป็นลูกครึ่งไทย อังกฤษ โดยคุณพ่อนั้นทำงานในตำแหน่ง ที่ปรึกษา ของ องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization of the United Nations: Home) ซึ่งคุณพ่อจบปริญญาตรีด้านเกษตร ปริญญาโท ด้านประมง มีโอกาสเดินทางมาประเทศไทย
การเดินทางมาประเทศไทยของคุณพ่อนั้น เป็นโครงการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ตอนที่มาประเทศไทย ยังไม่รู้เลยว่าประเทศไทยอยู่ตรงไหน เพราะสมัยนั้นยังไม่มีอินเทอร์เน็ต
“ตอนคุณพ่อจะมาเมืองไทย ได้ไปเรียนภาษาไทยมาก่อน หวังจะฝึกพูด แต่เมื่อมาจริงๆ มาอยู่ที่ จ.ศรีสะเกษ ปรากฏว่า ต้องเว้าอีสานกัน สิ่งที่เรียนมา ไม่เหมือนในตำราเลย” น้องเจน เล่าพลางหัวเราะ ก่อนจะเล่าต่อว่า...
คุณพ่อเดินทางบ่อยๆ ไปเจอคุณแม่ ซึ่งเป็นคนสิงห์บุรี แต่ทำงานที่สนามบิน จึงทำให้พบรักกัน และชวนกันมาตั้งรกรากที่ จ.อุดรธานี เพราะเป็นพื้นที่ที่คุณพ่อทำโครงการประมงน้ำจืด แถวหนองประจักษ์ และเห็นว่าที่นี่มีโลเคชันดี ก็เลยตัดสินใจมาใช้ชีวิตที่นี่ รวมระยะเวลาแล้วกว่า 40 ปี
เริ่มต้นเกษตร ด้วยพื้นที่ 8 ไร่ เป้าหมายกินในครัวเรือน
น้องเจน เล่าว่า หลังพ่อแม่ตั้งถิ่นฐาน ด้วยที่พ่อมีความรู้ด้านเกษตร และอยากลงมือทำ จึงเริ่มต้นทดลองปลูกพืช และเลี้ยงสัตว์ ด้วยพื้นที่ 8 ไร่ ก่อนจะขยายซื้อที่เพิ่มเติม ซึ่งที่ดินที่เขานำมาขายนั้น อดีตเคยปลูกมันสำปะหลัง และต่อมาดินก็เสื่อมสภาพ เราจึงซื้อไว้ในราคาไม่แพง แล้วค่อยๆ เริ่มปรับปรุงดิน
จากการลองผิดลองถูกมาหลายวิธี น้องเจนนิเฟอร์ เผยว่า วิธีการที่ใช้และประสบความสำเร็จ คือการเลี้ยงวัว (ความจริงสัตว์อะไรก็ได้) แต่เราจัดพื้นที่ให้มันกินหญ้า จากนั้นก็นำมูลวัวมาใช้ ผสมกับดินแปลงอื่นๆ ไปเรื่อย ซึ่งต่อมา เราใช้วิธีการ “จัดการ” โดยทำทางเดิน ให้มันไปกินหญ้า ตามที่เราปลูกไว้ แล้วก็ให้วัวเหล่านี้ย่ำเดิน เหยียบดินแห้งๆ ลงไป ผลที่ได้คือ ไส้เดือนกลับเข้ามาเยอะมาก เรียกว่าเจอทุกตารางเมตร โดยเฉพาะหน้าฝน จะเห็นการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน
“เมื่อเราปรับปรุงดินดีขึ้น เราจึงเริ่มเปลี่ยนมาปลูกผักบ้าง ผลไม้บ้าง ทำให้ได้ผลผลิตที่หลากหลายมาก เช่น ลิ้นจี่ มะม่วง มะปราง มะยงชิด เลมอน กล้วยหลายๆ สายพันธุ์”
เป็นเกษตรกรตั้งแต่เล็ก จบชีวการแพทย์ ทำงานอังกฤษ แต่สุดท้ายเลือกกลับมา..
เจนเล่า ว่า เธอใช้ชีวิตอยู่ในสวนในไร่มาตลอด ใจก็ชอบงานเกษตรอยู่แล้ว ตื่นแต่เช้าไปเก็บไข่ ให้อาหารไก่ รดน้ำผัก ช่วยแม่ทำกับข้าว รู้สึกว่าเป็นหนึ่งในกิจวัตรประจำวันของชีวิต และไม่รู้สึกว่าภาระ หรือความเหนื่อยอะไร มีบ้างรู้สึกว่าชีวิตวัยรุ่นจะขาดหาย ซึ่งบางครั้งอยากไปกินหมูกระทะกับเพื่อน ก็ไม่ค่อยได้ไป ถ้าอยากไปก็ต้องทำงานแลก เช่น การตัดหญ้าสัก 2 ไร่ก่อน (หัวเราะ)
“นี่คือสิ่งที่พ่อแม่สอนเราว่า การจะได้อะไรมา ก็ต้องมีสิ่งแลกเปลี่ยน ด้วยเหตุนี้ ทำให้เราชินกับการทำงานแบบนี้ ตกเย็นกินข้าว มีกับข้าวเต็มโต๊ะ ซึ่งกับข้าวทั้งหมดล้วนมาจากฟาร์มตัวเอง ได้เห็นแล้วรู้สึกดีใจ ภาคภูมิใจ”
ต่อมา ได้ไปเรียนหนังสือต่างประเทศ (สกอตแลนด์) จบ วิศวกรรม ชีวการแพทย์ และก็มีอยู่ช่วงหนึ่งที่ต้องใช้ชีวิตอยู่อังกฤษ ซึ่งนานที่สุดคือ 2 ปี
“เจนเลือกเองเลยว่า อยากเรียนอะไร เพราะต้องการเปิดโลกทัศน์ของตัวเอง เราไปอังกฤษทุกปี เฉพาะช่วงเดือนเมษายน เพื่อไปหาคุณย่า เรียกว่า เด็กๆ นี่แทบไม่ได้เล่นสงกรานต์เลย ซึ่งการใช้ชีวิตในต่างประเทศ แรกๆ ก็รู้สึกสนุก อยากจะอยู่ แต่พอไปอยู่แล้ว สัก 3 สัปดาห์ ก็เริ่มเบื่อ อยากกลับเมืองไทย”
เมื่อถามว่า ไม่อยากจะไปสร้างตัว สร้างอาชีพที่อังกฤษหรือ เจนนิเฟอร์ สาวฝรั่งหัวใจไทย บอกว่า ตอนแรกคิด และอยาก แต่ไปอยู่จริงๆ แล้ว ความอยากหายไปหมด ด้วยเหตุผลหลายอย่างที่ทำให้รู้สึกว่า “ประเทศไทย” คือบ้าน และอบอุ่น อาหารการกินดีกว่า คนใจดีกว่า
“อาหารนี่สู้เมืองไทยไม่ได้เลย โดยเฉพาะความหลากหลายของอาหาร มีตัวเลือกน้อยมาก สิ่งที่สามารถซื้อได้ มีแค่ในซุปเปอร์มาร์เก็ต แต่กับประเทศไทย แค่ออกจากบ้านก็มีของกิน ของขาย ไปตลาด มีของมากมายให้ซื้อ มีแม้กระทั่งเห็ดเผาะ ของป่า แต่ที่นั่นไม่มีเลย ด้วยเหตุนี้ ประเทศไทย จึงถูกเรียกว่า Kitchen of the World แต่...ข้อดีของอังกฤษ คือ work-life balance หากเรียนก็เรียน ทำงานก็ทำงานหนัก แต่ถ้าเลิกงานคือ เลิกงานจริงๆ ซึ่งเราก็เคยทำงาน และใช้ชีวิตอยู่ที่นั่น แบบไม่กลับเมืองไทยเลย 2 ปี แต่สุดท้ายก็ตัดสินใจกลับมา"
ทำฟาร์มจริงจัง กับ 5 ขั้นเกษตรฟื้นฟู
น้องเจนนิเฟอร์ เล่าว่า ช่วงที่อยู่อังกฤษ ทำงานมาเยอะมาก ทั้งร้านอาหาร แคชเชียร์ ออกแบบเว็บไซต์ ทาสีบ้าน ซ่อม ซึ่งที่ทำก็เพื่อให้เป็นประสบการณ์ หรืองานในกรุงเทพฯ ก็เคยมาฝึกงาน รู้สึกไม่อยากตื่นเช้า เจอรถติด ซึ่งด้วยเหตุนี้ ทำให้เรารู้สึกว่า “คุณภาพชีวิต” ก็เป็นสิ่งสำคัญ เราจึงเริ่มทำฟาร์ม อย่างจริงจัง ด้วยเกษตรผสมผสาน และการบริหารจัดการ
“จุดเปลี่ยนที่ให้เริ่มทำการเกษตร จริงจัง เพราะเริ่มเห็นว่า ดินที่เคยปลูกข้าวได้เริ่มมีปัญหา ที่นาที่เคยปลูกข้าวได้เยอะ กลับได้น้อยลง บางคนก็มาทัก “ทำไมเจ้าไม่ใส่ปุ๋ย” แต่เรามองว่า หากระบบนิเวศดี ผลตอบรับมันก็ต้องดี ซึ่งคุณพ่อเองก็พยายามหาคำตอบ มองหางานวิจัยหรืออ่านหนังสือ และมีการลองผิดลองถูก กระทั่งมาเจอเกษตรฟื้นฟู”
น้องเจนนิเฟอร์ เผยว่า หลักการสำคัญของเกษตรฟื้นฟูมีอยู่ 5 ข้อ
1.ปกคลุมหน้าดินเสมอ อย่าให้ดินเปิดว่าง ต้องมีหญ้า หรือ ต้นไม้ เอาฟางมาปิดไว้
2.เลี้ยงสัตว์ทางเกษตร เช่น หมู วัว เพื่อเอามูลมาใช้ หรือ ไก่สามารถคุ้ยเขี่ยดินได้
3.ให้มีรากอยู่ในดินเสมอ ตรงไหนมีรากพืชในดินมักมีความอุดมสมบูรณ์ เพราะดินจะร่วนซุย
4.ลดการรบกวนดิน ไม่ไถ ไม่ขุด หรือพรวนดินมากไป คงให้ระบบนิเวศมันเชื่อมโยงกัน ซึ่งภายในดินบางครั้งมีเชื้อรา หรือ ไส้เดือน กำลังทำงานกันอยู่ หากเราไปไถ จะทำให้ความสัมพันธ์ที่เชื่อมโยงกันขาด
5.ปลูกพืชให้หลากหลายชนิด ไม่ปลูกเชิงเดี่ยว เพราะหากพืชนั้นป่วยเป็นโรคใดโรคหนึ่งก็จะเสียหายทั้งหมด
“เมื่อใช้หลักการ 5 ข้อนี้ แล้ว เราได้ผลผลิตมามาก เราก็ต้องรู้จักแปรรูป เช่น เอามาแช่อิ่มบ้าง ขายผลิตภัณฑ์อื่นๆ ซึ่งแบบนี้เป็นการตอบโจทย์ และยั่งยืนกว่า”
เจนนิเฟอร์ บอกว่า สิ่งที่เรานำมาปรับใช้ คือ ภูมิปัญญาของคนไทยสมัยโบราณ ผนวกกับทฤษฎีวิทยาศาสตร์ที่ทางคุณพ่อนำมาสอน ซึ่งเราก็ทำควบคู่กันไป
หลักการขาย และการจัดการในการสร้างกำไร
เจ้าของฟาร์ม Udon Organic Farm เผยว่า รายได้ของฟาร์มนั้นมีหลายช่องทาง ทั้งการท่องเที่ยว และการขายผลผลิต ซึ่งวิธีการขาย เราเลือกจับคู่ขายเป็นเซต เช่น ลูกค้าต้องการผัก ไข่ เนื้อ เรามีทั้งหมด เราจึงนำมาจัดเป็นเซตขาย หรือจะเป็นเซตผัก ขายเป็นตะกร้า ซึ่งการขายแบบนี้ ทุกคนแฮปปี้ เพราะได้กินของที่อยากกินจนครบ
“เราพยายามเสริมผักหรือผลไม้ที่ได้มาจากต่างประเทศที่กิน เช่น ร็อกเก็ต แรดิช มะเขือเทศอิตาลี เลมอน สิ่งเหล่านี้นิยมเอามาทำอาหารได้ เพราะมั่นใจในความปลอดภัย”
น้องเจน ทำฟาร์ม เผยว่า กลุ่มเป้าหมายของฟาร์มเราส่วนมากจะเป็นกลุ่มร้านอาหาร ในระดับมิชลิน โดยเฉพาะอาหารสุขภาพ หรือร้านอาหารแบรนด์ดัง เขาก็มาอุดหนุนของเรา นอกจากนี้เราก็กระจายความเสี่ยงด้วยการขายออนไลน์ด้วย...
สาวลูกครึ่งไทย-อังกฤษ มองว่า การทำเกษตร คือ โอกาส แม้ในสมัยก่อนคนจะมองว่าอาชีพนี้ไม่รวย แต่เราสามารถสร้างรายได้ได้ เวลาคิดคำนวณการผลิต เราจะคิดว่า “กำไร” ต่อไร่ เท่าไร ไม่ใช่ว่า เราได้ผลผลิตเท่าไร เวลาเราปลูกข้าว เราปลูกเป็นไร่ก็จริง แต่เราไม่ได้ขายข้าวออกไปเป็นตัน แต่เราขายให้คนที่เดินทางมาเยี่ยมชมไร่เรากิน รายได้มันก็เยอะกว่า นอกจากนี้ เราปลูกข้าวในไร่เดิม เราสามารถใช้พื้นที่ตรงนั้นต่อยอดอื่นๆ เช่น เอาวัว ไก่ ไปเลี้ยง ดีกว่าปล่อยทิ้งไว้เฉยๆ ในระหว่างรอฤดูกาลใหม่ นอกจากนี้ การใช้เทคโนโลยีก็สำคัญ จะช่วยตอบโจทย์เป็น Smart Farming ได้ แม้เทคโนโลยีที่ใช้จะไม่ได้หรูหรา เช่น ตั้งเวลารดน้ำ ทำขนาดนั้น แต่เราสามารถนำเทคโนโลยีมาช่วยในการจัดการได้
“เทคโนโลยีต่างๆ เราสามารถนำมาปรับใช้ได้ เพื่อลดรายจ่าย ไม่จำเป็นต้องผ่านคนกลาง หากทำได้ จะทำให้คุณมีรายได้เต็มๆ”
ช่วงท้าย น้องเจน รวมถึงคุณพ่อ มองว่า ประเทศไทย มีความโชคดี ในแง่ความอุดมสมบูรณ์มาก มีผัก พืช ผลไม้ กินได้ตลอดปี แต่ที่อังกฤษ หนาวก็ปลูกอะไรไม่ขึ้น คนไทย เรื่องกินเรื่องใหญ่มาก...และให้ความสำคัญกับการกินมาก ฉะนั้น ภูมิปัญญาในอดีตเกี่ยวกับอาหารการกิน มันยังคงอยู่ และเราก็ยังสรรหาของมากิน ไม่เหมือนของต่างชาติ ที่เขารู้แค่ว่าอะไรกินได้ กินไม่ได้ แต่ของเรายังพยายามสรรหาของกิน เดินเข้าป่าก็จะรู้ว่าอะไรกินได้ อะไรกินไม่ได้ เรียกว่า เอาตัวรอดได้ทุกสถานการณ์...
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
อ่านบทความที่น่าสนใจ
น้องเจน ทำฟาร์ม ลูกครึ่งอังกฤษจบชีวการแพทย์ ทิ้งงาน ตปท. ทำเกษตรอินทรีย์ - ไทยรัฐ
Read More
No comments:
Post a Comment