เมื่อวันที่ 3 พ.ย. ที่ผ่านมา กรมอุตุนิยมวิทยาออกมาระบุว่า จำเป็นจะต้องเลื่อนการประกาศวันเริ่มต้นฤดูหนาวปี 2566 ของประเทศไทยออกไปจากเดิมราว 2 สัปดาห์ เพราะในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายนของปีนี้ อากาศจะยังคงร้อนชื้นแบบฤดูฝนอยู่ แม้มวลอากาศเย็นจะเริ่มแผ่ปกคลุมลงมาจากทางตอนใต้ของประเทศจีนแล้วก็ตาม
มวลอากาศเย็นตามฤดูกาลดังกล่าวได้อ่อนกำลังลง เนื่องจากได้รับอิทธิพลจากปรากฏการณ์เอลนีโญ (El Niño) ซึ่งในปีนี้มีความรุนแรงเป็นพิเศษในแถบมหาสมุทรแปซิฟิก ทำให้หลายภูมิภาคของโลกต้องเผชิญภัยแล้ง คลื่นความร้อน และไฟป่าที่ลุกลามเป็นบริเวณกว้างมากขึ้น รวมทั้งปริมาณน้ำในแหล่งที่ใช้อุปโภคบริโภคกันเป็นประจำ ยังแห้งเหือดลงอย่างรวดเร็วน่าใจหาย จนบรรดาผู้เชี่ยวชาญหวั่นเกรงว่า ประชากรโลกจำนวนไม่น้อยจะต้องเผชิญกับหายนะในการดำรงชีวิตเร็ว ๆ นี้
เป็นที่ทราบกันดีว่าน้ำเป็นปัจจัยสำคัญอันจะขาดเสียมิได้ของมนุษย์ แต่มีน้ำจืดเพียง 1% จากปริมาณน้ำทั้งหมดที่มีอยู่ในโลก เหลืออยู่ให้เรานำมาใช้อุปโภคบริโภคในชีวิตประจำวันได้ ยิ่งไปกว่านั้น ผลวิจัยล่าสุดที่ตีพิมพ์ในวารสาร Science ยังชี้ว่า ปรากฏการณ์เอลนีโญที่รุนแรงขึ้นเพราะการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลก กำลังทำให้น้ำในซีกโลกใต้เหือดแห้งหายไปอย่างรวดเร็วตลอดช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ซึ่งสิ่งนี้จะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศและการดำรงชีวิตของผู้คนทั่วโลกด้วย
ดร.เควิน คอลลินส์ นักวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมจากมหาวิทยาลัย Open University ของออสเตรเลีย ได้อธิบายถึงแนวโน้มทางภูมิอากาศที่ค้นพบในงานวิจัยข้างต้น ซึ่งทีมนักวิทยาศาสตร์นานาชาติจากสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน (CAS) ร่วมกับองค์การวิจัยวิทยาศาสตร์และอุตสาหกรรมแห่งเครือจักรภพ (CSIRO) ของออสเตรเลีย ได้เป็นผู้ทำการศึกษาและเขียนรายงานชิ้นดังกล่าวขึ้น
ดร.คอลลินส์ กล่าวอธิบายในบทความของเขาซึ่งเผยแพร่ในเว็บไซต์ The Conversation ว่าข้อมูลการสำรวจด้วยดาวเทียมและการตรวจวัดปริมาณน้ำจืดในแม่น้ำลำธารสายต่าง ๆ ระหว่างปี 2001-2020 ชี้ว่าปรากฏการณ์เอลนีโญที่รุนแรงขึ้น ทำให้ปริมาณน้ำที่ใช้ในการดำรงชีวิตเหือดแห้งไปในแถบซีกโลกใต้มากกว่าซีกโลกเหนือหลายเท่าตัว
คำว่า “ปริมาณน้ำที่มีอยู่” (water availability) หมายถึงปริมาณน้ำที่ใช้อุปโภคบริโภคได้ ซึ่งเราสามารถคำนวณจากการนำตัวเลขปริมาณน้ำฝนที่ตกลงบนผืนแผ่นดิน มาลบออกด้วยปริมาณน้ำที่ระเหยเป็นไอกลับคืนสู่ชั้นบรรยากาศ โดยในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา ปริมาณสุทธิของน้ำที่มีอยู่ในซีกโลกใต้ ลดลงไปมากจนน่าวิตกอย่างยิ่ง
ผลวิเคราะห์จากงานวิจัยล่าสุดชี้ว่า ปริมาณน้ำที่เหลืออยู่สำหรับใช้อุปโภคบริโภคของภูมิภาคอเมริกาใต้, ทวีปแอฟริกาเกือบทั้งหมด, รวมทั้งบางส่วนของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และออสเตรเลีย มีแนวโน้มที่จะลดลงไปเรื่อย ๆ อย่างน่าใจหาย ซึ่งในระยะยาวความเปลี่ยนแปลงนี้จะส่งผลกระทบทางลบต่อภูมิอากาศของโลกทั้งใบ รวมทั้งชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในซีกโลกเหนือด้วย แม้ว่าในปัจจุบัน หลายประเทศในซีกโลกเหนือสามารถบริหารจัดการทรัพยากรน้ำได้ดีกว่า จนส่งผลให้ยังมีปริมาณน้ำคงเหลือที่สมดุลกับความต้องการอุปโภคบริโภคของผู้คนมากกว่า
บทความของดร.คอลลินส์ บอกว่า หายนะเรื่องทรัพยากรน้ำที่เกิดขึ้นกับผู้คนในซีกโลกใต้ จะพลอยส่งผลกระทบร้ายแรงต่อกลุ่มประเทศในซีกโลกเหนือไปด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังเช่นกรณีของป่าฝนแอมะซอนในทวีปอเมริกาใต้ อันเป็นสถานที่ทรงอิทธิพลสำคัญในการกำหนดควบคุมระบบภูมิอากาศโลก ทั้งเป็นระบบนิเวศขนาดใหญ่ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตหลากหลายชนิดพันธุ์
หากป่าฝนแอมะซอนประสบหายนะจากการที่น้ำในป่าเหือดแห้งลง ความตายและการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ของพืชและสัตว์นานาชนิดจะต้องมาถึงในไม่ช้านี้ เนื่องจากไฟป่าและภาวะอดอยากขาดแคลนอาหาร ซึ่งก็จะปลดปล่อยปริมาณคาร์บอนหลายพันล้านตันที่ป่ากักเก็บไว้ออกสู่ชั้นบรรยากาศ จนทำให้ภาวะโลกร้อน-โลกรวน จากปรากฏการณ์เรือนกระจกร้ายแรงยิ่งกว่าเก่า
ความแห้งแล้งผิดปกติที่เกิดขึ้นในอเมริกาใต้และแอฟริกา ยังส่งผลกระทบทางสังคม-เศรษฐกิจ ได้อย่างคาดไม่ถึง เนื่องจากสองภูมิภาคใหญ่นี้เป็นแหล่งผลิตอาหารที่สำคัญของโลก โดยมีการทำเกษตรกรรมเพื่อผลิตถั่วเหลือง, ผักผลไม้, เนื้อสัตว์, น้ำตาล, โกโก้, และกาแฟปริมาณมหาศาลออกสู่ท้องตลาด
หากทรัพยากรน้ำถูกแบ่งสันปันส่วนอย่างจำกัดจำเขี่ยมากขึ้นเรื่อย ๆ แน่นอนว่าราคาอาหารในตลาดโลกจะถีบตัวสูงขึ้น ส่งผลต่อปัญหาความยากจน รวมทั้งเกิดศึกแย่งชิงทรัพยากรในการผลิตอาหาร ซึ่งอาจกลายเป็นความขัดแย้งทางสังคมและการเมือง หรือแม้กระทั่งเป็นชนวนก่อสงครามขึ้นได้
ความแห้งแล้งเนื่องจากการสูญเสียปริมาณน้ำจืดที่มีอยู่ จะส่งผลกระทบทางลบต่อพื้นที่เพาะปลูกและพื้นที่สีเขียวตามธรรมชาติ โดยพืชพรรณของป่าไม้จะเสื่อมโทรมและตายลงเป็นจำนวนมาก ซึ่งจะส่งผลต่อเนื่องไปยังอุณหภูมิเฉลี่ยของโลก ที่อาจจะพุ่งสูงขึ้นเหนือระดับ 35 องศาเซลเซียส ภายในปี 2100 หากเราสูญเสียป่าไม้จนอัตราการปล่อยคาร์บอนสู่ชั้นบรรยากาศยังคงสูงลิ่วโดยไม่ลดลงไปจากระดับปัจจุบันเลย
ภาวะโลกร้อนนั้นส่งผลร้ายต่อสุขภาพ, การทำมาหาเลี้ยงชีพ, และพื้นที่ตั้งถิ่นฐานของมนุษย์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แม้บริเวณที่อยู่อาศัยของประชากรส่วนใหญ่ของโลก จะไม่ได้อยู่ในเขตที่เกิดภาวะน้ำแห้งเหือดอย่างรุนแรงก็ตาม ตัวอย่างเช่นภัยแล้งในพื้นที่ตอนกลางของออสเตรเลียซึ่งมีประชากรเบาบาง จะส่งผลกระทบต่อเมืองใหญ่แถบชายฝั่งด้วยเช่นกัน
เหตุไฟป่าลุกลามและพายุโหมกระหน่ำที่รุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ จะเป็นแรงกดดันให้เกิดการอพยพโยกย้ายถิ่นฐาน รวมทั้งการแย่งชิงทรัพยากรที่เหลือน้อยลงทุกทีในอนาคต หากมนุษย์ไม่สามารถเรียนรู้จากความผิดพลาดในอดีต และปรับตัวแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมได้อย่างเหมาะสมและรวดเร็วทันท่วงที ในภาวะที่โลกกำลังนับถอยหลังสู่จุดวิกฤตทางสิ่งแวดล้อม ที่เราไม่อาจจะทำให้หวนคืนเป็นเหมือนดังเดิมได้อีกแล้ว
เอลนีโญรุนแรงทำฤดูหนาวมาช้า-น้ำจืดจ่อแห้งหมดซีกโลกใต้ - BBC.com
Read More
No comments:
Post a Comment