‘คารม’ เผย ครม. มีมติเห็นชอบให้ขยายเวลาการดำเนินการจัดทำกฎหมายลำดับรองที่ออกตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้รับงานไปทำที่บ้าน พ.ศ. 2553 ออกไป 1 ปี ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ
วันนี้ (16 พ.ย.) นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (วันที่ 14 พฤศจิกายน 2566) มีมติเห็นชอบ ให้ขยายระยะเวลาการดำเนินการจัดทำกฎหมายลำดับรองที่ออกตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้รับงานไปทำที่บ้าน พ.ศ. 2553 ออกไป 1 ปี นับตั้งแต่วันที่ 27 พฤศจิกายน 2566 ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ
นายคารม กล่าวว่า พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้รับงานไปทำที่บ้าน พ.ศ. 2553 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 15 พฤษภาคม 2554 ซึ่งบทบัญญัติตามพระราชบัญญัติฉบับนี้กำหนดให้ออกกฎหมายลำดับรอง จำนวน 19 ฉบับ โดย สธ. ได้ยกร่างกฎหมายลำดับรองและประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว จำนวน 18 ฉบับ ขณะนี้ยังมีกฎหมายลำดับรองที่อยู่ในขั้นตอนการจัดทำร่างกฎหมายอีก 1 ฉบับ แต่โดยที่พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้รับงานฯ ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีผลใช้บังคับอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกำกฎหมายฯ มีผลบังคับใช้ การออกกฎหมายลำดับรอง จึงต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 27 พฤศจิกายน 2566 ตามพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายฯ ประกอบกับมติคณะรัฐมนตรี จึงมีความจำเป็นต้องเสนอคณะรัฐมนตรี เพื่อขอขยายระยะเวลาในการออกกฎหมายลำดับรอง จำนวน 1 ฉบับดังกล่าว
“ทั้งนี้ ร่างประกาศกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เกี่ยวกับหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขการเรียกหรือรับหลักประกันการทำงานหรือหลักประกันความเสียหายในการทำงานจากผู้รับงานไปทำที่บ้าน พ.ศ. .... อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 14 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้รับงานฯ มีสาระสำคัญเป็นการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขให้ผู้จ้างงานสามารถเรียกหรือรับหลักประกันการทำงาน หลักประกันความเสียหายในการทำงานจากผู้รับงานไปทำที่บ้าน เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้จ้างงานและผู้รับงาน กรณีที่งานที่รับไปทำมีมูลค่าสูงหรือมีปริมาณมาก เพื่อคุ้มครองผู้รับงานไปทำที่บ้าน มิต้องเดือดร้อนในการหาหลักประกันเกินกว่าที่กำหนด และป้องกันมิให้ผู้จ้างงานแสวงหาผลประโยชน์จากหลักประกันโดยไม่สมควร” นายคารมกล่าว
ครม.เห็นชอบขยายเวลาจัดทำกฎหมายลูก พ.ร.บ.คุ้มครองผู้รับงานไปทำที่บ้าน ออกไป 1 ปี - ผู้จัดการออนไลน์
Read More
No comments:
Post a Comment