“นิกร จำนง” เตรียมเดินสายฟังความเห็นแก้รัฐธรรมนูญ จากทั้งฝั่ง สว. และ กมธ. ก่อนไปหารือเพื่อให้ช่วยคิดคำถามจากนักเรียน นักศึกษา วางกรอบ อนุฯ ทำงานจบก่อนสิ้นปี
วันที่ 25 ตุลาคม 2566 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายนิกร จำนง กรรมการและโฆษกคณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติเพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 เปิดเผยว่าวันเดียวกันมีการประชุมคณะอนุกรรมการ 2 ชุด คือคณะอนุกรรมการศึกษาแนวทางในการทำประชามติเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญฯ และคณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับแนวทางในการทำประชามติฯ ที่มีตนเป็นประธาน โดยในส่วนที่ประชุมคณะอนุกรรมการศึกษาแนวทางในการทำประชามติฯ ยังหาข้อยุติไม่ได้ว่าจะต้องทำประชามติกี่ครั้ง จะรอฟังความเห็นจากคณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นฯ ที่จะไปรับฟังความเห็นจากสมาชิกรัฐสภาก่อน รวมถึงพิจารณาในเรื่องของค่าใช้จ่ายว่าจะต้องใช้เท่าไร ซึ่งจะมีการเชิญคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มาชี้แจง ขณะที่คณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นฯ จะไปรับฟังความเห็นจาก กมธ. พัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา ที่มีนายเสรี สุวรรณภานนท์ สว.เป็นประธาน ในวันที่ 30 ต.ค. เวลา 10.00 น. ที่รัฐสภา จากนั้นวันที่ 2 พ.ย. จะไปรับฟังความเห็น กมธ.พัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายพริษฐ์ วัชรสินธุ เป็นประธาน เวลา 13.30 น. ที่รัฐสภา โดยจะไปหารือเพื่อให้ช่วยคิดคำถาม วันที่ 10 พ.ย. จะไปรับฟังความเห็นของนักเรียน นักศึกษาจาก ม.ธรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ ม.รามคำแหง ม.มหิดล มหาวิทยาลัยราชภัฏ และภาคส่วนต่างๆ จากนั้นวันที่ 14 พ.ย. เวลา 10.00 น. จะไปรับฟังความเห็นหัวหน้าพรรคและผู้แทนพรรคก้าวไกล ที่พรรคก้าวไกล
นายนิกร กล่าวอีกว่า จะมีการออกไปฟังทั้ง 4 ภูมิภาคด้วย โดยจะตั้งคณะทำงานขึ้นมา รวมถึงยังมีช่องทางการรับฟังความคิดเห็น ของประชาชนทางออนไลน์ ผ่านทาง E-mail ของสำนักกฎหมายและระเบียบการสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี โดยจะกำหนดเป็นอีเมลเฉพาะ รวมถึงช่องทางศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ของรัฐบาล 1111 สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี สำหรับกรอบการทำงานของคณะอนุกรรมการฯ 2 ชุด จะพยายามทำงานให้เสร็จภายในสัปดาห์ที่ 2 หรืออย่างช้าสัปดาห์ที่ 3 ของเดือน ธ.ค. เพื่อจะสรุปความเห็น จากนั้นต้นปี 67 จะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่ง ครม.จะเป็นผู้พิจารณาและตัดสินใจ หากครม.เห็นด้วย ก็จะนำไปสู่การออกเป็นคำถาม และเมื่อเป็นคำถามแล้วจะต้องทำประชามติให้เสร็จไม่น้อยกว่า 90 วัน และไม่เกิน 120 วัน เมื่อถามว่า จะได้เข้าคูหาไปออกเสียงประชามติช่วงไหน นายนิกร กล่าวว่า ที่นายภูมิธรรม เวชยชัย ประธานคณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติฯ กำหนดไว้คือ ไตรมาสแรกของปี 67
คกก.ทำประชามติ จ่อเดินสายฟังความเห็น “สว.-กมธ.-นักศึกษา” แก้รัฐธรรมนูญ - ไทยรัฐ
Read More
No comments:
Post a Comment