ภาพยนตร์ “อินเดียนา โจนส์ กับกงล้อแห่งโชคชะตา” (Indiana Jones and the Dial of Destiny) ที่ออกฉายทั่วโลกไปเมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ถือเป็นภาค 5 และภาคสุดท้ายของภาพยนตร์แนวผจญภัยชุดนี้แล้ว ทำให้บรรดาแฟนภาพยนตร์ผู้ชื่นชอบหลงใหลในตัวของ ดร. โจนส์ นักโบราณคดีสายล่าสมบัติ ต่างรู้สึกเสียดายกันไม่ใช่น้อย
ตลอดช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา ภาพยนตร์ชุดอินเดียนา โจนส์ ได้เป็นสื่อหลักที่สร้างภาพจำเกี่ยวกับวงการโบราณคดีให้กับเหล่าสาธารณชนทั่วโลก แต่ถึงกระนั้นก็ตาม บรรดานักโบราณคดีตัวจริงต่างตะขิดตะขวงใจกับบทบาทเชิงบู๊ล้างผลาญของดร. โจนส์ ที่ไม่ได้ทำแค่ขุดค้นหรือสืบหาโบราณวัตถุล้ำค่าเท่านั้น แต่ยังเข้าต่อยตีและสังหารคนร้าย รวมทั้งทำลายโบราณสถานอายุเก่าแก่จนราบเป็นหน้ากลองทุกครั้ง
อันที่จริงแล้ว ประเด็นเรื่องบทบาทของอินเดียนา โจนส์ ในภาพยนตร์ ยังคงเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ว่าเขาคือนักวิชาการด้านโบราณคดีหรือนักล่าสมบัติกันแน่ เพราะสองอาชีพนี้แม้จะทำงานในลักษณะที่ใกล้เคียงกัน แต่ก็มีความแตกต่างกันอยู่มากโข
นักวิชาการด้านโบราณคดีนั้น ทำการศึกษาทุกสิ่งในแหล่งขุดค้นทางโบราณคดีอย่างเป็นองค์รวมด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ โดยไม่มุ่งเน้นไปที่การค้นหาโบราณวัตถุชิ้นใดชิ้นหนึ่ง แต่จะศึกษาทั้งตัวโบราณวัตถุและบริบทที่อยู่แวดล้อมอย่างละเอียด เพื่อให้ทราบถึงเรื่องราวของผู้คนและชุมชนในยุคโบราณเป็นสำคัญ
ส่วนนักล่าสมบัติหรือที่บางคนเรียกว่า “โจรปล้นสุสาน” จะมุ่งค้นหาวัตถุโบราณล้ำค่าที่ตนต้องการ เพื่อให้ได้มาซึ่งเงินทองหรือผลประโยชน์ส่วนบุคคลเท่านั้น โดยจะไม่ให้ความสนใจกับโบราณสถานหรือแหล่งขุดค้นทางโบราณคดีซึ่งเป็นที่อยู่ของวัตถุล้ำค่าเลย ตัวละครในวัฒนธรรมประชานิยม (pop culture) ที่มีพฤติกรรมเช่นนี้ ได้แก่ลารา ครอฟต์ จากภาพยนตร์ชุด Tomb Raider และเนธาน เดรก จากเกม Uncharted
เมื่อหันกลับมาพิจารณาถึงพฤติกรรมของอินเดียนา โจนส์ เราจะพบว่าเขามีทั้งลักษณะของนักวิชาการและนักล่าสมบัติผสมปนเปกันอยู่ ในขณะที่เขามีวุฒิการศึกษาระดับปริญญาเอกด้านโบราณคดีและเป็นอาจารย์ผู้สอนในมหาวิทยาลัย แต่เมื่อออกทำงานวิจัยภาคสนาม เขากลับเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับแก๊งอาชญากรรมหรือความขัดแย้งทางการเมือง รวมทั้งออกบทบู๊ล้างผลาญที่ทำให้โบราณสถานอันประเมินค่าไม่ได้ถูกทำลายลงจนสิ้นซาก
ผศ.ดร. คริสโตเฟอร์ โลว์แมน นักโบราณคดีจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียวิทยาเขตเออร์ไวน์ (UCI) ของสหรัฐฯ บอกกับเว็บไซต์ IFL Science ว่า “วิชาโบราณคดีคือการศึกษาทั้งวัตถุสิ่งของและผู้คนในอดีต เพื่อให้เข้าใจถึงเรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่างปัจเจกบุคคล ชุมชน และวัฒนธรรมของยุคสมัยนั้น แต่ดูเหมือนว่าอินเดียนา โจนส์ จะมุ่งเน้นการค้นหาช่วงชิงวัตถุล้ำค่าเพียงชิ้นใดชิ้นหนึ่งมากกว่า”
“แม้ส่วนหนึ่งของภาพยนตร์ชุดนี้จะฉายภาพนักวิชาการของ ดร.โจนส์ ในแบบที่คล้ายกับนักโบราณคดีมืออาชีพยุคปัจจุบัน ซึ่งก็คือการเป็นอาจารย์ที่ทำงานสอนในมหาวิทยาลัย สลับกับการออกทำวิจัยภาคสนามเป็นครั้งคราว แต่สิ่งที่เขาทำเมื่อไปถึงแหล่งโบราณคดีนั้น ถือว่าเลวร้ายกว่านักโบราณคดีตัวจริงในยุคแรกเริ่มของวงการ ตอนช่วงทศวรรษ 1930 เสียอีก”
“เราอาจจะถือว่า ดร.โจนส์ เป็นนักวิชาการด้านโบราณคดีคนหนึ่งได้ แต่ก็เป็นนักโบราณคดีที่แย่มาก”
ดร.โลว์แมน อธิบายเพิ่มเติมว่า นักโบราณคดีในช่วงต้นของศตวรรษที่ 20 นั้น ให้ความสนใจกับการค้นหาล่าสมบัติเสียยิ่งกว่าการศึกษาเรื่องราวในอดีต ผลก็คือพวกเขาต่างขาดจิตสำนึกด้านการอนุรักษ์ ทำให้การขุดค้นหลายครั้งสร้างความเสียหายใหญ่หลวงต่อแหล่งโบราณคดี จนไม่หลงเหลือไว้เป็นมรดกให้กับอนุชนรุ่นหลังได้เข้าทำการศึกษาต่อไป
คำกล่าวของจอร์จ ลูคัส ผู้สร้างตัวละครอินเดียนา โจนส์ ขึ้นมาจากจินตนาการของเขา ได้ยืนยันถึงแนวคิดข้างต้นที่มองว่าดร. โจนส์ มีสัญชาตญาณความเป็นนักล่าสมบัติในตัวมากกว่า “เขาคือโจรปล้นสุสาน ที่ใคร ๆ ก็จ้างวานให้ช่วยทำงานนี้ได้ อันที่จริงแล้วเขาคือนักล่าขุมทรัพย์ ทั้งยังเป็นนักโบราณคดีนอกกฎหมาย”
อย่างไรก็ตาม ดร.โลว์แมนมองว่า อินเดียนา โจนส์ คือตัวแทนของนักโบราณคดีที่เคยมีตัวตนอยู่จริงในช่วงปลายศตวรรษที่ 18 ถึงช่วงต้นศตวรรษที่ 20 เนื่องจากนักโบราณคดีในยุคนั้นมักทำงานให้กับกองทัพของชาติที่ล่าอาณานิคม โดยจะทำหน้าที่ศึกษาประวัติศาสตร์และค้นหาวัตถุโบราณล้ำค่าของดินแดนที่ถูกยึดครอง อย่างเช่นการรุกรานอียิปต์ของจักรพรรดินโปเลียนในปี 1798 ซึ่งทำให้มีการค้นพบ “ศิลาโรเซตตา” (Rosetta Stone) ที่ช่วยให้นักโบราณคดีสามารถอ่านตัวอักษรไฮโรกลีฟิกได้
ตลอดช่วงศตวรรษที่ 19 งานด้านโบราณคดีล้วนมีส่วนพัวพันกับการล่าอาณานิคม และการแสวงประโยชน์จากดินแดนที่ถูกยึดครองอย่างเอารัดเอาเปรียบ ทำให้มีการผองถ่ายวัตถุโบราณล้ำค่าจำนวนมากจากแหล่งกำเนิด ไปยังพิพิธภัณฑ์ของเจ้าอาณานิคมในยุโรปและกลายเป็นของสะสมส่วนตัวของคนชั้นสูงไปไม่น้อย
ต่อมาในช่วงครึ่งหลังของศตวรรษที่ 20 มาตรฐานในการทำงานด้านโบราณคดีเริ่มถูกพัฒนาขึ้น โดยมีการวางหลักเกณฑ์ควบคุมการเคลื่อนย้ายวัตถุโบราณ รวมทั้งมีข้อกำหนดในการทำรายงาน โดยต้องมีภาพจำลองและแผนที่ของแหล่งโบราณสถานประกอบเสมอ
ในปัจจุบันยังมีการประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการศึกษาทางโบราณคดีอย่างมาก ตัวอย่างเช่นการใช้อุปกรณ์วิเคราะห์สารและเทคนิควิเคราะห์ดีเอ็นเอ ทั้งมุ่งเน้นการศึกษาสังคม วัฒนธรรม และประวัติศาสตร์อย่างเป็นองค์รวม มากกว่าจะทุ่มเทความสนใจไปที่โบราณวัตถุเพียงชิ้นเดียว
ดร.โลว์แมน กล่าวสรุปว่า “แม้นักโบราณคดีหลายคนจะตำหนิว่า ตัวละครอินเดียนา โจนส์ ทำให้เกิดภาพจำที่บิดเบือน ซึ่งส่งผลให้คนทั่วไปเข้าใจผิดเกี่ยวกับนักโบราณคดีตัวจริง แต่เราก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า ภาพยนตร์ชุดนี้ได้ดึงดูดผู้คนให้หันมาสนใจโบราณคดีและประวัติศาสตร์ที่อยู่เบื้องหลังการผจญภัย จนเกิดการศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมด้วยตนเองหลังชมภาพยนตร์แล้ว ซึ่งถือเป็นเรื่องดี เหมือนกับที่ภาพยนตร์จูราสสิกพาร์กทำให้คนทั่วโลกสนใจวิชาบรรพชีวินวิทยามากขึ้น”
จับผิด “อินเดียนา โจนส์” นักโบราณคดีเผยสิ่งที่จะไม่ทำในชีวิตจริง - บีบีซีไทย
Read More
No comments:
Post a Comment