หลังจากที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประกาศผลคะแนนเลือกตั้ง 2566 อย่างไม่เป็นทางการ สรุปว่า "พรรคก้าวไกล" ได้จำนวน ส.ส. เป็นอันดับ 1 โดยเบื้องต้นได้ตัวเลข ส.ส.แบ่งเขต 113 ที่นั่ง ส.ส.บัญชีรายชื่อ 39 ที่นั่ง รวมได้ส.ส. 152 ที่นั่ง (ข้อมูล ณ เวลา 12.36 น.วันที่ 15 พ.ค. 2566)
ซึ่งคุณพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ได้แถลงข่าวที่พรรคก้าวไกล โดยระบุว่า การทำงานต่อจากนี้ มีประมาณ 2-3 ส่วน
หนึ่ง คือการเจรจาจัดตั้งรัฐบาล พรรคก้าวไกลจะนำโรดแมปที่ได้สัญญาไว้กับประชาชนก่อนการเลือกตั้ง เพื่อนำไปพูดคุยกับพรรคร่วมรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นการแก้ปัญหาเก่า เผชิญปัญหาใหม่ และพร้อมพาประเทศไทยไปสู่อนาคต ทำประชามติให้มี สสร. ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ พัฒนาเศรษฐกิจสร้างความเจริญเติบโตและลดความเหลื่อมล้ำไปในคราวเดียวกัน (Inclusive Growth)
สอง ตั้งทีมงานเพื่อเปลี่ยนผ่านรัฐบาล เพราะเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องมีคณะทำงานร่วมกับทุกพรรคการเมือง เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนผ่านอำนาจ เปลี่ยนผ่านรัฐบาล อย่างเป็นรูปธรรมและมีประสิทธิภาพ
สาม จะมีการเดินสายพบปะประชาชน ภาคประชาสังคม ข้าราชการ และภาคธุรกิจ เพื่อเดินหน้าทำความเข้าใจเกี่ยวกับนโยบายของพรรคก้าวไกล ให้ผลการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นฉันทามติที่มาจากพี่น้องประชาชน สามารถทำงานร่วมกับทุกภาคส่วนได้ เพื่อพาประเทศไทยไปสู่อนาคต ไปสู่ความเปลี่ยนแปลงที่มีประสิทธิภาพและมีอุดมการณ์ เป็นความเปลี่ยนแปลงที่พวกเราถวิลหา
ในครั้งนี้ Techsauce จะพาไปส่อง "นโยบายด่วน 100 วันแรก" ของ “พรรคก้าวไกล” จะทำอะไรบ้างหากได้เป็นรัฐบาล
สำหรับนโยบาย 100 วันแรกที่พรรคก้าวไกลจะทำมีดังนี้
1. ประชามติ จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จัดให้มีการทำประชามติเพื่อถามประชาชนว่าควรมีร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ ภายใน 100 วันแรก ของรัฐบาลก้าวไกล
2. ยกเลิกการประกาศกฎอัยการศึกในชายแดนใต้ ยุติการใช้กฎอัยการศึกในจังหวัดชายแดนใต้ เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นในการคลี่คลายสถานการณ์รุนแรง
3. ประชามติยกเลิกราชการส่วนภูมิภาค ไม่มีใครตกงาน-เสียประโยชน์
- ซึ่งจะจัดให้มีประชามติภายใน 1 ปี เพื่อถามประชาชนว่าเห็นชอบหรือไม่ ให้มีการยกเลิกราชการส่วนภูมิภาค และโอนถ่ายอำนาจการบริหารจังหวัดไปสู่ท้องถิ่น
- หากประชามติได้รับความเห็นชอบจากประชาชน จะปูทางไปสู่การเปลี่ยนสังกัดของข้าราชการส่วนภูมิภาคและฝ่ายท้องที่ (กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน)
- โดยไม่มีตำแหน่งใดที่หาย และไม่มีใครตกงานหรือสูญเสียสิทธิประโยชน์ที่เคยได้รับ เดิมที่ทำแยกกันภายใต้ผู้ว่าฯ แต่งตั้ง อธิบดีกรม ปลัดกระทรวง เป็นการทำงานร่วมกันภายใต้ผู้บริหารท้องถิ่นที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนในพื้นที่ จากเดิมที่ทำงานแยกกันภายใต้ผู้ว่าฯ แต่งตั้ง อธิบดีกรม ปลัดกระทรวง ที่ถูกแต่งตั้งโดยราชการส่วนกลาง ไปเป็นรูปแบบใหม่ที่มีการทำงานร่วมกันภายใต้ผู้บริหารท้องถิ่น (นายกจังหวัด) ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนในพื้นที่
4. ยกเลิกกฎระเบียบและคำสั่ง คสช. ที่ล็อกคอ-ล้วงลูกท้องถิ่น ยกเลิกคำสั่ง คสช. 8/2560 ที่เข้ามาแทรกแซงการบริหารงานบุคคลของ อปท. ทำให้ท้องถิ่นขาดกำลังคน และยกเลิกกฎระเบียบของกระทรวงมหาดไทย ที่จำกัดอำนาจขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และไม่จำเป็นต่อการบริหารราชการท้องถิ่น เช่น การใช้จ่ายประมาณของท้องถิ่น การสอบสวนผู้บริหารท้องถิ่น การลาของผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่น การเห็นชอบข้อบัญญัติท้องถิ่น
5. ห้ามใช้เงินหลวงโปรโมทตัวเอง ผ่านการตรวจสอบการใช้งบประชาสัมพันธ์ภาครัฐอย่างเข้มข้น และกำหนดว่าการใช้งบจะต้องเป็นการโฆษณาโครงการ หรือผลงานของหน่วยงานเท่านั้น โดยห้ามไม่ให้ใช้เพื่อโฆษณาตัวบุคคล ไม่ว่าจะเป็นรัฐมนตรี อธิบดี หรือหัวหน้าหน่วยงาน ที่ไม่ได้ควักเงินตัวเองมาทำโครงการ
6. กฎโรงเรียนต้องไม่ขัดหลักสิทธิมนุษยชน โดยออกข้อกำหนด กฎโรงเรียนต้องห้าม เพื่อไม่ให้โรงเรียนออกกฎระเบียบของโรงเรียนที่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนของนักเรียน (เช่น การบังคับเรื่องทรงผม การลงโทษด้วยวิธีรุนแรงทุกประเภท การบังคับให้เด็กบริจาคเงินหรือสิ่งของ การบังคับซื้อของ และการบังคับให้ทำกิจกรรมที่ไม่เกี่ยวกับการเรียนการสอน) รวมทั้งอบรมครูและบุคลากรทางการศึกษาอื่นให้มีความเข้าใจเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน ตระหนักถึงความสำคัญของสิทธิในเนื้อตัวร่างกายของเด็ก
7. ครูละเมิดสิทธิ พักใบประกอบทันที พักใบประกอบวิชาชีพครูทันทีเมื่อมีการละเมิดสิทธิเด็ก (เช่น การทำร้ายร่างกายเด็ก การล่วงละเมิดทางเพศ) เพื่อป้องกันไม่ให้มีการงดโทษหรือลงโทษเพียงแค่ย้ายโรงเรียน ซึ่งอาจนำไปสู่ความไม่ปลอดภัยของผู้เรียนในสถานศึกษาอื่น
รวมถึงแก้ปัญหาการปกปิดความผิดโดยโรงเรียนเมื่อเกิดเหตุการละเมิดสิทธิกับนักเรียน ผ่านการจัดให้มีผู้ตรวจการนักเรียน (Student Ombudsman) ที่ขึ้นตรงกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อให้เป็นช่องทางร้องเรียนที่เป็นอิสระจริงจากโรงเรียน-เขตพื้นที่
8. เลิกให้ครูนอนเวร ยกเลิกการให้ครูนอนเวรเฝ้าโรงเรียน เพื่อให้คุณครูสามารถโฟกัสไปที่การเรียนการสอนเพื่อพัฒนาผู้เรียนได้อย่างเต็มที่
9. ยกเลิกพิธีรีตองในการประเมินครู-รับแขก เช่น การจัดแต่งอาคารสถานที่ต้อนรับผู้ประเมิน เพื่อให้คุณครูสามารถโฟกัสไปที่การเรียนการสอนเพื่อพัฒนาผู้เรียนได้อย่างเต็มที่
10. เปลี่ยนนิคมสหกรณ์เป็นโฉนดทันที เร่งเปลี่ยนที่ดินนิคมสหกรณ์ทุกแห่งทั่วประเทศ เป็นเอกสารสิทธิ หรือโฉนดให้เกษตรกรและประชาชนทันที
11. หยุดบังคับติดตั้งระบบ AIS ยกเลิกนโยบายกำหนดให้เรือประมงพาณิชย์ติดตั้งระบบ AIS ที่ซ้ำซ้อนกับ VMS ที่มีอยู่แล้ว เพื่อให้เหลือเพียงระบบเดียว
12. "ค่าไฟแฟร์" ถูกและเป็นธรรมสำหรับประชาชน โดยการลดค่าไฟให้กับประชาชนได้อย่างน้อย 70 สตางค์ต่อหน่วย (เฉลี่ยบ้านละ 150 บาท) โดยปรับนโยบายเพื่อให้ความสำคัญกับประชาชนก่อนกลุ่มทุน (เช่น การเปลี่ยนนโยบายก๊าซธรรมชาติให้โรงแยกก๊าซร่วมหารต้นทุนก๊าซใน Energy Pool ด้วย และให้ก๊าซจากอ่าวไทยขายให้โรงไฟฟ้าก่อนโรงงานอุตสาหกรรม หรือขายก๊าซให้โรงงานอุตสาหกรรมในราคา LNG เพื่อให้ก๊าซจากอ่าวไทยราคาถูกกว่าป้อนโรงไฟฟ้าได้มากขึ้น) เจรจาสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับสัมปทานทุนใหญ่พลังงานใหม่ เพื่อลดต้นทุนที่เกิดขึ้นจากค่าความพร้อมจ่ายของโรงไฟฟ้าที่ไม่ได้เดินเครื่อง
13. หลังคาสร้างรายได้ เปิดเสรีโซลาร์เซลล์ ประกันราคาซื้อพลังงานสะอาดสำหรับครัวเรือน โดยปลดล็อกให้ประชาชนทุกบ้านติดแผงโซลาร์ ด้วยระบบ net metering (หักลบหน่วยขาย/ซื้อ) เพื่อช่วยลดค่าไฟฟ้า และเปิดโอกาสให้ขายไฟฟ้าที่ผลิตเกินใช้ กลับคืนให้รัฐในราคาตลาด
รวมทั้งเพิ่มแต้มต่อให้ประชาชนผู้ผลิตพลังงานหมุนเวียน โดยการสนับสนุนให้เกิดการรับซื้อไฟฟ้าส่วนเกิน (จากระบบ net metering) จากโซลาร์เซลล์และพลังงานหมุนเวียนที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อย ในราคาที่สูงกว่าตลาด และประกันราคารับซื้อไฟฟ้าขั้นต่ำ หากยังไม่มีตลาดที่ 2.2 บาท/หน่วย
14. ลดรายจ่าย SME : หักค่าใช้จ่ายเหมาภาษี เพิ่มจาก 60% เป็น 90% โดยเปิดให้ SMEs หักค่าใช้จ่ายเหมาภาษีบุคคลได้เพิ่มเป็น 90% (จากเดิม 60%)
15. เพิ่มแต้มต่อให้ SME: หวยใบเสร็จ ซื้อของร้านค้ารายย่อย ทั้งคนซื้อคนขายได้หวย ลุ้นรวยเงินล้าน โดยมีข้อเสนอเพิ่มลูกค้าให้ SMEs โดยการเพิ่มแรงจูงใจให้ประชาชนที่เลือกซื้อสินค้า SME ได้รับแถมสลากกินแบ่งของรัฐบาลไปลุ้นรางวัลสำหรับคนซื้อ หรือ ประชาชนทั่วไป: เมื่อซื้อสินค้าจาก SMEs ครบ 500 บาท สามารถแลกสลากกินแบ่งรัฐบาลได้ 1 ใบ (จำกัดไม่เกิน 2 ใบ/คน/เดือน และ จำนวน 10 ล้านคน/เดือน)
เพิ่มโอกาสลุ้นหวยให้ SMEs โดยการนำยอดขายมาแลกเป็นสลากกินแบ่งของรัฐบาลได้ด้วยสำหรับคนขาย หรือ ผู้ประกอบการ SMEs ที่เข้าร่วมโครงการ: เมื่อขายสินค้าครบ 5,000 บาท สามารถแลกสลากกินแบ่งรัฐบาลได้ 1 ใบ
อีกทั้งนโยบายไฮไลท์ไม่ว่าจะเป็น ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทุกปี เริ่มทันทีวันละ 450 บาท, เงินเด็กเล็ก เดือนละ 1,200 บาท, เงินผู้สูงวัยเดือนละ 3,000 บาท, เปิดข้อมูลรัฐทันที ประชาชนเป็นเจ้าของ, ออกแบบหลักสูตรใหม่ เน้นทักษะที่ได้ใช้จริง, กำหนดเพดานปล่อยก๊าซเรือนกระจกรายอุตสาหกรรม เปิดตลาดค้าขายแลกเปลี่ยน (cap & trade), ตรวจสุขภาพประจำปี ฟรีทั้งค่าตรวจ-ค่าเดินทาง และรถเมล์ไฟฟ้าทุกจังหวัด - เติมเงินให้ท้องถิ่น เพิ่มขนส่งสาธารณะ
โดยทั้งหมดนี้มีเป้าหมายเพื่อเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้
1. การเมืองดี
สร้างประเทศที่เป็นประชาธิปไตย ประชาชนเป็นเจ้าของ ระบบราชการอยู่ข้างประชาชน
2. ปากท้องดี
จัดสรรทรัพยากรให้เป็นธรรมกับประชาชนทุกกลุ่ม เพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย ขจัดความเหลื่อมล้ำ
3. มีอนาคต
พร้อมเปลี่ยนแปลงในทุกๆเรื่องเพื่อประโยชน์ประชาชน มีเศรษฐกิจและสังคมที่เท่าทันโลก
สร้างประเทศที่ "การเมืองดี ปากท้องดี มีอนาคต"
อ่านนโยบายเพิ่มเติมของ พรรคก้าวไกล ได้ที่นี่
เปิดนโยบาย 100 วันแรก ของ 'พรรคก้าวไกล' ที่จะทำทันทีหลังจัดตั้งรัฐบาล - Techsauce
Read More
No comments:
Post a Comment