รู้ไว้ก่อนเดินเข้าคูหา เปิด 6 ข้อกฎหมายป้องกันการทำผิด กม.เลือกตั้ง หากจงใจโทษหนักจำคุกถึง 10 ปี ด้าน กกต.แจงส่งชื่อ 130 ส.ส. ตรวจสอบคุณสมบัติตามขั้นตอน ก.ม. ชี้ถือหุ้นสื่อเข้าข่ายต้องห้าม ถูกถอนสิทธิ์แน่
เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2566 พล.ต.ท.นิธิธร จินตกานนท์ ผู้บัญชาการประจำสำนักงาน ผบ.ตร./โฆษกศูนย์รักษาความปลอดภัยและความสงบเรียบร้อยการจัดการเลือกตั้ง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศลต.ตร.) เปิดเผยว่า ศลต.ตร.ภายใต้การอำนวยการของ พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. และ พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์ รอง ผบ.ตร./ผอ.ศลต.ตร. มีความห่วงใยพี่น้องประชาชนและป้องกันการทำผิดกฎหมายในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ในวันอาทิตย์ที่ 14 พฤษภาคม 2566 และเลือกตั้งล่วงหน้าในวันอาทิตย์ที่ 7 พฤษภาคม 2566 จึงสั่งการให้ ศลต.ตร.ประชาสัมพันธ์ข้อกฎหมายที่สำคัญ เพื่อเป็นการแจ้งเตือนประชาชนไม่ให้ทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง ตลอดจนแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจให้เข้าใจถึงข้อกฎหมายต่างๆ ที่จะต้องใช้ในการดูแลรักษาความปลอดภัยและความสงบเรียบร้อยในการจัดการเลือกตั้งนี้ ซึ่งข้อกฎหมายที่สำคัญๆ มีดังนี้
1.การนำบัตรเลือกตั้งออกไปจากที่เลือกตั้ง : มีโทษจำคุกตั้งแต่ 1-5 ปี หรือปรับตั้งแต่ 20,000-100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นมีกำหนด 10 ปี
2.การนำเครื่องมือหรืออุปกรณ์ใดถ่ายภาพบัตรเลือกตั้งที่ตนได้ลงคะแนนเลือกตั้งแล้ว : มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
3.การเรียก รับ หรือยอมจะรับเงิน ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่น เพื่อลงคะแนนหรืองดเว้นไม่ลงคะแนน : มีโทษจำคุกตั้งแต่ 1-5 ปี หรือปรับตั้งแต่ 20,000-100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับและให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นมีกำหนด 10 ปี
4.จงใจกระทำด้วยประการใดๆ ให้บัตรเลือกตั้งชำรุดหรือเสียหายหรือให้เป็นบัตรเสีย หรือกระทำด้วยประการใดๆ แก่บัตรเสียเพื่อให้เป็นบัตรที่ใช้ได้ : มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 100,000 บาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นมีกำหนด 10 ปี
5.กรณีเผา ฉีก ทำลาย ทำให้เสียหาย : มีความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358 โทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
6.กรณีปลดป้ายหาเสียงไป : มีความผิดฐานลักทรัพย์ มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
วันเดียวกันนี้ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้มอบนโยบายให้ส่วนงานต่างๆ ของสำนักงาน กกต. ดำเนินการและปฏิบัติภารกิจจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย สุจริต โปร่งใส เที่ยงธรรม และชอบด้วยกฎหมาย สำนักงาน กกต.ได้ดำเนินการปฏิบัติบัติภารกิจเพื่อให้สอดรับกับนโยบายของกกต. ดังนี้
1.แต่งตั้งคณะกรรมการสืบสวนและไต่สวน ซึ่งมีอำนาจในการสืบสวนและไต่สวนการร้องคัดค้านการเลือกตั้ง ส.ส. รวม 128 คณะ
2.แต่งตั้งชุดปฏิบัติการข่าว เพื่อแสวงหาข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์สำหรับการสืบสวนและไต่สวนชุดปฏิบัติการข่าว ส่วนกลางและจังหวัด รวม 88 ชุด
3.การแต่งตั้งชุดเคลื่อนที่เร็ว เพื่อป้องกันและปราบปรามการทุจริต เผชิญเหตุ จับกุม คุมขัง ผู้กระทำผิดกฎหมายเลือกตั้งและพรรคการเมือง โดยคณะกรรมการการเลือกตั้งได้มีมติแต่งตั้งชุดเคลื่อนที่เร็ว จำนวน 400 ชุด ครอบคลุมพื้นที่ทั้ง 77 จังหวัด
4.จัดตั้งศูนย์ประสานงานการสืบสวนและไต่สวน เพื่อรับแจ้งเหตุหรือเบาะแสทุจริต และเป็นศูนย์ประสานงานระหว่างส่วนกลางและจังหวัด ชุดปฏิบัติการข่าว และชุดเคลื่อนที่เร็ว ทั้งนี้ประชาชนยังสามารถแจ้งเหตุผ่านทางหมายเลขโทรศัพท์ 0-2141-8579, 0-2141-8858 และ 0-2141-8860
5.รับแจ้งเหตุหรือเบาะแสทุจริตผ่านแอปพลิเคชันตาสับปะรด เพื่อให้ประชาชนใช้เป็นช่องทางในการแจ้งเหตุการกระทำความผิดซื้อสิทธิ์ขายเสียง โดยสามารถดาวน์โหลดได้ทั้งระบบ IOS และ Android
ทั้งนี้ นายแสวง บุญมี เลขาธิการ กกต. กล่าวถึงกรณีมีรายงานข่าวว่า กกต.จะถอนสิทธิ์ผู้รับสมัครเลือกตั้ง ส.ส. 130 คนว่า เวลาที่ กกต.พิจาณาคุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม ตามมาตรา 42 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2561 นั้น จะมี 26 หน่วยงานที่มาสนับสนุนการตรวจสอบคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามด้วย โดยเมื่อรับสมัครเข้ามาแล้ว กกต.จะส่งแต่ละเรื่องให้แต่ละหน่วยงานที่มีหน้าที่สนับสนุน กกต.ในการตรวจสอบ อย่างกรณีที่เป็นข่าวนั้น เป็นเรื่องการถือหลักทรัพย์ตามมาตรา 42 (3) จึงส่งเรื่องให้ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเป็นผู้ตรวจสอบ และทำบัญชีส่งกลับมายัง กกต. โดยจะตรวจสอบหลักทรัพย์ทุกประเภทที่ผู้สมัครคนนั้นๆ ถืออยู่ ไม่ใช่เฉพาะหลักทรัพย์ด้านสื่อสารมวลชนเท่านั้น
"130 คนที่เห็นนั้น หากไม่เข้าลักษณะต้องห้าม ก็ไม่ต้องมาประกาศไม่เป็นผู้รับสมัครของ กกต.เขต ซึ่งผู้อำนวยการก็ประกาศแล้ว ตรวจสอบแล้วว่าต้องเป็นเจ้าของ หรือผู้ถือหุ้นของหนังสือพิมพ์ หรือสื่อมวลชน ถึงจะเป็นผู้มีลักษณะต้องห้าม ซึ่งใน 130 คนอาจจะมีการถือหุ้น แต่ไม่ได้เป็นหุ้นที่มีลักษณะต้องห้าม อาจจะเป็นหุ้นบริษัทอื่นๆ ดังนั้นจึงไม่ใช่ว่า 130 คนนี้จะถูกตัดสิทธิ์หมด กกต.ต้องมาตรวจสอบเอง" เลขาฯ กกต.กล่าว.
ขู่คุก10ปีทำผิด'เลือกตั้ง' กกต.ขึงขังผู้สมัครถือหุ้น - ไทยโพสต์
Read More
No comments:
Post a Comment