Rechercher dans ce blog

Wednesday, March 1, 2023

29 ปี การเมืองเหมือนเรื่องรัก "ทำมาแล้ว (ขอ) ทำต่อ-ทำทันที" - ไทยรัฐ

  • มุมมองการเมืองจาก "ชนินทร์ รุ่งแสง" กรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ จากประสบการณ์บนเส้นทางการเมือง 29 ปี กับอีกก้าวสำคัญในการเลือกตั้งที่จะถึงนี้ กับความเชื่อมั่นในแบรนด์ "ประชาธิปัตย์" และหัวหน้าพรรคที่ชื่อ "จุรินทร์" 

"การเมืองเหมือนเรื่องรัก เพราะการเมืองต้องอดทน ต่อสู้ เสียสละ ไม่ใช่การครอบครอง ทำดีแล้วเขาต้องเลือกเรา คิดแบบนั้นไม่ได้ เราทำอยู่ ไม่ใช่คิดว่าวันหนึ่งเขาต้องเลือกเรา แล้วถ้าไม่เลือกเราจะต้องโกรธเขา ต้องคิดว่ารักด้วยความจริงใจ บริสุทธิ์ใจ ไม่เช่นนั้นจะไม่มีความสำเร็จทางการเมือง และจะไม่ภาคภูมิใจในทางการเมือง นักการเมืองต้องคิดไว้เสมอ ไม่ใช่ทำแล้วจะต้องได้รับผลประโยชน์ตอบแทน..."

นี่คือบางช่วงบางตอนในบทสทนาสะท้อนมุมมองการเมืองของ "นายชนินทร์ รุ่งแสง" กรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ โดยในการเลือกตั้งรอบที่จะถึงนี้ "แบง-ชนินทร์" จะลงสมัครรับเลือกตั้ง ชิงเก้าอี้ ส.ส.กทม. เขตบางกอกน้อย บางพลัด วันนี้เราจะพาไปทำความรู้จักกับเขา และเปิดอกพูดคุยในทุกแง่มุม...

: คิดอย่างไรถึงกระโดดลงสนามการเมือง ตั้งแต่อายุ 27 ปี 

นายชนินทร์ กล่าวว่า ตอนเรียนจบมาใหม่ๆ ก็ยังไม่ได้เล่นการเมืองทีเดียว ไปทำงานเป็นพนักงานบริษัทเอกชนก่อน แม้แต่เป็นตัวแทนประกันชีวิตก็เป็นมาแล้ว ซึ่งรู้สึกภูมิใจที่ได้ทำอาชีพนี้ เพราะมีส่วนสำคัญในความมั่นคงของมนุษย์ จากนั้นจึงค่อยตัดสินใจอาสามาทำงานการเมืองระดับท้องถิ่นก่อน เพราะที่บ้านเคยบอกชีวิตเราถ้าพอมีเหลือก็ควรจุนเจือสังคม ประกอบกับพ่อ (ชวลิต รุ่งแสง) ก็คลุกคลีกับการเมืองเป็นอดีตสมาชิกวุฒิสภา แม่เป็นประธานลูกเสือชาวบ้านในเขตบางกอกน้อย จึงตัดสินใจเดินในสายนี้

: จุดเริ่มต้นเส้นทางการเมืองเป็นอย่างไร

นายชนินทร์ เปิดเผยว่า ก้าวสู่การเมืองสังกัดพรรคประชากรไทยก่อน ได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) เป็นรองประธานสภา กทม. ซึ่งเราเป็นสายบู๊ต่อสู้มาหลายครั้ง สู้กับกระแสจำลองฟีเวอร์ สู้กับ ดร.พิจิตต รัตตกุล แม้แต่กับพรรคประชาธิปัตย์ก็เคยสู้กันในสนามมาก่อน สู้กับ นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ ซึ่งตนชนะกระทั่ง นายสมัคร สุนทรเวช หัวหน้าพรรควางมือจากพรรคประชากรไทย เพื่อไปเดินสาย ส.ว.แทน เวลาเดียวกันนั้น นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ก็มาทาบทามให้ไปอยู่ด้วย ให้ลง ส.ส.เขตบางกอกน้อย แทน นายองอาจ ที่จะขึ้นเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ จากนั้นเรื่อยมาก็อยู่พรรคประชาธิปัตย์มาโดยตลอดจนถึงปัจจุบัน ได้เป็น ส.ส. ปี 2550 ปี 2554 ส่วนการเลือกตั้งปี 2562 พื้นที่เขตเลือกตั้งมีการเปลี่ยนแปลงไม่ลงตัว จึงโดนผู้บริหารพรรคส่งเป็นผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ โดยไม่เคยมีการไปโต้แย้งภายนอกเหมือนอดีต ส.ส.ของพรรคหลายราย

: ความรู้สึกที่มีต่อประชาชน โดยเฉพาะใน "เขตบางกอกน้อย-บางพลัด"

นายชนินทร์ ระบุว่า "พี่เกิดบางกอกน้อย เกิดที่นี่ และคนบางกอกน้อยก็ให้พี่เกิดในทางการเมือง เราจึงอยากทำงานตอบแทนประชาชน อยู่ในจิตสำนึกเสมอ งานการเมืองคืองานอาสา ที่ผ่านมาเราโชคดีประชาชนไว้ใจเรา เขาใช้เราเราก็ทำงานตอบแทนให้ประชาชนอย่างเต็มที่ 29 ปี ที่ทำงานทางการเมืองมา ไม่เคยรู้สึกเคอะเขิน เพราะรู้สึกกลมกลืน เกิดที่บางกอกน้อย ทำงานให้ชาวเขตบางกอกน้อย บางพลัด ไม่ใช่เด็กสอบเทียบที่มาทำงานการเมืองภาพใหญ่เลย แต่เราทำการเมืองตั้งแต่ระดับท้องถิ่น แล้วค่อยขึ้นมาทำการเมืองระดับประเทศ ปูพื้นฐานมาเลย ซึ่งคิดว่าได้เปรียบ เพราะมองปัญหาพื้นที่ออก รู้จักคน รู้จักว่าจะต้องแก้ไขปัญหาอย่างไร มีวิธีแก้ไขปัญหา เราดูแลหมดยุงชุม น้ำท่วม ท่อตัน"

: ได้เป็น "ส.ก.-ส.ส." รับใช้ประชาชนมานาน มีผลงานอะไรที่รู้สึกภาคภูมิใจ

นายชนินทร์ ระบุว่า สมัยเป็น ส.ก.สามารถสร้างพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นได้ ไอเดียมาจากต่างประเทศ เห็นเขามีแล้วดีจึงนำมาทำบ้าง วัตถุประสงค์หลักเราตั้งใจเพื่อให้คนในพื้นที่รู้จักรากเหง้า เกิดเป็นความรักหวงแหนในพื้นที่ตนเอง ส่วนการท่องเที่ยวก็เป็นผลพลอยได้ไป นอกจากนี้ยังได้สร้างศูนย์ฝึกอาชีพครบวงจรแห่งแรกของเขตบางกอกน้อย เป็นสิ่งที่ภาคภูมิใจมาก ขออนุมัติงบประมาณสร้างอาคาร 5 ชั้น และได้รับความอนุเคราะห์จากเจ้าอาวาสวัดสุทธาวาส ซึ่งท่านเป็นพระนักพัฒนาท่านหนึ่ง ให้ใช้สถานที่ของวัดเป็นที่ตั้งศูนย์ฝึกอาชีพ จนถึงวันนี้ดำเนินงานมา 20 ปีแล้ว สร้างงานสร้างอาชีพให้ชาวบ้านได้เกือบแสนคน ซึ่งโจทย์ต่อไปที่จะต้องทำตามสโลแกน "ทำมาแล้ว ทำต่อ ทำทันที" คือต้องคิดว่าจะทำอย่างไรเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก ปากท้องของประชาชนให้เข้ากับยุคสมัย นอกจากมีองค์ความรู้แล้ว ต้องให้เขาได้มีความรู้เกี่ยวกับการตลาดที่ทันสมัยด้วย

: ช่วงที่ว่างเว้นจากการเป็น ส.ส. เป็นเวลาเดียวกับที่โควิดระบาด ไปทำอะไร อยู่ที่ไหน

นายชนินทร์ กล่าวว่า "จะวิกฤติหรือไม่วิกฤติพี่อยู่กับประชาชนตลอด ทั้งน้ำท่วม โควิดฯ มีโครงการต่างๆ เกิดขึ้น เช่น บางกอกน้อย-บางพลัด 100 เปอร์เซ็นต์ ส่งต่อผู้ป่วย จัดบริการฉีดวัคซีนโควิดฯ เมื่อพ้นวิกฤติโควิดฯ ชาวบ้านก็ประสบปัญหาเรื่องการประกอบอาชีพ เราทำอาหารกล่องแจกจ่ายให้ชาวบ้าน ประมาณ 5 หมื่นกล่อง ถุงเติมสุขจากใจไปถึงบ้าน หิ้วถุงบรรเทาทุกข์ไปเยี่ยมเยียนถึงหน้าประตูบ้าน ซึ่งถือเป็นการเยียวยา โครงการไถ่เติมสุข ไถ่ของใช้จำเป็นจากโรงรับจำนำ บ้านฟ้าใสซ่อมแซมบ้านที่ชำรุด ร้านข้าวแกง 20 บาท เป็นต้น"

: ถ้าได้เป็น ส.ส.สิ่งที่อยากทำต่อ ทำทันที คืออะไร 

นายชนินทร์ บอกว่า แน่นอนที่สุด คือ เศรษฐกิจปากท้อง ช่วงการเปลี่ยนแปลงในการทำงานหากิน ร้านค้าต่างๆ อยู่ในช่วงปรับตัว พ่อแม่ทำกับข้าวขาย ลูกหลานทำเรื่องโซเชียล ซึ่งเขาต้องการให้รัฐบาลเข้ามาช่วยเหลือตรงนี้ พรรคประชาธิปัตย์เองก็ต้องมีวิธีลดต้นทุนในการค้าขายให้กับเขา รวมถึงระบบภาษีทั้งในแง่ผู้ขายและผู้ซื้อ เพื่อให้เขามีกำลังต่อสู้กับทุนใหญ่ ทำมดตัวเล็กกลายเป็นกองทัพมดที่เข้มแข็ง เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ต้องรักษาสมดุล พร้อมทั้งหาเงินทุนให้ประชาชนได้ประกอบธุรกิจ พรรคได้ประกาศเปิดตัวนโยบายธนาคารชุมชน ชุมชนละ 2 ล้านบาทไปแล้ว วันนี้ปัญหาของธุรกิจรายย่อยในชุมชน คือ เป็นหนี้นอกระบบ ดังนั้นธนาคารชุมชนต้องตอบโจทย์แก้หนี้นอกระบบด้วย รวมทั้งการดูแลเรื่องคูคลอง ลอกท่อเปิดทางระบายน้ำ ที่บางครั้งเข้าไปดูแลไม่ได้ในพื้นที่เอกชนที่ไม่มีนิติบุคคล อีกเรื่องที่สำคัญ คือ อากาศ ฝุ่นมลพิษ จะต้องเป็นวาระจัดการร่วมกัน ระหว่างการบริหารงานระดับประเทศกับระดับท้องถิ่น แม้แต่การจัดการปัญหาเรียกเก็บเงินใต้โต๊ะในการขออนุญาตสร้าง ซ่อมแซมตึกแถวอาคารบ้านเรือนด้วย

"ที่สำคัญเรื่องยาเสพติดในชุมชน เวลานี้ชาวบ้านบ่นมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งนโยบายกัญชาที่บอกว่าไม่เสรี แต่จริงๆ แล้วเสรี บางคนบอกพูดแล้วทำ แต่ทำแล้วทำส่งเดช ทำให้คนเดือดร้อนเยาวชนติดยาไม่ได้ ประชาธิปัตย์จะทำก็ต้องทำแบบรอบคอบ เดินเข้าไปในชุมชนยาเสพติดเยอะมาก และยังไม่มีแนวโน้มลดลง โดยเฉพาะกัญชาเด็กๆ เดินไปซื้อได้เลย แล้วไหนบอกว่าไม่เสรี กัญชาต้องจัดการให้จบ พรรคเห็นด้วยและสนับสนุนการใช้กัญชาทางการแพทย์ ไม่เห็นด้วยกับกัญชาที่เสรี ชัตดาวน์กัญชาเสรี เดินหน้าร้อยเปอร์เซ็นต์ ทำได้ไว ทำได้จริง และทำแบบรอบคอบ..." นายชนินทร์ กล่าว 

: เชื่อมั่นในแบรนด์ "ประชาธิปัตย์" และหัวหน้าพรรคที่ชื่อ "จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์" แค่ไหน 

นายชนินทร์ เปิดอกเล่าว่า หลายคนได้รับผลกระทบ แต่ไม่ใช่ทุกคนย้ายหนีออกจากพรรค การเมืองต้องแยกให้ออก ระหว่างผลประโยชน์ประเทศ ผลประโยชน์พรรค และผลประโยชน์ส่วนตัว บางคนสับสนอ้างไปเรื่อยเปื่อย ต้องชัดเจน ต้องจัดลำดับความสำคัญของประโยชน์ประเทศ พรรคและส่วนตัว การย้ายพรรคคือการหนีปัญหา เมื่อกลไกของพรรคมีปัญหา เราต้องอยู่ช่วยคิดแก้ไขให้ดีขึ้นและส่งต่อให้กับคนรุ่นต่อไป พรรคประชาธิปัตย์ยุคนี้อยู่ในช่วงกอบกู้ อยู่ในช่วงพิสูจน์ให้เห็นว่าพรรคคือของจริง พรรคประชาธิปัตย์ชัดเจน อย่างไรก็เป็นทางหลักของสังคมไทย ไม่ใช่พรรคเฉพาะกิจ ไม่ใช่เสร็จภารกิจแล้วปิดร้านหนี เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์แล้ว อยู่มา 70 กว่าปี ส่วนเรื่องความพอใจหรือไม่พอใจในการบริหารงานนั้น เป็นเรื่องของตัวบุคคล แต่ที่พรรคอยู่ได้จนถึงทุกวันนี้ เพราะทุกคนเดินตามอุดมการณ์ของพรรค ที่สำคัญ "ซื่อสัตย์ จริงใจ ตรงไปตรงมา" ภาพชัดเจนคือเราจงรักภักดี และไม่นำเรื่องจงรักภักดีมาเป็นข้ออ้างเป็นผลประโยชน์ทางการเมือง ที่สำคัญไม่โกงชาติโกงเมือง หรือไม่ใช่พวกไม่เคารพกฎหมาย หนีเอาตัวรอด ไม่มีประวัติด่างพร้อย หรือสืบทอดอำนาจให้กับใคร

"สำหรับหัวหน้าจุรินทร์ พี่ว่าเขาสอบผ่าน เพราะขณะเป็นรองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ (พณ.) เจอวิกฤติเศรษฐกิจทั้งในและนอกประเทศ พณ. เป็นหนังหน้าไฟ ต้องดูแลทั้งผู้ผลิต ผู้บริโภค เวลานี้ตัวเลขปากท้อง เงินเฟ้อดีกว่าหลายประเทศ รองนายกฯ ทำได้ขนาดนี้ต้องให้คะแนน ต้องให้ความเป็นธรรม นำตัวเลขมาเปรียบเทียบ หลายคนพูดว่าหัวหน้าพรรคของเราไม่มีเสน่ห์ทางการเมือง ขอให้ดูที่ผลงานที่ออกมาละเอียดรอบคอบ คนเราก็อยากได้ผู้นำประเทศที่เพียบพร้อมบริบูรณ์ด้วย รูปสมบัติ ทรัพย์สมบัติ และคุณสมบัติ แต่ในความเป็นจริงเป็นไปไม่ได้ สำหรับหัวหน้าจุรินทร์อาจไม่มีเสน่ห์ แต่ขอยืนยันว่าท่านคือคำตอบที่ชัดเจนสำหรับประเทศไทย ที่จะก้าวต่อไปในสถานการณ์ตอนนี้" นายชนินทร์ กล่าวทิ้งท้าย

Adblock test (Why?)


29 ปี การเมืองเหมือนเรื่องรัก "ทำมาแล้ว (ขอ) ทำต่อ-ทำทันที" - ไทยรัฐ
Read More

No comments:

Post a Comment

พระครู เชิญวิญญาณ เมียฝรั่ง เผยต้องทำพิธี 3รอบ ตร.เจอเรื่องแปลก - ข่าวสด - ข่าวสด

พระครู ทำพิธีเชิญดวงวิญญาณ เมียฝรั่ง ถูกฆ่าทิ้งไร่ข้าวโพด เผยสิ่งผิดปกติ ต้องทำพิธีถึง 3 รอบ ด้าน พนักงานสอบสวน เล่าเรื่องแปลก ก่อนวันผู้ต้อ...