ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า ที่ประชุมได้ให้ความสำคัญเร่งด่วนต่อภาวะสภาพอากาศปัจจุบันที่มีฝุ่นละอองขนาดเล็กในหลายพื้นที่ โดยเห็นชอบมาตรการยกระดับมาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษจากฝุ่นละอองช่วงสถานการณ์วิกฤตใน 17 จังหวัด ซึ่งเป็นพื้นที่เสี่ยงที่จะกระทบต่อสุขภาพของประชาชน พร้อมด้วยแผนการดำเนินงานมาตรการระยะยาวปี 67-70 ครอบคลุมทั้งพื้นที่ป่า เมือง เกษตร และปกป้องประชาชน ซึ่ง พล.อ.ประวิตรยังได้ขอบคุณและชื่นชม ทส.ในการขับเคลื่อนงานที่ผ่านมา และมีผลงานเชิงประจักษ์ระดับสากล พร้อมกำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ปัญหามลพิษจากฝุ่นละออง PM 2.5 โดยด่วน พร้อมย้ำหน่วยงานที่รับผิดชอบโครงการต่างๆ ที่ผ่านความเห็นชอบตามรายงาน EIA แล้ว จะต้องปฏิบัติตามโดยเคร่งครัด และดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เป็นรูปธรรม รองรับการพัฒนาพื้นที่และประเทศชาติ เพื่อให้ประชาชนอยู่ดีมีความสุขต่อไป
ด้าน พล.อ.อ.อลงกรณ์ วัณณรถ ผู้บัญชาการทหารอากาศ (ผบ.ทอ.) เป็นประธานในพิธีส่งหน่วยบินปฏิบัติภารกิจฝนหลวงของ ทอ. เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนประชาชนในสถานการณ์ภัยแล้ง และการยับยั้งความรุนแรงจากการเกิดพายุลูกเห็บ โดย พล.อ.อ.อลงกรณ์กล่าวว่า ภารกิจฝนหลวงนับเป็นอีกภารกิจหนึ่งที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง นำความภาคภูมิใจมาสู่พี่น้องชาว ทอ. เพราะเป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ซึ่ง ทอ.ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ประชาชน พร้อมทั้งเป็นการเสริมสร้างความมั่นคงของชาติให้ยั่งยืน ตนขอขอบคุณทุกท่านที่มีส่วนร่วมในการปฏิบัติภารกิจฝนหลวงในครั้งนี้ และขอให้ทุกท่านปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเสียสละ ใช้ความรู้ความสามารถตลอดจนประสบการณ์ปฏิบัติภารกิจอย่างเต็มกำลังความสามารถ โดยคำนึงถึงความปลอดภัยเป็นสำคัญ
พล.อ.อ.อลงกรณ์กล่าวต่อว่า สำหรับการปฏิบัติภารกิจฝนหลวงสู้ภัยแล้งในปี 2566 นี้ ทอ.ได้จัดอากาศยานจำนวน 8 เครื่อง พร้อมเจ้าหน้าที่และอุปกรณ์เพื่อสนับสนุนกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ในการปฏิบัติการฝนหลวงด้านการป้องกันและแก้ปัญหาภัยแล้ง รวมทั้งการเติมน้ำต้นทุนให้เขื่อนกักเก็บน้ำ ใช้เครื่องบินลำเลียงแบบที่ 2 ก (BT-67) จำนวน 3 เครื่อง และเครื่องบินโจมตีธุรการแบบที่ 2 (บ.จธ.2) จำนวน 3 เครื่อง รวมถึงการปฏิบัติการฝนหลวงด้านการยับยั้งและการเกิดพายุลูกเห็บ ใช้เครื่องบินโจมตีแบบที่ 7 (Alpha Jet) จำนวน 2 เครื่อง
“กองทัพอากาศได้ร่วมกับกรมฝนหลวงและการบินเกษตร จัดทำโครงการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการทำฝนหลวง 4 โครงการ คือโครงการปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อยับยั้งการเกิดพายุลูกเห็บ, โครงการผลิตพลุสารดูดความชื้นเสริมการปฏิบัติการฝนหลวงเมฆอุ่น, โครงการภารกิจฝนหลวงเมฆอุ่นด้วยเทคโนโลยีการพ่นสารจากพื้นสู่ก้อนเมฆ (Ground Base Generator), โครงการวิจัยร่วมการผลิตพลุจากวัสดุธรรมชาติ พร้อมทั้งสนับสนุนพื้นที่ของฐานบินในภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศเป็นฐานปฏิบัติการฝนหลวง ดังนี้ กองบิน 1 จังหวัดนครราชสีมา, กองบิน 2 จังหวัดลพบุรี, กองบิน 3 จังหวัดสระแก้ว, กองบิน 5 จังหวัดประจวบคีรีขันธ์, กองบิน 7 จังหวัดสุราษฎร์ธานี, กองบิน 21 จังหวัดอุบลราชธานี, กองบิน 23 จังหวัดอุดรธานี, กองบิน 41 จังหวัดเชียงใหม่, กองบิน 46 จังหวัดพิษณุโลก, กองบิน 56 จังหวัดสงขลา และสนามบินท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี” ผบ.ทอ.ระบุ
พล.อ.อ.อลงกรณ์กล่าวด้วยว่า สำหรับการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก กองทัพอากาศร่วมกับกรมบรรเทาสาธารณภัย โดยเราตั้งฐานปฏิบัติการที่กองบิน 41 ใช้เซ็นเซอร์หรือเครื่องบินลาดตระเวน (DA-42) ซึ่งเป็นเครื่องใหม่ที่เพิ่งเข้ามาประจำการ ขึ้นบินตรวจจับจุดความร้อน โดยใช้กล้องที่มีขีดความสามารถสูงถ่ายภาพและส่งไปยังภาคพื้น รวมถึงหน่วยที่เกี่ยวข้อง เพื่อส่งทีมเข้าไปดับไฟป่า ขณะเดียวกันใช้เครื่องบินเอยู-23 บินกระจายเสียงให้ชาวบ้านในพื้นที่ป่า ลด ยุติการเผาป่า ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ จากนั้นเราจะใช้เครื่องบิน BT-67 บรรทุกน้ำไปสกัดกั้นไฟป่าไม่ให้ลุกลาม ตอนนี้มีโครงการที่จะพัฒนาขีดความสามารถ โดยที่ฐานปฏิบัติการที่กองบิน 41 ยังมีเครื่องบินอัลฟาเจ็ตด้วยไปเตรียมการเรื่องไฟป่า โดยภารกิจฝนหลวงและดับไฟป่าในขณะนี้ก็ทำคู่กัน แยกกันไม่ออก.
บี้กก.สิ่งแวดล้อม แก้ฝุ่น17จังหวัด ทอ.ทำฝนหลวง - ไทยโพสต์
Read More
No comments:
Post a Comment