คำเตือนเมื่อเร็วๆ นี้ของผู้บังคับการกองทัพอากาศรายหนึ่งของสหรัฐฯ ที่ว่าความขัดแย้งด้านการทหารกับจีนแผ่นดินใหญ่ อาจเกิดขึ้นอย่างเร็วที่สุดในปี 2025 บ่งชี้เป็นนัยว่ากองทัพอเมริกากำลังยกระดับความพร้อมทำศึกสงครามในประเด็นเกี่ยวกับไต้หวัน จากความเห็นของพวกนักวิเคราะห์แดนมังกร ซึ่งบอกด้วยว่าทางกองทัพปลดแอกประชาชนจีนจะเพิ่มแสนยานุภาพด้านการป้องปรามเช่นกัน
คำเตือนล่าสุดมาจาก พล.อ.ไมค์ มินิแฮน ผู้บังคับการกองบัญชาการทางอากาศ ที่คาดคะเนว่าสงครามเกี่ยวกับไต้หวัน อาจเกิดขึ้นอย่างเร็วที่สุดในปี 2025
ในบันทึกภายในที่ปรากฏบนสื่อสังคมออนไลน์ครั้งแรกในวันศุกร์ (27 ม.ค.) พล.อ.มินิแฮน เร่งเร้าบรรดาผู้บัญชาการทุกหน่วยของเขาผลักดันกองกำลังของแต่ละหน่วย ให้บรรลุเป้าหมายมีความพร้อมขั้นสูงสุดสำหรับปฏิบัติการรบในปีนี้
"ลางสังหรณ์บอกกับผมว่า เราจะมีการสู้รบในปี 2025 ผมหวังว่าสิ่งที่ผมคิดจะผิด สัญชาตญาณบอกผมว่าเราจะต่อสู้กันในปี 2025" นายพลมินิแฮน ระบุในบันทึก พร้อมเรียกร้องให้กองบัญชาการทางอากาศสหรัฐฯ ทุกหน่วยเตรียมความพร้อมสูงสุด โดยมีเป้าหมายหลักเพื่อป้องปราม และกำราบจีนให้ได้หากจำเป็น
นายพลมินิแฮน ระบุว่า ไต้หวันจะจัดศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี 2024 ซึ่งมันจะเปิดโอกาสให้ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน ใช้เป็นข้ออ้างสำหรับการรุกรานทางทหาร
จู เฟิง ศาสตราจารย์ด้านกิจการระหว่างประเทศ แห่งมหาวิทยาลัยหนานจิง มองในเรื่องนี้ว่า "ดูเหมือนกองทัพสหรัฐฯ กำลังใช้คำเตือน ประกาศท่าทีชัดเจนขึ้นวันแล้ววันเล่า ว่า หากจีนแผ่นดินใหญ่ตั้งใจโจมตีไต้หวัน เมื่อนั้นอเมริกาจะตอบโต้ด้วยการแทรกแซงทางทหาร"
"คำเตือนนี้อาจยุให้นักบินสหรัฐฯ มีความก้าวร้าวมากยิ่งขึ้น ยามที่ต้องรับมือกับนักบินในแนวหน้า ซึ่งมันเพิ่มความเสี่ยงโหมกระพือความขัดแย้ง" จู กล่าว พร้อมระบุว่า "ความกังวลอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนเกี่ยวกับสงครามไต้หวัน (ในปี 1971) ก็มีสาเหตุจากการขาดการติดต่อสื่อสารและปราศจากความเข้าใจร่วมกัน"
ทั้งนี้ จู กล่าวโทษภาวะเผชิญหน้าที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ว่ามีต้นตอจากยุทธศาสตร์ของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ ที่ใช้ไต้หวันเป็นเบี้ยต่อรองสำคัญในนโยบายแข็งกร้าวกับจีนของเขา
คำเตือนของ พล.อ.มินิแฮน มีขึ้นไม่กี่เดือนหลังจาก พล.ร.อ.ไมเคิล กิลเดย์ ผู้บัญชาการฝ่ายปฏิบัติการของกองทัพเรือสหรัฐฯ เคยระบุในเดือนตุลาคม ว่าปักกิ่งอาจโจมตีไต้หวันในช่วงปลายปี 2022
กรอบเวลาในการประเมินของ พล.ร.อ.กิลเดย์ อยู่บนพื้นฐานของการประเมินก่อนหน้านี้ของ ฟิลิป เดวิดสัน พลเรือเอกเกษียณอายุ ซึ่ง ณ ขณะนั้นดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการกองกำลังสหรัฐฯ ประจำภาคพื้นอินโด-แปซิฟิก
พล.ร.อ.เดวิดสัน ประเมินในช่วงต้นปีที่แล้ว ว่าวิกฤตรอบใหม่ในช่องแคบไต้หวันอาจเกิดขึ้นในปี 2027 พร้อมระบุปักกิ่งอาจพยายามรวมชาติไต้หวันกับจีนแผ่นดินใหญ่ "ภายใน 6 ปีข้างหน้า"
ผู้เชี่ยวชาญด้านการทหารจีนและวิเคราะห์ด้านจีน-สหรัฐฯ ระบุทุกสัญญาณบ่งชี้ว่าวอชิงตันมีความมุ่งมั่นหนักแน่นขึ้นเรื่อยๆ ที่จะเข้าแทรกแซงสถานการณ์ในนามของไต้หวัน
ซ่ง ซองปิง นักวิเคราะห์ทางการทหารที่มีฐานอยู่ในฮ่องกง เห็นด้วยว่าความเสี่ยงเกิดความขัดแย้งระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ได้เพิ่มขึ้นแล้ว ในขณะทั้งสองฝ่ายต่างฝึกซ้อมเตรียมพร้อมสำหรับการสู้รบอย่างเข้มข้น ท่ามกลางความเป็นปรปักษ์ที่หนักหน่วงขึ้นเรื่อยๆ
"พวกนายพลสหรัฐฯ ต้องการใช้ประโยชน์จากแผนของจีนในการใช้กำลังร่วมชาติกับไต้หวัน สำหรับร้องของบประมาณด้านการทหารมากยิ่งขึ้นจากสภาคองเกรส" ซ่งกล่าว พร้อมระบุว่า กองทัพอเมริกาต้องการศัตรูที่แข็งแกร่งอย่างจีน และสำหรับกองทัพปลดแอกประชาชนจีน "หนทางเดียวคือการเสริมแสนยานุภาพการสู้รบเพื่อตอบโต้ ทว่าสหรัฐฯ จะไม่ปล่อยให้กองทัพจีนบรรลุเป้าหมายยกระดับกองทัพให้ทันสมัย ซึ่งความหมายหนึ่งในนั้นก็คือการยับยั้งการผงาดขึ้นมาของจีน"
หลี่ จี ผู้เชี่ยวชาญด้านนาวีในปักกิ่ง เชื่อว่ากองทัพปลดแอกประชาชนจีนจะมุ่งเน้นเสริมความเข็มแข็งในแสนยานุภาพทางอากาศและทะเล เช่นเดียวกับเพิ่มพิสัยทำการขีปนาวุธของพวกเขา
"ทหารสหรัฐฯ ทำนายถูกต้อง ช่องแคบไต้หวันคือพื้นที่ที่มีความเป็นไปได้มากที่สุดที่จะมีความขัดแย้งทางทหาร ด้วยที่วอชิงตันข้ามเส้นตายของจีน ในการยุยงเอกราชไต้หวัน ซึ่งไม่ทางที่จีนจะยอมอ่อนข้อ" หลี่กล่าว "กองทัพปลดแอกประชาชนจีนมีแค่หนทางยกระดับแสนยานุภาพการป้องปรามเท่านั้นที่สามารถหยุดการแทรกแซงของทหารสหรัฐฯ ในประเด็นไต้หวัน"
ความตึงเครียดเกี่ยวกับเกาะไต้หวัน คาดหมายว่าจะเป็นวาระสำคัญสุด ครั้งที่ แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ เดินทางเยือนจีนในเดือนหน้า "ทั้งสองฝ่ายควรพยายามหาทางออกหนึ่งๆ ของภาวะทางตันในประเด็นไต้หวัน ซึ่งอาจโหมกระพือวิกฤตครั้งใหญ่ในภูมิภาค"
(ที่มา : เซาท์ไชน่ามอร์นิงโพสต์/รอยเตอร์)
หลุมหลบภัยพร้อม! นักวิเคราะห์เชื่อสหรัฐฯ ส่งสัญญาณ เตรียมการทำสงครามกับจีน - ผู้จัดการออนไลน์
Read More
No comments:
Post a Comment