อุณหภูมิบนคาบสมุทรเกาหลีร้อนระอุรับต้นปี 2023 หลังจากที่ คิม จองอึน ผู้นำเกาหลีเหนือ ออกมาประกาศนโยบายยกระดับคลังแสงนิวเคลียร์และเร่งรัดพัฒนาขีปนาวุธพิสัยไกลข้ามทวีป (ICBM) รุ่นใหม่ๆ สะท้อนการเตรียมประเทศให้พร้อมต่อการทำสงครามนิวเคลียร์ ท่ามกลางการเผชิญหน้ากับเกาหลีใต้และสหรัฐฯ ที่รุนแรงขึ้นทุกขณะ
เกาหลีเหนือยิงทดสอบขีปนาวุธทั้งพิสัยใกล้และไกลไม่ต่ำกว่า 70 ลูกในปี 2022 ในจำนวนนั้นยังรวมถึงขีปนาวุธ ICBM ที่มีศักยภาพสูงสุดเท่าที่พวกเขาเคยเปิดตัวมา
ในถ้อยแถลงซึ่งเผยแพร่หลังการประชุมพรรคแรงงานเกาหลีเมื่อช่วงปีใหม่ ผู้นำ คิม ได้เน้นย้ำความจำเป็นที่จะต้องธำรงไว้ซึ่ง “อำนาจทางการทหารที่ท่วมท้น” เพื่อปกป้องอธิปไตยและความมั่นคงของชาติ ทั้งยังกล่าวหาสหรัฐฯ และเกาหลีใต้ว่ามีเจตนา “โดดเดี่ยวและบีบคั้น” เกาหลีเหนือด้วยการส่งทรัพย์สินนิวเคลียร์ทางยุทธศาสตร์เข้ามาประจำการในเกาหลีใต้อย่างต่อเนื่อง
ผู้นำโสมแดงเรียกร้องให้มีการพัฒนา ICBM รุ่นใหม่ซึ่งจะช่วยให้เกาหลีเหนือสามารถโจมตีตอบโต้ด้วยนิวเคลียร์อย่างรวดเร็ว พร้อมระบุชัดเจนว่า เกาหลีใต้ได้กลายเป็น “ศัตรูของเราอย่างไม่ต้องสงสัย”
“สิ่งเหล่านี้ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญและความจำเป็นในการผลิตอาวุธนิวเคลียร์ทางยุทธวิธีออกมาในปริมาณมากๆ และเรายังต้องเพิ่มขนาดคลังแสงนิวเคลียร์ของประเทศขึ้นอย่างรวดเร็วด้วย” ผู้นำคิม กล่าว
เขาย้ำว่านโยบายเหล่านี้ถือเป็น “แนวทางหลัก” ของยุทธศาสตร์ด้านนิวเคลียร์และการป้องกันประเทศในปี 2023
เกาหลีเหนือยิงขีปนาวุธพิสัยใกล้ 3 ลูกไปตกในทะเลในวันส่งท้ายปีเก่า และยังยิงขีปนาวุธอีก 1 ลูกในช่วงกลางดึกของวันที่ 1 ม.ค. ซึ่งสำนักข่าว KCNA อ้างว่าเป็นการทดสอบ “ระบบจรวดหลายลำกล้องขนาดใหญ่พิเศษ” ขณะที่ผู้นำ คิม จองอึน ประกาศอาวุธเหล่านี้สามารถติดตั้ง “หัวรบนิวเคลียร์ทางยุทธวิธี” และยังทำให้ “ดินแดนเกาหลีใต้ทั้งหมด” ตกอยู่ในพิสัยโจมตีของเกาหลีเหนือ
ยาง มูจิน อาจารย์จากมหาวิทยาลัยเกาหลีเหนือศึกษาในกรุงโซล ให้สัมภาษณ์กับเอเอฟพีว่า เกาหลีเหนือกำลังบอกให้สหรัฐฯ และเกาหลีใต้รับรู้ว่าพวกเขาพร้อมที่จะ “เอาจริง”
“เกาหลีเหนือกำลังส่งสัญญาณเปลี่ยนยุทธวิธีมาเป็นการข่มขู่เกาหลีใต้เพื่อกดดันสหรัฐฯ ทางอ้อม และความตึงเครียดบนคาบสมุทรเกาหลีจะรุนแรงมากขึ้นตั้งแต่ช่วงต้นปีนี้เป็นต้นไป”
กระทรวงกลาโหมเกาหลีใต้ประณามท่าทีของเปียงยางว่าเป็น “การยั่วยุที่บ่อนทำลายสันติภาพและเสถียรภาพของคาบสมุทรเกาหลีอย่างร้ายแรง” พร้อมเตือนโสมแดงให้ยุติกิจกรรมนิวเคลียร์เสีย
“เราขอเตือนว่าถ้าเกาหลีเหนือคิดนำอาวุธนิวเคลียร์มาใช้ ระบอบ คิม จองอึน จะต้องพบกับจุดจบแน่” กระทรวงระบุ
อีกหนึ่งเหตุการณ์ที่ทำให้บรรยากาศชายแดนเกาหลีคุกรุ่นหนักก็คือ การที่เกาหลีเหนือส่งโดรน 5 ลำบินข้ามชายแดนเข้าไปในฝั่งเกาหลีใต้เมื่อวันที่ 26 ธ.ค. จนทำให้เกาหลีใต้ต้องส่งทั้งเครื่องบินขับไล่และเฮลิคอปเตอร์โจมตีออกไปพยายามยิงทำลายโดรนเหล่านั้น
รายงานระบุว่า เฮลิคอปเตอร์ของกองทัพโสมขาวได้ยิงเตือนและสาดกระสุนปืนกลราว 100 นัด ทว่าไม่สามารถยิงโดรนโสมแดงตกได้แม้แต่ลำเดียว ขณะที่โดรนเหล่านั้นใช้เวลาบินเหนือท้องฟ้าเมืองต่างๆ ของเกาหลีใต้ได้นานถึง 5 ชั่วโมง และเข้ามาจนถึงกรุงโซล
เหตุการณ์นี้ทำให้หลายฝ่ายตั้งคำถามว่า ระบบป้องกันภัยทางอากาศของเกาหลีใต้เชื่อถือได้มากพอหรือไม่? ขณะที่ประธานาธิบดี ยุน ซุกยอล ออกมาตำหนิมาตรการตอบสนองของกองทัพ และเสนอให้ตั้ง “หน่วยปฏิบัติการโดรนพิเศษ” ขึ้นเพื่อรับมือภัยคุกคามจากอากาศยานไร้คนขับโสมแดง
ผู้นำเกาหลีใต้ยังโทษว่าความไม่พร้อมเหล่านี้เป็นผลมาจากนโยบายของอดีตประธานาธิบดี มุน แจอิน ที่อ่อนข้อให้เกาหลีเหนือมากเกินไป รวมถึงข้อตกลงทางทหารปี 2018 ที่ห้ามไม่ให้ทั้ง 2 ฝ่ายทำกิจกรรมยั่วยุบริเวณชายและกำหนดเขตห้ามบิน
ยุน ออกมาขู่เมื่อวันพุธ (4) ว่าจะ “ระงับ” ข้อตกลงดังกล่าวเสีย หากเกาหลีเหนือกล้าส่งอากาศยานรุกล้ำข้ามแดนมาอีก
- คาบสมุทรเกาหลีเสี่ยงกลายเป็น ‘ยูเครนสอง’ ?
ลิม อึลชุล (Lum Eul-chul) อาจารย์จากมหาวิทยาลัยคยุงนัมในเกาหลีใต้ มองว่าความเคลื่อนไหวของเกาหลีเหนือไม่เพียงบ่งชี้ว่าพวกเขาเล็งเห็นโอกาสที่ความสัมพันธ์สองเกาหลีจะพังทลายลงเท่านั้น แต่ยังเตรียมความพร้อมสำหรับการ “ทำสงคราม” จริงด้วย
ลิม เตือนว่าหากสหรัฐฯ และเกาหลีใต้ตอบโต้โดยการยกระดับปฏิบัติการซ้อมรบร่วม ซึ่งก็มีแนวโน้มว่าจะเป็นเช่นนั้น สถานการณ์บนคาบสมุทรเกาหลีอาจเลวร้ายอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อนในปี 2023
“หากทุกฝ่ายจัดการสถานการณ์ผิดพลาด โอกาสที่คาบสมุทรเกาหลีจะกลายเป็นยูเครนสอง ก็ไม่ใช่การคาดเดาที่ไร้เหตุผลเสียทีเดียว” ลิม กล่าว
ย้อนไปเมื่อปีที่แล้ว ผู้นำ คิม ได้ลั่นวาจาว่าจะทำให้เกาหลีเหนือเป็นมหาอำนาจนิวเคลียร์ที่แข็งแกร่งที่สุดในโลก พร้อมประกาศว่าสถานะความเป็นรัฐนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือเป็นสิ่งที่ “ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงย้อนกลับได้”
โก มยอง-ฮยุน (Go Myong-hyun) นักวิจัยจากสถาบันอาซานเพื่อนโยบายศึกษา (Asan Institute for Policy Studies) ชี้ว่ารัฐบาลเกาหลีเหนือเคยพูดถึงการผลิตอาวุธนิวเคลียร์จำนวนมากๆ มาแล้วก่อนหน้านี้
“สิ่งที่เกาหลีเหนือคิดก็คือ หากพวกเขาสามารถผลิตอาวุธนิวเคลียร์ได้ในปริมาณมาก วันหนึ่งสหรัฐฯ ก็จะต้องยอมรับสถานะความเป็นรัฐนิวเคลียร์ของพวกเขาไปเอง โดยที่เกาหลีเหนือไม่จำเป็นต้องแสดงพฤติกรรมยั่วยุใดๆ เลย” โก ให้สัมภาษณ์กับเอเอฟพี
ลีฟ-เอริค อีสลีย์ (Leif-Eric Easley ) อาจารย์จากมหาวิทยาลัยอีฮวาในกรุงโซล ชี้ว่า ท่าทียั่วยุของเกาหลีเหนือในช่วงนี้ ซึ่งรวมถึงการส่งโดรนรุกล้ำน่านฟ้าเกาหลีใต้ อาจมีเจตนาเพื่อข่มขู่ให้รัฐบาล ยุน ซุกยอล เปลี่ยนไปใช้นโยบายประนีประนอมมากขึ้น ทว่าการที่ คิม จองอึน หันหลังให้แนวทางการทูตและขู่ขยายคลังแสงนิวเคลียร์ น่าจะทำให้เกาหลีใต้ยิ่งหวาดระแวงและเสริมเขี้ยวเล็บป้องกันตนเองยิ่งขึ้นไปอีกมากกว่า
“หากจีนไม่ต้องการเห็นความไร้เสถียรภาพ และการแข่งขันด้านอาวุธระหว่าง 2 เกาหลีเกิดขึ้นที่หน้าประตูบ้านตัวเอง พวกเขาก็จำเป็นต้องใช้อิทธิพลป้องปรามเกาหลีเหนือให้มากกว่านี้ในปี 2023” อีสลีย์ ระบุ
สถานการณ์ความไม่แน่นอนในภูมิภาคยังกระตุ้นให้ญี่ปุ่นต้องเตรียมรับมือเช่นกัน โดยสำนักข่าวเกียวโดอ้างข้อมูลจากกระทรวงกลาโหมญี่ปุ่นซึ่งระบุว่า รัฐบาลมีแผนพัฒนาและประจำการขีปนาวุธรุ่นใหม่ที่มีพิสัยยิงถึง 2,000 กิโลเมตรภายในต้นทศวรรษ 2030 รวมถึง “ขีปนาวุธไฮเปอร์โซนิก” พิสัยยิง 3,000 กิโลเมตร ที่จะสามารถโจมตีเป้าหมายได้ทุกแห่งในเกาหลีเหนือ รวมไปถึงบางภูมิภาคของ “จีน” ภายในปี 2035
Weekend Focus : จับตา 'เกาหลีเหนือ' เพิ่มคลังแสงนิวเคลียร์ เสี่ยงทำคาบสมุทรเกาหลีกลายเป็น 'ยูเครนสอง' - ผู้จัดการออนไลน์
Read More
No comments:
Post a Comment