ดร.ภณ ทัพพินท์กร นายกสมาคมพัฒนาเศรษฐกิจเกษตรรักษ์โลก เผยว่า โครงการข้าวรักษ์โลกถือเป็นการผลิตข้าวยุคใหม่ที่ตอบโจทย์ทั้งในเรื่องลดต้นทุนให้เกษตรกรไร่ละ 2,000 บาท ตอบสนองความต้องการของตลาด ทั้งเรื่องคุณภาพและปริมาณ ขณะเดียวกันก็ใช้นวัตกรรมที่เอื้อต่อสิ่งแวดล้อม ตอบโจทย์ BCG โมเดลของรัฐ ส่งผลให้เกิดการทำนาแบบประณีต โดยใช้จุลินทรีย์เพื่อการเกษตรเป็นหัวใจหลัก เลิกใช้ปุ๋ยเคมี สารเคมี ยาฆ่าแมลง ไถกลบตอซังข้าว ทำให้ได้ข้าวคุณภาพ ผลที่ประจักษ์นอกจากโรงสีจะให้ราคาเพิ่ม กก.ละ 1 บาทแล้ว ยังได้ไปอวดโฉมบนเวทีการประชุมเอเปก ที่จัดขึ้นเมื่อเร็วๆนี้
ล่าสุด กรมการข้าวร่วมกับสมาคมฯต่างๆ ประกอบด้วย สมาคมพัฒนาเศรษฐกิจเกษตรรักษ์โลก สมาคมโรงสีข้าวไทย กรรมการกลางศูนย์บริหารจัดการข้าวครบวงจร สมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย (สมาคมศูนย์ข้าวชุมชน) ลงนามความร่วมมือโครงการข้าวรักษ์โลก BCG Model (นาปรัง) ต่อยอดศูนย์ข้าวชุมชน สู่ศูนย์บริหารจัดการข้าวชุมชนระดับตำบล จำนวน 10 โครงการ ต่อจังหวัด จำนวน 10 จังหวัด รวม 100 โครงการ
ดร.ภณ ทัพพินท์กร กล่าวถึงการต่อยอดโครงการในครั้งนี้ว่า เป็นการต่อยอดมาจากโครงการนำร่องข้าวรักษ์โลก BCG โมเดล 20 กองทุนหมู่บ้าน ที่ก่อนหน้านี้
ทั้ง 4 สมาคมฯ ร่วมมือจัดทำ MOU การปฏิวัติการทำนาสู่ความยั่งยืน จนเกิดผลเชิงประจักษ์ คือเกษตรกรมีความพอใจมาก เนื่องจากผลผลิตได้คุณภาพ ขณะเดียวกันเกษตรกรก็ไม่ต้องสัมผัสกับสารเคมี รวมถึงยังสามารถลดต้นทุน และขายผลผลิตตรงตามความต้องการของตลาด จนส่งผลให้เกิดเสถียรภาพในด้านราคา
สำหรับโครงการนำร่องการผลิตข้าวนาปรังอีก 100 โครงการ ในพื้นที่เป้าหมาย 10 จังหวัด พื้นที่ราว 500 ไร่ต่อ 1 โครงการ รวมแล้ว 100 โครงการ จะทำให้มีพื้นที่ทำนาข้าวเกรดพรีเมียมเพิ่มขึ้นกว่า 5 หมื่นไร่ ประกอบไปด้วย ภาคเหนือ 4 จังหวัด เชียงราย อ.เชียงของ อ.เวียงแก่น, กำแพง เพชร อ.ขาณุวรลักษบุรี, พิษณุโลก ในศูนย์ข้าวชุมชน อ.พรหมพิราม อ.เมือง อ.วังทอง และนครสวรรค์ อ.ชุมแสง อ.หนองบัว
ภาคกลาง 3 จังหวัด ชัยนาท อ.เมือง อ.โนนขาม, สิงห์บุรี อ.อินทร์บุรี และลพบุรี อ.บ้านหมี่ และ อ.ท่าวุ้ง ภาคใต้ 3 จังหวัด นครศรีธรรมราช อ.หัวไทร, จ.พัทลุง อ.ควนขนุน และสงขลา อ.ระโนด และ อ.สทิงพระ.
ข้าวรักษ์โลก..ปฏิวัติทำนาปี 66 เปิดพื้นที่ 5 หมื่นไร่ ทำเกรดพรีเมียม - ไทยรัฐ
Read More
No comments:
Post a Comment