สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พบว่ากลุ่มผู้สูงอายุกำลังแบกหนี้เสียมากที่สุด จากภาระค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้น แม้เศรษฐกิจประเทศกำลังฟื้นตัวดีต่อเนื่อง แต่คุณภาพสินเชื่อในระบบและความลำบากของลูกหนี้ยังมีมากขึ้น
วันนี้ (14 ธ.ค.2565) สถานการณ์เศรษฐกิจที่ฟื้นตัวจากภาคการท่องเที่ยว ทำให้นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวว่า จีดีพีที่เพิ่มขึ้นส่งผลดี หนี้ครัวเรือนโดยรวมในไตรมาสที่ 2 ของปี 2565 ลดลงร้อยละ 3.5 เมื่อเทียบกับไตรมาสแรกของปี
แต่ปัญหาเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นตามราคาพลังงาน ส่งผลต่อค่าครองชีพ ประกอบกับปัญหาอุทกภัยในช่วงก่อนหน้านี้ ส่งผลกระทบทำให้จำนวนลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 กลายเป็นหนี้เสียเพิ่มขึ้น จาก 2.7 ล้านบัญชี เป็น 4.3 ล้านบัญชี คิดเป็นมูลหนี้เกือบ 400,000 ล้านบาท และพบว่าลูกหนี้ที่มีอายุ 41 ปีขึ้นไป เป็นกลุ่มที่กลายเป็นหนี้เสียมากที่สุด โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป มีหนี้เสียมากกว่า 1.54 ล้านล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 67.6
สภาพัฒน์ ยังพบว่า ปัญหาค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้น กระทบต่อสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ยังมีแนวโน้มผิดนัดชำระหนี้เพิ่มขึ้นเช่นกัน จึงกังวลว่าปัญหาเศรษฐกิจโลกชะลอตัวในปี 2566 อาจกระทบความสามารถชำระหนี้ของลูกหนี้กลุ่มนี้
สภาพัฒน์ จึงแนะนำลูกหนี้อย่าก่อหนี้เพิ่ม ขณะเดียวกันรัฐบาลเตรียมออกมาตรการบรรเทาภาระค่าครองชีพ และการเพิ่มโอกาสการทำงานภายในเดือน ธ.ค.นี้ เพื่อบรรเทาความเสี่ยง
อ่านข่าวอื่น
เงินเฟ้อทำ "ผู้สูงอายุ" เป็นหนี้เสียเพิ่มขึ้น - ข่าวไทยพีบีเอส
Read More
No comments:
Post a Comment