แม้ BCG และเขตการค้าเสรี เป็นปัจจัยช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้ประเทศ ที่เป็นผลจากการประชุมเอเปค แต่นับจากนี้ ฝ่ายการเมืองจะให้น้ำหนักกับนโยบายหาเสียงมากขึ้น เพราะเป็นช่วงปลายเทอมรัฐบาล แต่ไม่ควรทำให้นโยบายระยะยาวที่เป็นการขับเคลื่อนประเทศต้องสะดุด
จบไปแล้วสำหรับการประชุมผู้นำความร่วมมือเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (เอเปค) ซึ่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพครั้งที่ 3 และได้ส่งไม้ต่อให้กับสหรัฐ ที่เป็นเจ้าภาพครั้งต่อไป ซึ่งแม้นายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐ จะไม่ได้มารับการส่งต่อเจ้าภาพด้วยตัวเอง แต่ กมลา แฮร์ริส รองประธานาธิบดีสหรัฐ ก็ได้ทำหน้าที่แทนผู้นำจนจบการประชุมเรียบร้อย และรับสถานะการเป็นเจ้าภาพสำหรับการประชุมในครั้งถัดไป และคงใช้เวลาอีก 10 กว่าปี ที่การเป็นเจ้าภาพจะเวียนมาที่ประเทศไทยอีกครั้ง
การประชุมเอเปค ครั้งนี้ถึงแม้จะไม่ได้สร้างกระแสการตื่นตัวของการเป็นเจ้าภาพมากนัก เมื่อเทียบกับการเป็นเจ้าภาพในครั้งก่อนเมื่อ 19 ปีที่แล้ว แต่ก็ถือเป็นความสำเร็จที่ประเทศไทยได้ผลักดันวาระสำคัญทั้งการขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจ BCG หรือเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว รวมถึงการผลักดันการเจรจาเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก (FTAAP) ที่มีการเจรจามานานแต่ไม่มีความคืบหน้า และถ้าดำเนินการได้จะเป็นเขตการค้าเสรีใหญ่ที่สุดในโลก
ไม่ว่าจะเป็นประเด็นเขตการค้าเสรี หรือ BCG เป็นเรื่องที่หลายฝ่ายต้องการให้รัฐบาลผลักดันเพื่อให้เกิดผล แต่หลังการประชุมเอเปคแล้วประเทศไทยจะเข้าสู่โหมดการเมืองที่กังวลว่าจะทำให้รัฐบาลมองข้ามประเด็นดังกล่าว โดยทั้ง BCG และเขตการค้าเสรี ล้วนเป็นปัจจัยที่จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันให้กับประเทศ หลังจากที่อันดับของประเทศไทยถดถอยลงจากสมรรถนะเศรษฐกิจและการบริหารของรัฐบาลที่ลดลง จึงถึงเวลาที่ต้องจุดประเด็นเหล่านี้ขึ้นมา
สิ่งที่น่ากังวลเมื่อเข้าสู่ช่วงปลายรัฐบาลคือ ฝ่ายการเมืองจะให้น้ำหนักกับนโยบายหาเสียงมากขึ้น และลดน้ำหนักนโยบายที่เห็นผลในระยะยาว โดยถ้านับปฏิทินแล้วจะพบว่ากรณีที่รัฐบาลอยู่ครบวาระในเดือน มี.ค.2566 เหลือเวลาเพียงแค่ 4 เดือนเท่านั้น แต่ถ้า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เลือกการยุบสภาก็จะทำให้วาระของรัฐบาลชุดปัจจุบันสั้นลงกว่าเดิม รวมถึงฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านก็จะทุ่มเวลาไปกับการหาเสียงเป็นสำคัญ
ประเทศไทยขับเคลื่อนด้วยคนไม่กี่กลุ่ม และหนึ่งในนั้นคือการเมืองที่มีหน้าที่ในการจัดสรรผลประโยชน์ของสังคม ซึ่งหลังจากนี้จะเริ่มเห็นความเคลื่อนไหวทางการเมืองมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการประกาศจุดยืนทางการเมืองของ พล.อ.ประยุทธ์ รวมถึงการประกาศชื่อผู้เข้าชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของพรรคต่าง ๆ รวมถึงการประกาศของผู้สมัคร ส.ส.แต่ละพื้นที่ ดังนั้น ประเทศจึงนับถอยหลังเข้าสู่โหมดการเมืองเต็มที่ แต่ต้องไม่ให้การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่เกิดขึ้นทำให้ประเทศต้องสะดุด
อย่าให้การเมือง ทำประเทศสะดุด - กรุงเทพธุรกิจ
Read More
No comments:
Post a Comment