Rechercher dans ce blog

Thursday, September 22, 2022

เงินเฟ้อ : ธนาคารกลางสหรัฐฯ ขึ้นดอกเบี้ย 0.75% ทำเงินบาทไทยอ่อนสุดในรอบเกือบ 16 ปี - บีบีซีไทย

เงินบาทไทยทะลุ 37 บาทต่อดอลลาร์

ที่มาของภาพ, Reuters

ธนาคารกลางแห่งสหรัฐฯ ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีกครั้ง ถึงระดับสูงสุดในรอบเกือบ 15 ปี เพื่อหวังสู้ค่าเงินเฟ้อที่ยังเพิ่มขึ้น ทำเงินบาทไทยยิ่งอ่อนค่าทะลุ 37 บาทต่อดอลลาร์แล้ว แม้ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ ส่งสัญญาณให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คุมเงินบาทอยู่ในแดน 35 บาทต่อดอลลาร์ก็ตาม

เฟด หรือธนาคารกลางแห่งสหรัฐฯ ประกาศเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.75% ทำให้ดอกเบี้ยเพิ่มเป็น 3-3.25% ซึ่งทางเฟดยอมรับว่า การขึ้นดอกเบี้ยนี้ จะทำให้ดอกเบี้ยเงินกู้พุ่งสูงขึ้น และจะสูงอยู่เช่นนี้เป็นระยะเวลาหนึ่ง

การขึ้นดอกเบี้ยของเฟดเกิดขึ้นท่ามกลางความวิตกกังวลว่า การขึ้นดอกเบี้ยเพื่อคุมเงินเฟ้อจะกระทบหนักต่อเศรษฐกิจจนชะลอตัว

เจโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางแห่งสหรัฐฯ กล่าวว่า การขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นเรื่องจำเป็น เพื่อลดอุปสงค์ และควบคุมให้ราคาสินค้าลดลง เป็นการหลีกเลี่ยงความเสียหายต่อเศรษฐกิจในระยะยาว ทั้งนี้ เขาก็ยอมรับว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะได้รับผลกระทบ

“เราต้องก้าวผ่านเงินเฟ้อไปให้ได้” เขากล่าวและว่า “ผมหวังว่ายาแรงจะไม่เจ็บปวด แต่มันไม่เป็นเช่นนั้น”

สถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศต่าง ๆ คล้ายคลึงกับสหรัฐฯ เพราะต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อพยายามแก้ปัญหาเงินเฟ้อ

ธนาคารคารกลางอังกฤษเอง คาดการณ์ว่าจะประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 7 เช่นเดียวกับอินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์

นักวิเคราะห์เริ่มกังวลว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสูงในหลายประเทศทั่วโลก อาจนำไปสู่ภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัวครั้งใหญ่ได้

เจโรม พาวเวลล์ ประธานเฟด

ที่มาของภาพ, EPA

เบน เมย์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจมหภาค ของออกซ์ฟอร์ด อีโคโนมิกส์ ระบุว่า เศรษฐกิจโลกตอนนี้ แม้จะยังไม่เข้าสู่ภาวะชะลอตัว หลังตัวเลขเศรษฐกิจช่วง 2 ไตรมาสแรกของปี 2022 ยังทรงตัวดีอยู่ แต่คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกในปี 2023 จะอ่อนตัวลงหนักสุดในรอบ 10 ปี ไม่นับปี 2020 ที่เกิดการระบาดใหญ่ของโควิด

“สิ่งที่เห็นได้ชัด คือ หากต้องเลือกระหว่างการปล่อยให้เงินเฟ้อยังสูงอยู่เป็นเวลานาน...กับการผลักเศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะชะลอตัว บรรดาผู้นำอำนวยการธนาคารกลาง ดูจะเลือกผลักเศรษฐกิจสู่ภาวะชะลอตัว เพื่อให้เงินเฟ้อกลับไปอยู่ระดับเป้าหมายให้ได้” เขากล่าว

ดอกเบี้ยสหรัฐฯ จะขึ้นอีกเท่าไหร่

เฟดกำลังขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายด้วยความเร็วมากสุดในประวัติศาสตร์ยุคใหม่ เพื่อคุมเงินเฟ้อที่พุ่งสูงสุดในรอบ 40 ปี สวนทางนโยบายการคงอัตราดอกเบี้ยกู้ยืมต่ำยาวนานหลายปี

นักวิเคราะห์มองว่า ช่วงแรก เฟดหวังว่าจะแก้ปัญหาได้เร็วกว่านี้ หลังสถานการณ์ระบาดของโควิดเริ่มคลี่คลาย แต่สงครามในยูเครน ที่กระทบกับน้ำมันและซัพพลายสินค้า กลับทำให้เงินเฟ้อยังพุ่งทะยาน

ตอนนี้ แม้ราคาน้ำมันเริ่มลดลงมาแล้ว แต่เงินเฟ้อสหรัฐฯ ยังคงเพิ่มสูง ข้อมูลล่าสุดชี้ว่าอัตราเงินเฟ้อเดือน ส.ค. สูงถึง 8.3% จากปัจจัยอสังหาริมทรัพย์ที่ราคาแพงขึ้น บริการด้านสุขภาพ และค่าเล่าเรียนที่สูงขึ้น

เงินเฟ้อสหรัฐฯ ยังหนัก

ที่มาของภาพ, Reuters

การขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดในครั้งนี้ ถือเป็นครั้งที่ 5 ติดต่อกันแล้ว และพุ่งถึง 3% อย่างรวดเร็ว จากเดิมที่อัตราดอกเบี้ยกู้ยืมแทบจะเป็นศูนย์ ถือเป็นอัตราดอกเบี้ยที่สูงที่สุดนับแต่ต้นปี 2008

นักวิเคราะห์และบรรดานักการเมืองคาดการณ์แล้วว่า เฟดอาจดันอัตราดอกเบี้ยนโยบายไปถึง 4.4% ภายในสิ้นปีนี้ และจะยังเพิ่มสูงในปี 2023

“สิ่งที่น่าตกใจคือความเร็ว” ไบรอัน โคลตัน หัวหน้านักเศรษฐกิจ บริษัท ฟิทช์เรทติงส์ กล่าว

“เฟดต้องขยับตัวเร็ว...ซึ่งจะกระทบบริษัทและครัวเรือนอย่างแน่นอน”

ความเคลื่อนไหวทั่วเอเชีย

  • ตลาดหุ้นทั่วเอเชียปรับลดลงเฉลี่ย 1% หนักสุด คือ ดัชนีฮั่งเส็งในฮ่องกง ลดฮวบลงไป -343.17 จุด หรือ -1.86% หรือลดต่ำสุดในรอบ 10 ปี
  • ผู้อำนวยการด้านการเงินของฮ่องกงยอมรับว่า หากสถานการณ์ยังเป็นเช่นนี้ ทั้งวิกฤตโควิด เงินเฟ้อ และความผันผวนของตลาดเงินโลก มีแนวโน้มสูงที่ภายในปีนี้ เศรษฐกิจฮ่องกงจะเข้าสู่ภาวะถดถอย
  • ธนาคารกลางแห่งญี่ปุ่นยืนกรานไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย แม้จะเป็นนโยบายที่ทำให้ค่าเงินเยนอ่อนลง 20% แล้วในช่วงปีที่ผ่านมา และค่าเงินในวันนี้ (22 ก.ย.) ถือว่าต่ำสุดในรอบ 24 ปี หรือนับแต่ปี 1998 ที่ 145 เยนต่อดอลลาร์สหรัฐ
  • ค่าเงินวอนของเกาหลีใต้อ่อนลงอยู่ที่ 1,400 วอนต่อดอลลาร์ ถือว่าอ่อนหนักสุดในรอบกว่า 13 ปี ผลพวงการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด

*อัพเดทจนถึง 13.15 น. ตามเวลาในไทย

ค่าเงินบาททะยานทะลุแดน 37 บาทต่อดอลลาร์

ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 37.28 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เรียกว่าอ่อนค่าต่อเนื่อง จากวันก่อนหน้าที่ 36.97 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

นักลงทุนไทยคาดว่า ยิ่งเฟดประกาศปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นอีกเกือบ 1% เช่นนี้ จะยิ่งทำให้เงินบาทไทยอ่อนค่ามากขึ้นไปอีก

พีพีทีวีรายงานว่า นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย วิเคราะห์ว่า เงินบาทจะผันผวนสูงในช่วงก่อนและหลังตลาดรับรู้ผลการประชุมเฟด โดยเงินบาทอาจแกว่งตัวในกรอบกว้างถึง 36.70-37.20 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

ขณะที่ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยวิเคราะห์ "สถานการณ์ค่าเงินบาท" ระบุว่า เงินบาทแตะระดับอ่อนสุดในรอบเกือบ 16 ปี โดยเงินบาทอ่อนค่าทดสอบแนว 37.20 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นนับเป็นระดับอ่อนค่าสุดนับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2549

ส่วนปัจจัยนั้น แน่ชัดว่า มาจากเรื่องของเงินดอลลาร์ที่แข็งค่าอย่างมากตามการคุมเข้มนโยบายการเงินแบบแข็งกร้าวของเฟด 

เศรษฐกิจไทย

ที่มาของภาพ, Reuters

ประวิตรแทรกแซงเงินบาท ?

การขึ้นดอกเบี้ยของเฟดทำให้เงินบาทไทยมีแนวโน้มอ่อนค่าลงเรื่อย ๆ และอาจเข้าใกล้แดน 40 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ยิ่งทำให้ความหวังที่ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รักษาราชการนายกรัฐมนตรี ต้องการให้เงินบาทอยู่ที่ 35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ยิ่งห่างไกลออกไปทุกที

วานนี้ (21 ก.ย.) พล.อ. ประวิตร เปิดเผยว่าได้ สั่งการกระทรวงการคลังหารือกับ ธปท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แก้ปัญหาค่าเงินบาทอ่อน โดยยอมรับว่าในการประชุมคณะรัฐมตรี (ครม.) ตนเองกล่าวถึงค่าเงินบาทว่าควรจะอยู่ที่ 35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

“ผมบอก ผมบอกว่าควรจะ” คงค่าเงินบาทอยู่ที่ 35 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเป็นคำกล่าวที่เหมือนส่งสัญญาณให้ล็อกค่าเงินบาท

ด้าน อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ยอมรับเมื่อวานนี้ (21 ก.ย.) ว่า เงินบาทอ่อนค่าเร็วเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ แต่คงไม่ดำเนินการถึงกับคุมค่าเงินบาท ตามคำกล่าวของ พล.อ. ประวิตร เพราะต้องดูปัจจัยการขึ้นของเงินบาทก่อน

“ประเด็นที่จะคุยกับ ธปท. นั้น เราก็ต้องถามว่ามีปัจจัยอะไรมากระทบบ้าง จะมีการกำหนดแนวทางไหม ดูแลอย่างไร จริง ๆ แล้วค่าเงิน ธปท.ดูแลอยู่แล้ว เราจะไปกำหนดในเรื่องพวกนี้ไม่ได้ เพียงแต่บอกว่าเรามีความเป็นห่วง การที่อ่อนเร็วเกินหรือไม่ จะกระทบอะไร เพราะในด้านซับพลายไซต์ เราก็ดูแลเต็มที่”

“เราอ่อนเร็ว คนอื่นเขาแข็งเร็วหรือเปล่า...อันนี้ต้องดูหลาย ๆ ปัจจัย” ส่วนความวิตกต่อดอกเบี้ยสหรัฐฯ นั้น

ความเห็นของ พล.อ.ประวิตร เรียกเสียงวิจารณ์จากนักเศรษฐศาสตร์ภาคเอกชนว่า ไม่เหมาะสม ฝืนกลไกตลาด และอาจทำให้เงินสำรองระหว่างประเทศร่อยหรออย่างรวดเร็ว หากใช้ไปเพื่อการปกป้องค่าเงิน ดังที่ธนาคารแห่งประเทศไทยเคยทำ จนนำไปสู่การลอยตัวเงินบาท เมื่อ 2 ก.ค. 2540

ล่าสุด วันนี้ (22 ก.ย.) พล.อ.ประวิตร​ ออกมาปฏิเสธว่าไม่ได้พยายามแทรกแซงค่าเงินบาท โดยตอบว่า “ไม่มี ไม่เกี่ยว”

ยังห่างไกล "วิกฤตต้มยำกุ้ง" รอบใหม่

ในวาระครบรอบ 25 ปี ของวิกฤตเศรษฐกิจเอเชีย หรือ "วิกฤตต้มยำกุ้ง" ศูนย์วิจัยกสิกรไทยออกรายงานวิเคราะห์เปรียบเทียบกับสถานการณ์ในปีนี้ที่เงินบาทในปีนี้มีทิศทางอ่อนค่าสอดคล้องกับหลายสกุลเงินในเอเชีย มีสาเหตุจากผลกระทบจากปัจจัยของเงินดอลลาร์สหรัฐ โดยเฉพาะการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ

“เมื่อเปรียบเทียบกันแล้ว จะพบว่า สถานการณ์ในปัจจุบันมีความแตกต่างจากปี 2540 เพราะในปี 2540 เงินบาทที่อ่อนค่าเป็นผลมาจากการปรับอ่อนค่าหลังมีการลอยตัวค่าเงินเพื่อสะท้อนปัจจัยพื้นฐานที่อ่อนแอของไทยในเวลานั้น นอกจากนี้หากดูในเรื่องความผันผวนของค่าเงิน จะพบว่า ค่าความผันผวนของเงินบาทในปี 2565 ก็ยังอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับภาพรวมของสกุลเงินเอเชียอื่นๆ ซึ่งสะท้อนว่า ธปท. ยังคงช่วยดูแลความเคลื่อนไหวและลดความผันผวนของค่าเงินบาทท่ามกลางปัจจัยไม่แน่นอนรอบด้าน”

สิ่งหนึ่งที่รายงานฉบับนี้อธิบายให้เห็นว่า ประเทศไทยได้เรียกรู้จากบทเรียนครั้งนั้น ที่นำมาสู่จุดเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ คือ การให้ความสำคัญกับทุนสำรองระหว่างประเทศมากขึ้น

เมื่อพิจารณาทุนสำรองระหว่างประเทศในเดือน มิ.ย. มีอยู่ราว 2.51 แสนล้านบาทถือว่าแข็งแกร่ง ขณะที่สัดส่วนหนี้ต่างประเทศก็ปรับลดลงมาอยู่ที่ระดับ 38.2% ต่อจีดีพี ณ สิ้นปี 2564 นอกจากนี้ทางการได้เข้ามาดูแลการเก็งกำไรในตลาดอสังหาริมทรัพย์เป็นระยะผ่านมาตรการ อาทิ การกำหนดเพดานอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อต่อมูลค่าหลักประกัน (Loan to Value - LTV) ซึ่งภาพเหล่านี้สะท้อนการเรียนรู้บทเรียนจากอดีตและการวางแนวทางเพื่อไม่ให้ไทยซ้ำรอยเดิม

ตึกร้าง

ที่มาของภาพ, AFP/Getty Images

น่ากังวลแค่ไหน เมื่อบาทอ่อนสุดในรอบ 16 ปี

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ออกบทวิเคราะห์เมื่อวันที่ 21 ก.ย. ที่ผ่านมา ได้อธิบายถึง ภาพรวมการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทนับตั้งแต่ต้นปี 2565 ยังคงเป็นทิศทางที่สอดคล้อง และเกาะกลุ่มไปกับทิศทางค่าเงินหยวน และสกุลเงินอื่น ๆ ในภูมิภาค โดยเงินบาทอ่อนค่าลงประมาณ 10% เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์เป็นอันดับ 5 ในเอเชีย ตามหลังเงินเยนของญี่ปุ่น เงินวอนของเกาหลีใต้ เงินเปโซของฟิลิปปินส์ และเงินดอลลาร์ไต้หวันตามลำดับ

“การอ่อนค่าของทุกสกุลเงินในเอเชียที่กระจายเป็นวงกว้าง สะท้อนว่า ชนวนสำคัญมาจากเรื่องของเงินดอลลาร์สหรัฐ ที่แข็งค่าอย่างมากตามจังหวะการคุมเข้มนโยบายการเงินแบบแข็งกร้าวของเฟด”

อย่างไรก็ตาม ในภาพรวมของเศรษฐกิจไทยหลังวิกฤตโควิด ก็มีแนวโน้มทยอยฟื้นตัวขึ้น

ส่วนประเด็นค่าเงินบาทที่อ่อนลง สำนักวิจัยแห่งนี้ได้ชี้ให้เห็นว่า มีความแตกต่างไปจากสถานการณ์ในช่วงวิกฤติต้มยำกุ้งปี 2540 ที่ผ่านมา ซึ่งในช่วงเวลานั้นเศรษฐกิจไทยเผชิญปัญหาเรื้อรังจากความไม่สมดุลหลายด้านพร้อมกัน และต้องใช้เวลานานกว่าที่จะคลี่คลายลง

นอกจากนี้ ธปท. ยังคงติดตามสถานการณ์ของเงินบาทอย่างใกล้ชิด และใช้เครื่องมือที่เหมาะสมอย่างระมัดระวัง เพื่อดูแลเสถียรภาพของค่าเงิน

อย่างไรก็ตาม ในขณะนี้ แบงก์ชาติจะไม่สามารถให้สัมภาษณ์หรือให้ความเห็นเกี่ยวกับการตัดสินนโยบายการเงินได้เป็นเวลา 7 วันก่อนหน้าวันประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) หรือที่เรียกว่า “silent period” ซึ่งการประชุมครั้งถัดไปจะมีขึ้นในวันที่ 28 ก.ย.

ก่อนหน้านั้น เมื่อวันที่ 10 ส.ค. กนง.ได้มีมติปรับเพิ่มดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% จาก 0.50% เป็น 0.75% ต่อปี โดยหวังว่าจะช่วยลดความเสี่ยงที่อาจต้องเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในอนาคต โดยประเมินว่าจะไม่กระทบการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญ

Adblock test (Why?)


เงินเฟ้อ : ธนาคารกลางสหรัฐฯ ขึ้นดอกเบี้ย 0.75% ทำเงินบาทไทยอ่อนสุดในรอบเกือบ 16 ปี - บีบีซีไทย
Read More

No comments:

Post a Comment

พระครู เชิญวิญญาณ เมียฝรั่ง เผยต้องทำพิธี 3รอบ ตร.เจอเรื่องแปลก - ข่าวสด - ข่าวสด

พระครู ทำพิธีเชิญดวงวิญญาณ เมียฝรั่ง ถูกฆ่าทิ้งไร่ข้าวโพด เผยสิ่งผิดปกติ ต้องทำพิธีถึง 3 รอบ ด้าน พนักงานสอบสวน เล่าเรื่องแปลก ก่อนวันผู้ต้อ...