เมื่อวันที่ 11 ส.ค. 2565 ที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน นายวทัญญู ทิพยมณฑา รองเลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน รับเรื่องร้องเรียนจากนายศรีสุวรรณ จรรยา ในฐานะนายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน กรณีขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินแสวงหาข้อเท็จจริง กรณีกองทัพเรือจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ไม่โปร่งใส ทำให้ประชาชนในพื้นที่สนามบินอู่ตะเภา จังหวัดระยอง ได้รับผลกระทบด้านเสียงเป็นจำนวนมาก
โดยคำร้องของสมาคมต่อต้าตามที่กองทัพเรือและสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)ได้ดำเนินโครงการศึกษาความเหมาะสมโครงการพัฒนาท่าอากาศยานอู่ตะเภา ต.พลา อ.บ้านฉาง จ.ระยอง โดยมีการว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาให้มีการสำรวจและจัดทำรายงานผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน(EHIA) โดยรอบสนามบินอู่ตะเภา ตามโครงการก่อสร้างทางวิ่งและทางขับที่ 2 นั้น
แต่ปรากฏว่ามีกลุ่มประชาชนซึ่งจะได้รับผลกระทบทางเสียงฯ และประชาชนผู้ได้รับผลกระทบทางเสียง ความสั่นสะเทือน และมลพิษทางอากาศจากการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาดังกล่าวเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้บริษัทที่ปรึกษาที่รับทำการสำรวจและจัดทำรายงานผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ(EHIA) ได้ดำเนินการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชนรวมประมาณ 4 ครั้ง ซึ่งแต่ละครั้งไม่มีความชัดเจนในการนำเสนอข้อมูลที่อาจส่งผลกระทบต่อประชาชนจำนวนมาก พอสรุปได้ดังนี้
การสำรวจและการจัดประชุมระหว่างบริษัทที่ปรึกษาและสำรวจผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนโดยรอบสนามบินอู่ตะเภา ได้มีการจัดเวทีประชุมรับฟังความคิดเห็นใหญ่ ๆ รวมประมาณ 4 ครั้งด้วยกัน ดังนี้นสภาวะโลกร้อน ระบุว่า
ครั้งที่ 1 ได้มีการสำรวจและจัดประชุมระหว่างบริษัทที่ปรึกษาและสำรวจกับประชาชนในวันที่ 4 กรกฎาคม 2562 เวลา 08.30 ถึงเวลา 12.00 ณ ห้องแกรนด์บอลรูม 1-3 โรงแรมภูริมาศ บีช แอนด์ สปา อำเภอบ้านฉาง จังหวัดระยอง โดยมีเนื้อหาสาระส่วนใหญ่จะเน้นการประชาสัมพันธ์แนะนำโครงการพัฒนาท่าอากาศยานอู่ตะเภาเป็นการทั่วไปให้ประชาชนได้รับทราบเท่านั้น
ครั้งที่ 2 จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในวันที่ 17-19 มกราคม 2563 ณ ศาลาประชาคม ตำบลสำนักท้อน อำเภอบ้านฉาง จังหวัดระยอง โดยมีเนื้อหาการนำเสนอผลกระทบทางเสียง โดยเฉพาะผลกระทบด้านการรบกวน (เรียกว่า NEF : Noise Exposure Forecast ซึ่งถือว่าเป็นค่าทางเสียงค่าหนึ่ง ที่ใช้ประเมินการรบกวนจากการได้ยินเสียงบริเวณชุมชนรอบสนามบินจากกิจกรรมของสนามบิน เรียกสั้น ๆ ว่า “เส้นเสียง NEF” ค่า NEF> 40 ไม่เหมาะสำหรับการใช้ที่ดินใด ๆ ยกเว้นในส่วนที่อ่อนไหวต่อเสียงน้อยและได้รับการออกแบบมาสำหรับพื้นที่ที่มีเสียงในระดับสูง, NEF 35-40 จะมีการร้องเรียนบ่อยครั้งไม่เหมาะสำหรับการเป็นที่ตั้งของโรงเรียน โรงพยาบาล ศาสนสถาน อาคารที่มีห้องประชุม, NEF 30-35 เริ่มมีการร้องเรียนบ่อยครั้งไม่เหมาะสำหรับการเป็นที่ตั้งของโรงเรียน โรงพยาบาล ศาสนสถาน อาคารที่มีห้องประชุม, NEF ต่ำกว่า 30 เหมาะกับการใช้ที่ดินทั่วๆไป และที่อยู่อาศัยหนาแน่นต่ำ อาจมีการร้องเรียนเป็นครั้งคราว เป็นต้น)
ทั้งนี้จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในวันดังกล่าว มีการแจ้งให้ประชาชนทราบว่าจากการศึกษาพบว่า เส้นเสียง NEF > 40 (แรเงาสีชมพู) และ NEF < 40 (แรเงาสีฟ้า) ของผู้ที่ได้รับผลกระทบทางเสียง ซึ่งแนวเส้นระดับความดังของเสียงนี้ได้รับมาจากข้อมูลจากข้อบังคับการบินของการบินในอดีตถึงปํจจุบันของทางขับที่ 1 ได้ผลสรุปดังนี้
เส้นเสียงที่ 1 จากการประชุมครั้งนี้ ระดับความดัง NEF > 40 (แรเงาสีชมพู) ผลกระทบจากระดับความดังเสียงครอบคลุมเป็นพื้นที่โดยประมาณดังนี้
ตำบลสำนักท้อน
หมู่ 3 บ้านสระแก้ว (0.9 ตร.กม.)
หมู่ 4 บ้านดลองบางไผ่ (0.61 ตร.กม.)
หมู่ 8 บ้านเชิงเขา (0.46 ตร.กม.)
ซึ่งประชาชนผู้ที่ได้รับผลกระทบจากระดับความดัง NEF > 40 (แรเงาสีชมพูในแผนที่ 1 และ 2 รวมกัน) คิดเป็นจำนวนประมาณ 500 หลังคาเรือนเศษ
แนวเส้นเสียง ระดับความดัง NEF 30-40 (แรเงาสีฟ้าในแผนที่ 1 และ 2 รวมกัน) อยู่ในตำบลพลา ตำบลสำนักท้อน ตำบลพลูตาหลวงและตำบลห้วยใหญ่ ได้แก่
หมู่ 1 บ้านสำนักท้อน (3.01 ตร.กม.)
หมู่ 2 บ้านชากหมาก (0.77 ตร.กม.)
หมู่ 3 บ้านสระแก้ว (5.49 ตร.กม.)
หมู่ 4 บ้านคลองบางไผ่ (1.48 ตร.กม.)
หมู่ 5 บ้านยายร้า (0.04 ตร.กม.)
หมู่ 6 บ้านเขาคลอก (4.44 ตร.กม.)
หมู่ 7 บ้านหนองตะเคียน (0.05 ตร.กม.)
หมู่ 8 บ้านเชิงเขา (1.57 ตร.กม.)
หมู่ 5 บ้านเขาบายศรี (1.89 ตร.กม.)
หมู่ 11 บ้านมาบฟักทอง (0.84 ตร.กม.)
(ตามแผนที่เส้นเสียงที่ 1 และ 2 รวมกันที่แนบมาพร้อมหนังสือฉบับนี้)
ครั้งที่ 3 จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนวันที่ 5 สิงหาคม 2563 เวลา 17.00 ถึงเวลา 20.00 น. ณ อาคารเอนกประสงค์ศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ องค์การบริหารส่วนตำบลสำนักท้อน และวันที่ 6 สิงหาคม 2563 เวลา 08.30 ถึงเวลา 12.00 น. ณ ห้องแกรนด์บอลรูม 1-3 โรงแรมภูริมาศ บีช แอนด์ สปา อำเภอบ้านฉาง จังหวัดระยอง แต่ปรากฎว่าในการประชุมที่มีการนำเสนอแนวเส้นเสียงที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน ผิดไปจากแนวเส้นเสียงของการประชุมรับฟังรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 2 ที่ผ่านมา โดยผู้ทำการศึกษาแจ้งในการประชุมครั้งที่ 3 ว่าแนวเส้นเสียงนี้ทำขึ้นจากการสร้างแบบจำลอง โดยตั้งสมมุติฐานอันมิได้มาจากข้อมูลพื้นฐานของการบินจริงในอดีตและปัจจุบันของทางขับที่ 1 ซึ่งเส้นเสียงดังกล่าวจากการประชุมครั้งที่ 3 นี้ทำให้ความครอบคลุมไปถึงผู้ที่ได้รับผลกระทบทางด้านเสียงจริงลดน้อยถอยลงไปเป็นอันมากกล่าวคือ
เส้นเสียงที่ 1 จากการประชุมครั้งที่ 2 มี่ครัวเรือนที่อยู่ในพื้นที่ได้รับผลกระทบจากแนวระดับความดังเสียง NEF > 40 มีอยู่ประมาณ 500 หลังคาเรือนเศษ
แต่ในทางกลับกัน เส้นเสียงที่ 2 จากการประชุมครั้งที่ 3 จากแนวเส้นระดับความดังเสียง NEF > 40 (เส้นสีแดงทรงเจดีย์) จะมีครัวเรือนที่อยู่ในพื้นที่ได้รับผลกระทบเหลืออยู่เพียง 80 หลังคาเรือน (ตามแผนที่แนวเส้นเสียงที่ 1 และ 2 รวมกันที่แนบมาพร้อมกันนี้)
จะเห็นได้ว่าจากการสำรวจและประชุมในครั้งที่ 2 และครั้งที่ 3 ข้อเท็จจริงของผู้ได้รับผลกระทบจากความดังของเสียงถูกลดลง โดยการสร้างแบบจำลองที่ไม่ได้ตั้งอยู่บนพื้นฐานของการบินจริงทั้งในอดีตและปัจจุบันจากทางขับที่ 1 เช่นเดียวกับทางขับที่ 2 ได้ถูกจำลองแบบการบินโดยสมมุติฐานเดียวกัน ซึ่งมิอาจนำมาเป็นการกำหนดแนวเส้นเสียงที่เกิดจริงได้
ในคณะทำงานกลุ่มประชาชนผู้ได้รับผลกระทบทางเสียงจากการพัฒนาท่าอากาศยานอู่ตะเภา ได้ลงสอบถามประชาชนผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเสียง ล้วนมีความกังวลใจว่าจะไม่ได้รับความเป็นธรรมในการชดเชยหรือเยียวยาที่สอดคล้องตามข้อเท็จจริง ทั้งที่ประชาชนมีความยินดีที่จะให้ความร่วมมือกับโครงการพัฒนาท่าอากาศยานอู่ตะเภา หากได้รับการชดเชยอย่างเป็นธรรมครอบคลุมพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบทางเสียงจริง
ตามที่กล่าวมาข้างต้น จะเห็นได้ชัดเจนว่าแผนที่เส้นเสียงทั้ง 2 ฉบับขัดแย้งกันโดยสิ้นเชิงและไม่อาจสร้างความเชื่อมั่นต่อประชาชนผู้ได้รับผลกระทบได้
ครั้งที่ 4 มีการประชุม Online ผ่าน Zoom Meeting วันเสาร์ที่ 14 สิงหาคม 2564 เวลา 09.00 - 12.00 น.กิจกรรมการชี้แจงข้อมูล (เพิ่มเติม) เนื้อหาสาระสำคัญของการประชุมครั้งนี้เพื่อแจ้งข้อมูลเพิ่มเติมของบริษัทที่ปรึกษาสรุปผู้ที่ได้รับผลกระทบดังนี้
ผู้ที่ได้รับผลกระทบในเส้นเสียง NEF >40 จากเส้นเสียงที่ 2 จำนวน 80 หลังคาเรือนเพิ่มขึ้น 13 หลังคาเรือน รวมเป็นจำนวน 93 หลังคาเรือน
ผู้ที่ได้รับผลกระทบในเส้นเสียง NEF 30-40 จากเส้นเสียงที่ 2 จำนวน 2,459 หลังคาเรือนเพิ่มขึ้น 32 หลังคาเรือนและลดลง 12 หลังคาเรือน รวมเป็นจำนวน 2,466 หลังคาเรือน (ตามแผนที่เส้นเสียงที่ 3 ที่แนบมา)
จะเห็นได้ว่าการจัดประชุมครั้งที่ 4 นี้เป็นไปด้วยความเร่งรีบแม้จะมีเสียงทัดทานจากประชาชนในพื้นที่ว่ายังไม่เหมาะสมที่จะจัดประชุมด้วยการประกาศ พรก.ฉุกเฉินจากสถานการณ์ COVID-19 ซึ่งประชาชนส่วนมากไม่สามารถเข้าถึงการประชุม Online ได้ แต่ก็ยังคงมีการจัดประชุมโดยบริษัทที่ปรึกษาสำรวจผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนโดยไม่คำนึงถึงเสียงทัดทานใดๆ ทั้งสิ้น จากการประชุมในแต่ละครั้งรวมถึงครั้งนี้บริษัทที่ปรึกษาฯ และผู้เกี่ยวข้อง ก็มิเคยนำเอาความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่เข้ามาแก้ไขหรือปรับปรุง ซึ่งอย่างนี้จะเรียกว่าการประชุมรับฟังความคิดเห็นก็คงจะไม่เป็นที่สมควรมากนัก จากการตั้งข้อสังเกตการสรุปรายงานการประชุมครั้งนี้ที่เป็นลายลักษณ์อักษรของบริษัทที่ปรึกษาฯ ก็มิได้มีความสอดคล้องกัน และหลีกเลี่ยงการถอดข้อมูลการบันทึกเสียงบางอย่างโดยมิได้ลงเป็นลายลักษณ์อักษรไว้ในรายงานสรุปการประชุมในครั้งนั้น ซึ่งประชาชนยังมีข้อกังขาต่อบริษัทที่ปรึกษาฯ ดังกล่าวเป็นอันมาก ความไม่รู้ไม่คุ้นชินภูมิประเทศของบริษัทที่ปรึกษาฯ ทิศทางลม ทิศทางการขึ้นลงของอากาศยาน, Utapao VFR Local Procedure, General Aviation รวมถึงวงจรการบิน (Rectangular) สิ่งทั้งหลายเหล่านี้มิได้นำเข้าข้อมูลมาเพื่อใช้ในการสร้างแบบจำลอง (Model Simulation) ข้อมูลผลกระทบจึงออกมาโดยผิดจากความเป็นจริง
ด้วยเหตุดังกล่าว ประชาชนกว่า 480 หลังคาเรือนในตำบลสำนักท้อน อ.บ้านฉาง จ.ระยอง ที่ได้รับผลกระทบจากเส้นเสียง NEF >40 ซึ่งกำลังจะเป็นผู้เดือดร้อนและเสียหายการใช้เล่ห์ฉลหลีกเลี่ยงการกำหนดเส้นเสียง (NEF) ในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการขึ้น-ลงของเครื่องบิน ณ สนามบินอู่ตะเภา จ.ระยอง ไม่ให้ตรงกับข้อเท็จจริงดังกล่าว ได้พยายามร้องเรียนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและรับผิดชอบมาอย่างต่อเนื่องแล้ว อาทิ นายกรัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดระยอง เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย ฯลฯ แต่ก็ไม่มีหน่วยงานใดให้คำตอบ หรือดำเนินการเพื่อให้มีการทบทวนการกำหนดเส้นเสียง NEF ให้สะท้อนข้อเท็จจริงโดยไม่มีการบิดเบือนได้ ดังนั้นตัวแทนชาวบ้านในตำบลสำนักท้อน อ.บ้านฉาง จ.ระยอง จึงได้มาร้องขอให้สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนได้ช่วยเป็นธุระในการเรียกร้องความเป็นธรรมจากหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อประศาสน์ความเป็นธรรมให้กับพวกเขาเหล่านั้น
ด้วยเหตุดังกล่าว สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน จึงใคร่เรียนมายังผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อขอได้โปรดใช้อำนาจตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มาตรา 230(1)และหรือ(2) ประกอบ พรป.ว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ.2560 เพื่อแสวงหาข้อเท็จจริงกรณีชาวบ้านในตำบลสำนักท้อน อ.บ้านฉาง จ.ระยอง ได้รับความเดือดร้อนหรือความไม่เป็นธรรม อันเนื่องมาจากการไม่ปฏิบัติตามกฎหมายหรือปฏิบัตินอกเหนือหน้าที่และอำนาจตามกฎหมายของหน่วยงานรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ ในการใช้เล่ห์ฉลหลีกเลี่ยงการกำหนดเส้นเสียง (NEF) ในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการขึ้น-ลงของเครื่องบิน ณ สนามบินอู่ตะเภา จ.ระยอง ไม่ให้ตรงกับข้อเท็จจริง อันทำให้ชาวบ้านเดือดร้อนหรือไม่ได้รับสิทธิการชดเชยตามความเป็นจริง และไม่ได้รับความเป็นธรรม
และนอกจากนี้ ประชาชนกว่า 480 หลังคาเรือนในตำบลสำนักท้อน อ.บ้านฉาง จ.ระยอง ที่ได้รับผลกระทบจากเส้นเสียง NEF >40 มีข้อเสนอและข้อเรียกร้องผ่านผู้ตรวจการแผ่นดิน ดังนี้
1)ประชาชนชาวสำนักท้อนไม่เห็นด้วยและขอคัดค้านการรายงานผลสำรวจผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนโดยรอบสนามบินอู่ตะเภา (EHIA) ทุกฉบับ และขอให้มีการทบทวนในส่วนที่เกี่ยวกับการกำหนดเส้นเสียง NEF เสียใหม่ ยกเว้นรายงานจากการประชุมครั้งที่ 2 ซึ่งจัดทำโดย บริษัท ยูไนเต็ด แอนนาลิสต์ แอนด์ เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแตนท์ จำกัด
2)ให้นำแผนที่เส้นเสียงที่ 1 จากการประชุมในครั้งที่ 2 เป็นบรรทัดฐานในการชดเชยและเยียวยาประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากแนวเส้นระดับความดังของเสียง NEF > 40 ไม่น้อยกว่า 500 หลังคาเรือน และผู้ได้รับผลกระทบที่อยู่ในแนวระดับความดังของเสียง NEF 30-40 อีกหลายหมู่บ้านดังที่กล่าวไว้ข้างต้น เพราะอย่างน้อยแผนที่เส้นเสียงนี้ถึงจะไม่ถูกต้องทั้งหมดแต่มีความใกล้เคียงกับความเป็นจริงถึงผลกระทบมากที่สุด
(ทั้งนี้ การเจรจาซื้อขายที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของประชาชนผู้ได้รับผลกระทบในเส้นเสียง NEF>40 นั้นรัฐบาลยังสามารถนำพื้นที่เหล่านี้ใช้ในกิจกรรมอื่นๆ เช่น MRO, Logistics, Cargo หรือสนามแข่งรถ เพราะมีความเหมาะสมของทำเลที่ตั้ง ซึ่งอาจจะมองเป็นลักษณะลาดกระบังโมเดลก็เป็นไปได้)
3)หากไม่สามารถนำแผนที่แนวเส้นเสียงที่ 1 ในการประชุมครั้งที่ 2 มาเป็นบรรทัดฐานในการชดเชยและเยียวยาได้ ขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินใช้อำนาจตามกฎหมายในการจัดประชุมระหว่างผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมดเช่น กองทัพเรือ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก บริษัทที่ปรึกษาสำรวจผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ สำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม คณะกรรมการผู้ชำนาญการฯ และประชาชน เพื่อให้มีการชี้แจงที่มาของข้อมูลต่างๆ ที่นำมาเป็นข้อมูลนำเข้าในการสร้างแบบจำลองนี้และอีกทั้งยังเป็นการเจรจาเพื่อหาข้อยุติเพื่อการเริ่มต้นพัฒนาเมืองการบินเป็นลำดับต่อไป
4)หากพบว่าผู้ตรวจการแผ่นดินมีความเห็นหรือข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาตามข้อร้องเรียนนี้แล้ว หน่วยงานรัฐหรือเจ้าหน้าที่ละเลยเพิกเฉยไม่ยอมปฏิบัติตามกรอบระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด ขอให้รายงานการไม่ปฏิบัติตามความเห็นหรือข้อเสนอแนะของผู้ตรวจการแผ่นดิน ให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาตามมาตรา 33 มาตรา 34 และมาตรา 35 ของพรป.ว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ.2560 ต่อไปด้วย
ท้ายนี้หากท่านผู้ตรวจการแผ่นดิน ได้ดำเนินการอย่างใดๆ ตามอำนาจหน้าที่อย่างไรแล้ว มีผลความก้าวหน้าเป็นประการใด ๆ ตามระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดแล้ว กรุณาแจ้งให้สมาคมฯและตัวแทนชาวบ้านได้ทราบด้วย ทั้งนี้ตามมาตรา 41 มาตรา 51 มาตรา 59 มาตรา 63 และมาตรา 78 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ประกอบพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ.2540 และพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ.2546 ด้วย
ร้องผู้ตรวจฯสอบ "กองทัพเรือ" ปมทำ EHIA สนามบินอู่ตะเภา ปชช.ได้มลภาวะเสียง - กรุงเทพธุรกิจ
Read More
No comments:
Post a Comment