เหตุการณ์ที่สำนักงานสอบสวนกลางของสหรัฐฯ (เอฟบีไอ) เข้าค้นบ้านของอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ในรัฐฟลอริดา สะท้อนให้เห็นว่าการเมืองอเมริกันกำลังตกอยู่ในทะเลเพลิง
การเปิดเผยหมายค้นทำให้สังคมพอได้ทราบบ้างว่าทำไมทรัมป์ถึงต้องถูกค้นบ้าน การตัดสินใจขั้นต่อไปตกไปอยู่บนบ่าของผู้พิพากษา ว่าจะยอมเปิดเผยเอกสารที่มีความอ่อนไหวต่อความมั่นคงสูงหรือไม่ เพื่อชี้ให้เห็นว่าการเข้าค้นบ้านพักหรูที่รีสอร์ตมาร์-อา-ลาโก เป็นเรื่องที่สมควรกระทำ
ทว่า เหตุการณ์นี้ ไม่เพียงจะไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน แต่ยังมีความซับซ้อนและเต็มไปด้วยคำถามที่รอคำตอบอยู่อีกมาก และนี่คือทุกสิ่งที่เรารู้
ทำไมเอฟบีไอเข้าค้นบ้านพักที่มาร์-อา-ลาโก
กล่าวโดยย่อคือกระทรวงยุติธรรมสงสัยว่านายโดนัล ทรัมป์ อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้ก่ออาชญากรรม
รายละเอียดของหมายค้นแสดงให้เห็นว่าเจ้าหน้าที่เอฟบีไอ ได้รวบรวมหลักฐานเมื่อวันที่ 8 ส.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของปฏิบัติการสอบสวนว่านายทรัมป์ได้ดำเนินการกับเอกสารที่เป็นบันทึกของรัฐบาลอย่างไม่เหมาะสม ด้วยการนำเอกสารเหล่านี้ออกจากทำเนียบขาว ไปยังบ้านพักที่รีสอร์ตมาร์-อา-ลาโก หรือไม่
โดยปกติแล้ว ประธานาธิบดีสหรัฐฯ จะต้องมอบเอกสารทั้งหมดของพวกเขาซึ่งรวมถึงอีเมลให้กับ
หอจดหมายเหตุแห่งชาติ
และเมื่อต้นปีที่ผ่านมา หอจดหมายเหตุฯ ชี้ว่าพวกเขาได้นำเอกสารจำนวน 15 กล่อง จากบ้านพักของนายทรัมป์ที่มาร์-อา-ลาโก กลับคืนมา โดยเอกสารเหล่านี้นายทรัมป์ควรส่งมอบให้กับ หอจดหมายเหตุฯ ตั้งแต่พ้นจากตำแหน่งที่ทำเนียบขาว หอจดหมายเหตุฯ ระบุว่าเอกสารเหล่านี้มีข้อมูลลับรวมอยู่ด้วย และส่งเรื่องไปยังกระทรวงยุติธรรมให้เข้ามาตรวจสอบ
แต่การจะได้หมายค้นมานั้น อัยการจะต้องโน้มน้าวให้ผู้พิพากษาเชื่อว่าอาจมีอาชญากรรมเกิดขึ้น เรายังทราบมาว่าหมายค้นนี้ลงนามโดยอัยการสูงสุด ซึ่งถือเป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูงสุดที่ของหน่วยงานยุติธรรม
เจ้าหน้าที่พบอะไรบ้าง
ข้อมูลจากบัญชีสิ่งของที่มีการนำมาเผยแพร่พร้อมหมายค้น เจ้าหน้าที่พบเอกสาร 20 กล่อง
เจ้าหน้าที่เอฟบีไอนำเอกสาร 11 ชุด ในจำนวนนี้อยู่ในชั้น “ลับสุดยอด” 4 ชุด, ชั้น “เอกสารลับ” 3 ชุด และอีก 3 ชุด อยู่ในชั้น “ความลับ”
รายการสิ่งของเหล่านี้ยังระบุตีตรา “TS/SCI” ซึ่งใช้ระบุถึงสิ่งที่เป็นความลับสุดยอด หากเปิดเผยต่อสาธารณชนอาจสร้างความเสียหาย “อย่างมหันต์” ต่อความมั่นคง
เอกสารของศาล ระบุว่าไฟล์เหล่านี้ควรจัดเก็บไว้ในสถานที่ของรัฐบาลที่มีการรักษาความปลอดภัยเท่านั้น
ทว่าบันทึกของศาลไม่ได้ระบุว่าเอกสารเหล่านี้มีรายละเอียดอะไรบ้าง และยังมีสิ่งอื่น ๆ อีกมากในบัญชีรายการสิ่งของที่ยึดจากบ้านพักของนายทรัมป์ ที่เราไม่รู้รายละเอียด
ตัวอย่างเช่น รูปภาพจำนวนหนึ่ง บันทึกที่เขียนด้วยมือ และข้อมูลที่ไม่ได้ระบุเจาะจงเกี่ยวกับ “ประธานาธิบดีฝรั่งเศส”
ทรัมป์ว่าอย่างไร
อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ ผู้นี้ออกมาโวยวายถึงการดำเนินการของเอฟบีไอ และปฏิเสธมาโดยตลอดว่าเขาไม่ได้กระทำผิด
เขากล่าวว่าเอกสารที่เจ้าหน้าที่ยึดไปนั้น “ทั้งหมดไม่ได้เป็นความลับอีกต่อไปแล้ว” และถูกเก็บไว้ใน “สถานที่ที่ปลอดภัย” เขายังกล่าวว่าเขาจะส่งมอบเอกสารเหล่านี้คืนให้อยู่แล้วหากกระทรวงยุติธรรมขอมา
อย่างไรก็ดี หนังสือพิมพ์เดอะนิวยอร์กไทมส์รายงานว่ากระทรวงยุติธรรมของสหรัฐฯ ได้ขอเอกสารเพิ่มเติมจากนายทรัมป์ในช่วงฤดูใบไม้ผลิที่ผ่านมา โดยเชื่อว่าเป็นเอกสารที่อยู่ในความครอบครองของเขา กระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ กล่าวว่าไม่ทราบว่าเหตุใดจึงไม่มีการส่งเอกสารที่พบนี้คืนให้ในเวลานั้น
ด้านนายทรัมป์เองก็ให้คำอธิบายไม่หนักแน่นว่าเหตุใดเอกสารเหล่านี้ถึงมาอยู่ที่บ้านพักของเขาที่มาร์-อา-ลาโก ตั้งแต่แรก
เขาชี้ว่ามีความเป็นไปได้ที่เอกสารเหล่านี้ถูกเอาวางเป็นกับดัก ทั้งยังอ้างแบบผิด ๆ ว่า อดีตประธานาธิบดีบารัก โอโบมา เองก็มีเอกสารลับไว้ในครอบครอง นายทรัมป์ย้ำอยู่หลายครั้งว่าเอกสารเหล่านี้ล้วนไม่เป็นความลับอีกต่อไปแล้ว
รู้จักเอกสารลับ
เอกสารลับจะถูกแบ่งออกเป็น 3 ระดับ ได้แก่ ลับ (confidential), ลับมาก (secret), ลับที่สุด (top sescret) การแบ่งชั้นความลับขึ้นกับว่าหากเอกสารดังกล่าวถูกเผยแพร่ต่อสาธารณชนจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อความมั่นคงมากน้อยแค่ไหน
เมื่อมีการจัดชั้นความลับของเอกสารแล้ว จะมีการตีตรา และ จะมีบุคคลที่ผ่านการตรวจสอบระดับความปลอดภัยแล้วจำนวนเหนึ่งเท่านั้นที่สามารถเข้าถึงเอกสารเหล่านี้ได้ นอกจากนี้ก็ยังมีขั้นตอนที่กำหนดไว้ในการขนส่งและเก็บรักษาเอกสารเหล่านี้โดยเฉพาะ
เจ้าหน้าที่ระดับสูงบางคนมีอำนาจเพียงพอในการระบุว่าเอกสารเหล่านี้ไม่ใช่ความลับอีกแต่ไป แน่นอนว่าประธานาธิบดีก็มีอำนาจนี้เช่นกัน แต่โดยปกติแล้วมักมอบให้เป็นหน้าที่ของบุคคลที่มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงดำเนินการ
เป็นเรื่องที่ควรรู้ว่าประธานาธิบดีสหรัฐฯ ไม่ใช่บุคคลที่จะระบุว่าเอกสารที่เกี่ยวข้องกับอาวุธนิวเคลียร์ ไม่เป็นความลับอีกต่อไป โดยผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงบอกกับ นสพ.วอชิงตันโพสต์ว่า เรื่องนี้อยู่ภายใต้กฎหมายคนละฉบับ
สถานีโทรทัศน์ซีบีเอสซึ่งเป็นพันธมิตรของบีบีซี ระบุว่า ประธานาธิบดีไม่อาจชี้ว่าเอกสารใดไม่จัดว่าเป็นความลับเพียงด้วยคำพูดเท่านั้น แต่จะต้องจัดทำบันทึกที่ประธานาธิบดีเป็นผู้ลงนาม ก่อนนำเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
เมื่อมีการตัดสินใจขั้นสุดท้ายแล้ว จะมีขดีฆ่าระดับชั้นความลับของเอกสารเหล่านี้ และตีตราว่า “ไม่เป็นความลับอีกต่อไป ณ วันที่…”
ไม่เป็นที่แน่ชัดว่านายทรัมป์ได้ทำตามขั้นตอนดังกล่าวกับเอกสารที่เจ้าหน้าที่ยึดได้จากบ้านพักที่มาร์-อา-ลาโก ของเขาหรือไม่
จะเป็นอะไรไหมหากเอกสารไม่ลับอีกต่อไป
ในเชิงกฎหมาย อาจจะไม่
นั่นเพราะอัยการกำลังตรวจสอบว่าอาจมีการก่ออาชญากรรม 3 กรณี ได้แก่
- จงใจครอบครองข้อมูลด้านกลาโหมของประเทศ
- ขัดขวางการสืบสวนสอบสวนของรัฐ
- ปกปิดหรือลบบันทึกของรัฐบาล
การกระทำผิดจาก 3 ข้อกล่าวหาข้างต้น ไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าเอกสารที่ยึดได้เป็นความลับหรือไม่
นี่หมายความว่ายังไม่แน่ว่าข้อโต้แย้งของนายทรัมป์ที่ว่าเอกสารไม่เป็นความลับแล้วนั้น จะฟังขึ้นหรือผู้พิพากษาจะเห็นว่าเกี่ยวข้องหรือไม่
นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่น ๆ อีก เช่น กฎหมายที่ออกแบบมาเพื่อปกป้องเอกสารที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของชาติไม่ให้ตกไปอยู่ในมือของคนที่ไม่สมควร เช่น กฎหมาย Presidentail Records Act ซึ่งว่าด้วยเอกสารบันทึกต่าง ๆ ของประธานาธิบดี กฎหมายนี้ระบุว่าจะต้องมีการจัดเก็บเอกสารเหล่านี้ไว้ที่หอจดหมายเหตุแห่งชาติ หากประธานาธิบดีไม่ดำเนินการก็เสี่ยงที่จะกระทำผิดทางแพ่งได้
จะเกิดอะไรขึ้นต่อไป
ตอนนี้สิ่งที่ทุกคนจับตามองคือเอกสารที่มีความอ่อนไหวต่อความมั่นคงอย่างคำให้การที่เป็นลายลักษณ์อักษร ระบุรายละเอียดหลักฐานที่กระทรวงยุติธรรมใช้ในการขอออกหมายค้น
ตอนนี้กลุ่มสื่อมวลชนออกมาเรียกร้องให้มีการเปิดเผยเอกสารดังกล่าวเพราะเห็นว่าอยู่ในความสนใจของสังคม แต่กระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ ไม่เห็นด้วยเพราะอาจส่งผลต่อการสืบสวนสอบสวน
ผู้พิพากษาได้รับฟังความเห็นจากทั้งสองฝ่าย และสรุปว่าเขา “มีแนวโน้ม” ที่จะเปิดเผยคำให้การบางส่วน แต่ได้สั่งให้กระทรวงยุติธรรมกลับไปปรับปรุงเอกสารเพื่อไม่ให้ส่งผลเสียต่อการสืบสวนสอบสวน โดยกำหนดให้ปรับปรุงให้เสร็จภายในวันที่ 25 ส.ค.นี้ นี่หมายความว่าหากมีการเปิดเผยเอกสารออกสู่สายตาประชาชนก็จะมีการปกปิดข้อมูลที่มีความอ่อนไหวเอาไว้
แต่ถึงอย่างนั้น เอกสารจะเปิดเผยออกมาอาจมีข้อมูลใหม่ ๆ ที่น่าสนใจ
อย่างไรก็ดี ยังไม่ชัดเจนเสียทีเดียวว่าจะมีการเปิดเผยคำให้การที่เป็นลายลักษณ์อักษรนี้ ทั้งหมดขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของผู้พิพากษา ซึ่งจะต้องรอดูต่อไป
ณ ขณะนี้นายทรัมป์ยังไม่ถูกตั้งข้อกล่าวหาว่ากระทำผิดใด ๆ และยังไม่ชัดเจนว่าจะมีการตั้งข้อหาเขาหรือไม่หลังกระบวนการสืบสวนจบลง
โดนัลด์ ทรัมป์ : เอฟบีไอทำอะไรที่บ้านอดีตผู้นำสหรัฐฯ - บีบีซีไทย
Read More
No comments:
Post a Comment