“ดิจิทัล” เคยเป็นภัยคุกคาม(Treaths) ธุรกิจเพลง ปัจจุบันกลายเป็นช่องทางทำเงินมหาศาลให้ค่ายเพลง และโลกของอุตสาหกรรมเพลงกำลังเติบโตระลอก 2 มองเกมยักษ์ใหญ่ "จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่" สานต่อการโต "ดิจิทัล มิวสิค"
นับตั้งแต่พายุดิจิทัล(Digital disruptio) ถาโถมธุรกิจเดิม(Traditional) ในอดีตที่เคยเติบโตเป็นกอบเป็นกำ กลับต้องระส่ำระสายไปพักใหญ่ หลายองค์กร เดินหน้าผ่าตัดปรับโครงสร้าง เปลี่ยนผ่านองค์กร(Transform) ให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลง เพื่อยืดหยัดต่อ
ธุรกิจ “เพลง” เป็นอีกหมวดที่ได้รับผลกระทบจากดิสรัปชั่น ค่ายเพลงยักษ์ใหญ่ในอดีตที่เคยทำรายได้จากเพลง บริการจัดการศิลปิน กลับมารายได้ลดลง
หลายปีที่ผ่านมา สิ่งที่ทำให้ธุรกิจเพลงเปลี่ยน ไม่ได้มีแค่ดิจิทัล แต่เริ่มจาก “แผ่นผีซีดีเถื่อน” การดาวน์โหลดฟังโดยไม่จ่ายค่าลิขสิทธิ์ นั่นล้วนเป็นภาพจริงที่เกิดขึ้น กระทั่งมาถึง “ดิจิทัล” ที่พลิกพฤติกรรมผู้บริโภคในการฟังเพลงให้เปลี่ยนนอย่างสิ้นเชิง จากเทป ซีดี MP3 ดาวน์โหลด มาเป็น “ออนไลน์” ทั้งฟังสดผ่านสตรีมมิ่งแพลตฟอร์ม ทั้งJoox Spotify ฟังย้อนหลัง ซ้ำวนไปผ่าน Youtube หรือกระจายไปอยู่บน TikTok เป็นต้น
ในการพบนักลงทุนครั้งล่าสุดของ ค่ายเพลงเบอร์ 1 ของเมืองไทยอย่าง “จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่” มีเรื่องราวน่าสนใจอย่างมาก เกี่ยวกับธุรกิจเพลง ซึ่ง ธนากร มนูญผล รองกรรมการผู้อำนวยการ ฝ่ายนักลงทุนสัมพันธ์ บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด(มหาชน) ทำหน้าที่ฉายภาพสถานการณ์ของตลาดเพลงในไทยและทั่วโลก
เริ่มจากตลาดโลก “ธนากร” เล่าว่า ย้อนอดีตการเติบโตของธุรกิจเพลงที่ทะยานไปสู่ขั้นสุด เกิดขึ้ในปี 1999 หรือ 2544 ด้วยมูลค่าตลาด 2.41 แสนล้านดอลลาร์ ซึ่งยังเป็นยุคของ Physical และนั่นเป็นธุรกิจเพลงระลอกแรกที่เติบโตทำเงินมหาศาล จากนั้นตลาดค่อยๆเข้าสู่ภาวะ “ขาลง” ในปี 2546 และยังถดถอยอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งปี 2557 มูลค่าตกต่ำที่ 1.42 แสนล้านดอลลาร์
จากนั้นปี 2558 ตลาดเริ่มฟื้นตัวกลับมาเติบโตอีกครั้ง โดยมีดาวน์โหลด ดิจิทัล สตรีมมิ่ง ดิจิทัลมิวสิค เข้ามามีบทบาทเพิ่มขึ้น
ทว่า ปี 2564 ธุรกิจเพลงกลับมาเติบโตโกยเงินมหาศาล สร้างมูลค่าตลาดสูงถึง 2.59 แสนล้านดอลลาร์ จึงถือเป็นการเติบโต “ระลอก 2” ของอุตสาหกรรมหรือวงการเพลงนั่นเอง
“ดิจิทัล” ที่เคยเป็นภัยคุกคาม(Treaths) ของธุรกิจเพลง ปัจจุบันกลับกัน เพราะกลายเป็นช่องทางทำเงิน สามารถกอบโกยการเติบโตมากขึ้นเรื่อยๆอีกด้วย เฉพาะ “สตรีมมิ่ง” ครองสัดส่วนถึง 65% ของตลาด ส่วนการเติบโตในปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 24.83% แซงภาพรวมตลาดเพลงทั้งโลกที่เติบโต 18.5%
แล้วตลาดเพลงในโลก..ใครใหญ่? คำตอบหนีไม่พ้น “สหรัฐฯ” ชาติมหาอำนาจในทุกด้านของโลก และมีการเติบโต 22% โดยประเทศที่ติด Top 10 ของตลาดตามด้วยญี่ปุ่น อังกฤษ เยอรมัน ฝรั่งเศส จีน เกาหลีใต้ เป็นตลาดเกิดใหม่ แคนาดา ออสเตรเลีย และอิตาลี
แกรมมี่ฯ อยู่ตรงไหนในธุรกิจเพลง? หากมองภาพรวมของวงการ แกรมมี่ฯ อาจเป็นเพียง “รายเดียว” ที่ยังให้น้ำหนักกับธุรกิจหลักด้าน “เพลง” ยาวนานเกือบ 4 ทศวรรษ ซึ่งปัจจุบันยังทำรายได้สัดส่วนถึง 51.6% ที่เหลือเป็นทีวีโฮมช้อปปิ้ง ผ่าน “โอ ช้อปปิ้ง” ธุรกิจภาพยนตร์โดยค่าย “จีดีเอช” และทีวีดาวเทียม “จีเอ็มเอ็ม แซด”
ไส้ในของธุรกิจเพลง “ดิจิทัล มิวสิค” ยังทำเงินสูงสุด 51% ตามด้วยการบริหารจัดการศิลปิน ทั้งงานโชว์ งานแสดง พรีเซ็นเตอร์ ฯ 33% การบริหารจัดการลิขสิทธิ์ 7% Physical เช่น ไวนิล MP3 ราว 7% และโชว์บิส หรือคอนเสิร์ตต่างๆ 2%
แกรมมี่ฯ มีคลังเพลงกว่า 20,000 เพลง ซึ่งสั่งสมไว้ตลอด 38 ปี การเสิร์ฟคอนเทนท์สู่แพลตฟอร์มดิจิทัล จึงช่วยทำ “กำไร” ได้อย่างดี เนื่องจากสินค้าสำเร็จรูป มีต้นทุนเดิม
ด้านเพลงยังครอบคลุมทั้งเพลงป๊อป ร็อค ลูกทุ่ง และล่าสุดคือแนวเพลงไทยบ้าน มีค่าย “ไทดอล มิวสิค” มาบุกตลาด
เพลงจำนวนมากที่โกยยอดวิวบนออนไลน์ เช่น ลูกทุ่ง มี “มนต์แคน แก่นคูณ” ทำยอดวิวสูงสุดตลอดกาลบนยูทูป แนวเพลงอื่นๆล้วนติดชาร์มความนิยมแทบทั้งสิ้น
“ฐานแฟนเพลง” ของแกรมมี่ฯ บนแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ ยังมีมหาศาล ซึ่ง “ธนากร” เชื่อว่าจำนวนสูงสุดในวงการค่ายเพลงแล้ว ด้านการเติบโตของฐานแฟน ยังมีต่อเนื่อง เช่น เพจเฟซบุ๊ค จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ มีแฟนติดตาม(Follower) 9.5 ล้าน ยูทูปกว่า 20 ล้าน จีนี่ เรคคอร์ดกว่า 1.7 ล้าน ยูทุปกว่า 13.6 ล้าน แกรมมี่ โกลด์ ค่ายเพลงลูกทุ่งใหญ่สุด ผู้ติดตามบนเฟซบุ๊กกว่า 5.1 ล้าน ยูทูปกว่า 15.7 ล้าน ซึ่งการเติบโตทรงพลังในอัตรา 2 หลัก
การผลักดันรายได้ในครึ่งปีหลังให้กับธุรกิจ “เพลง” มีทั้งลุยดิจิทัล มิวสิค บนแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ การกลับมารุกงานโชว์ งานแสดง การเป็นพรีเซ็นเตอร์ สปอนเซอร์ชิปของศิลปินที่แต่ละปีมีมากกว่า 6,000-7,000 งาน แต่ช่วงโควิดโดนกวาดเรียบเพราะมาตรการล็อกดาวน์ของรัฐเพื่อสกัดโรคระบาด
งานคอนเสิร์ต เป็นอีกไฮไลท์ ที่จะกลับมาจัดมากขึ้น ทั้งปีมี 17 งาน โดย 12 งานจะอัดแน่นช่วงโค้งสุดท้ายของปี ทำให้การรับรู้รายได้จะเกิดขึ้นช่วงไตรมาส 4 ค่อนข้างมาก
แกรมมี่ฯ มีศิลปินเพลงนับ “ร้อยชีวิต” แต่ยังไม่เพียงพอ แต่ละปี บริษัทจะเงินลงทุนจำนวนมาก เพื่อปั้นศิลปินหน้าใหม่ หนึ่งในโปรเจคใหญ่ต้องจับตาดูยาวๆ คือการร่วมทุนกับ “วายจีฯ” ยักษ์ใหญ่ความบันเทิงของเกาหลี ที่มาร่วมทุนตั้ง YG”MM เพื่อปั้นศิลปินไอดอล ที่ผ่านมาเปิดออดิชั่นไป มีคนสมัครล้นหลาม และยังคงเดินสายออนทัวร์ เปิดออดิชั่นต่อทั้งเกาหลีใต้ และไทย ไปยังหลายพื้นที่ เช่น ขอนแก่น เชียงใหม่ เชียงราย ภูเก็ต ฯ
ภาพรวมครึ่งปีแรก “ธุรกิจเพลง” สามารถทำเงิน 1,115 ล้านบาท เติบโต 23.9% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยการฟื้นตัวเห็นอย่างต่อเนื่อง ส่วนธุรกิจจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติได้ คาดการณ์เกิดขึ้นปีหน้า
ธุรกิจเพลงโลกเข้าสู่ยุคโตระลอก 2 'จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่' ลุยดิจิทัล ทำเงินต่อ - กรุงเทพธุรกิจ
Read More
No comments:
Post a Comment