หลังปลดล็อก “กัญชา” ปัญหาที่ตามมาคือ การ “ใช้กัญชา” ในทางที่ผิด ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้ใช้ได้ทั้งในระยะสั้น และระยะยาว โดยอีกหนึ่งรูปแบบที่เริ่มมีการใช้ และเผยแพร่ในโซเชียลมีเดียคือ “กัญชาไฟฟ้า” ที่มีลักษณะการใช้คล้าย “บุหรี่ไฟฟ้า”
รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์เฟซบุ๊ก เกี่ยวกับการใช้กัญชาไฟฟ้าว่ามีความเสี่ยงภาวะปอดพัง โดยมีเนื้อหาดังต่อไปนี้
“ผลกระทบจากการสูบน้ำมันกัญชาไฟฟ้า...
การหาทางเลี่ยงจากมวนกัญชา ไปใช้วิธีสูบน้ำมันกัญชาไฟฟ้า หรือที่เรียกว่า vaping นั้นอาจเสี่ยงต่อภาวะปอดพัง
ย้อนไปในปี 2019-2020 ประเทศสหรัฐอเมริกา ประสบปัญหาผู้ป่วยจำนวนมากที่เกิดภาวะปอดอักเสบรุนแรง
จากการสอบสวนโรคพบว่าเกิดจากการสูบน้ำมันกัญชาโดยใช้เครื่องสูบไฟฟ้า (E-cigarette or vaping)
เรียกโรคนี้ว่า E-cigarette, vaping products, associated lung injury (EVALI)
ผู้ป่วยที่เกิดภาวะปอดอักเสบรุนแรงมาที่แผนกฉุกเฉินในโรงพยาบาลนั้นมีทุกเพศทุกวัย แต่พบมากในวัยรุ่น
ข้อมูลจาก US CDC จนถึง 18 กุมภาพันธ์ 2020 พบว่ามีจำนวนผู้ป่วยสูงถึง 2,807 คน จากทุกรัฐของอเมริกา และทำให้เสียชีวิตไปถึง 68 คน สาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะปอดอักเสบนี้ เชื่อว่าสัมพันธ์กับสาร Vitamin E acetate รวมถึงสาร THC ที่มีอยู่ในน้ำมันกัญชาที่ใช้สูบ
...กระแสข่าว
ในไทยตอนนี้ มีคนจำนวนมากฮิตใช้เครื่องสูบไฟฟ้าเสพน้ำมันกัญชา เพื่อหวังจะลดปัญหาเรื่องกลิ่นจากการสูบกัญชาแบบมวนนั้น ขอให้ทราบไว้ด้วยว่า ไม่ว่าจะสูบแบบมวน หรือสูบผ่านเครื่องสูบไฟฟ้า ก็จะส่งผลกระทบให้เกิดปัญหาสุขภาพที่รุนแรงตามมาได้”
นอกจากนี้ ด้านแพทยสภา ยังมีการเผยแพร่ “วิธีใช้กัญชา” ที่ไม่ควรทำหรืออาจทำให้เป็นอันตรายได้ 6 เรื่อง ได้แก่
- ไม่ใช้กัญชาในลำดับแรกในการรักษาโรค จะใช้เมื่อยามาตรฐานขนานอื่น แล้วไม่สามารถรักษาหรือควบคุมอาการ/ภาวะของโรคได้
- ไม่ใช้กัญชาในหญิงตั้งครรภ์ หญิงให้นมบุตรเด็ก และเยาวชนอายุไม่เกิน 25 ปี เพราะมีผลต่อพัฒนาการของสมอง
- ไม่ผสมกัญชา/กัญชง ลงในอาหารหรือขนม สำหรับประชาชนรับประทาน
- ไม่ใช้ กัญชา/กัญชง เพื่อนันทนาการโดยเด็ดขาด
- ไม่ใช้ "ช่อดอกของกัญชา" เพราะมีสารเสพติดซึ่งจะทำให้สุขภาพทรุดโทรมลงได้มาก
- ไม่ใช้กัญชา/กัญชงโดยเด็ดขาดในประชาชนทั่วไปที่ไม่ได้มีโรคตามข้อบ่งชี้
ทั้งนี้ทางแพทยสภายังให้คำแนะนำว่า หากอยู่ในกรณีที่ต้องใช้กัญชา ควรใช้เฉพาะสารสกัดกัญชาที่ทราบปริมาณแน่นอน ของสาร "CBD" และ "THG" ในการรักษาโรคตามข้อบ่งใช้จากแพทย์ที่ผ่านการอบรม
ทั้งนี้ สามารถอ่านรายละเอียดเกี่ยวกับการใช้กัญชาทางการแพทย์ และคำแนะนำต่างๆ เกี่ยวกับกัญชา กัญชง ของราชวิทยาลัย/วิทยาลัย สมาคม และองค์กรที่แพทยสภาให้การรับรองความถูกต้องของข้อมูลได้ที่ www.tmc.or.th/cannabis.php
------------------------------------------
อ้างอิง: แพทยสภา
พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์ ศิลาวงษ์
"กัญชาไฟฟ้า" อันตรายอย่างไร ? สรุปการใช้ "กัญชา" ที่ไม่ควรทำ และเป็นอันตราย - กรุงเทพธุรกิจ
Read More
No comments:
Post a Comment