"วัยทำงาน" หลายคนพบว่าตนเองเริ่ม "นอนดึก" บ่อยๆ หรือไม่หลับไม่นอนตอนกลางคืน ชอบทำงานตอนกลางคืน เพราะไอเดียพุ่ง คิดงานไว ทำงานลื่นไหลเป็นพิเศษ แล้วมักจะง่วงหลับเอาตอนกลางวัน พฤติกรรมเหล่านี้เข้าข่ายอาการ "โรคร่าเริง" ซึ่งพบมากขึ้นในวิถีคนเมือง ที่มีเทคโนโลยีไร้พรมแดนเชื่อมต่อกับชีวิตประจำวันจนแยกกันไม่ออก
รวมถึงกลุ่มผู้ชอบท่องโลกโซเซียลในตอนกลางคืน มักจะไถฟีดบนหน้าจอเพลินจนล่วงเลยเวลาเข้านอน ทำให้นอนดึกเป็นประจำ ส่งผลให้เมื่อตื่นขึ้นเช้ามาแล้วมีอาการง่วงซึมตลอดทั้งวัน สมองช้า ไม่มีสมาธิ นำไปสู่พฤติกรรม “โรคร่าเริง” ซึ่งในระยะยาวจะส่งผลเสียต่อสุขภาพมากกว่าที่คิด
อ.พญ.บุษราคัม ชัยทัศนีย์ แพทย์ประจำศูนย์นิทราเวช โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
ให้ข้อมูลเกี่ยวกับโรคร่าเริงผ่านรายการ “รู้เท่ารู้ทัน” ทางช่อง Thai PBS ไว้ว่า ในทางการแพทย์ยังไม่ได้มีการนิยามคำว่า “โรคร่าเริง” ซึ่งคำนี้น่าจะเกิดจากการล้อพฤติกรรมของคนที่ไม่หลับไม่นอนตอนกลางคืน
แต่จริงๆ แล้วทางการแพทย์เรียกว่า “โรคนอนผิดเวลา” (Delayed Sleep Phase Disorder : DSPD) ซึ่งเป็นความผิดปกติของการนอนหลับ และการทำงานที่ผิดปกติของ "นาฬิกาชีวภาพ" ในร่างกาย
ขณะที่ พญ.พัชรนันท์ ศรีพัฒนวัชร์ สาขาเวชศาสตร์ป้องกัน แขนงสาธารณสุขศาสตร์ รพ.สมิติเวช ก็ได้อธิบายความผิดปกติของผู้มีภาวะโรคร่าเริงเอาไว้ว่า เนื่องจากร่างกายของคนเรามีการหลั่งฮอร์โมนตาม "นาฬิกาชีวิต" เมื่อถึงเวลานอนตอนกลางคืน ร่างกายจะหลั่งโกรทฮอร์โมนเพื่อซ่อมแซมฟื้นฟูส่วนต่างๆ ทำให้ร่างกายแข็งแรง และช่วยควบคุมความเครียด เพื่อให้ร่างกายพร้อมที่จะใช้ชีวิตในวันถัดไป
แต่หากใช้วงจรเวลาชีวิตผิดปกติ อดหลับอดนอนในช่วงกลางคืนซึ่งเป็นเวลาที่โกรทฮอร์โมนทำงาน ก็จะทำให้ฮอร์โมนผิดเพี้ยนไปด้วย ดังนั้น พฤติกรรมการดำเนินชีวิตแบบกลางวันไม่อยากตื่น กลางคืนไม่อยากหลับ จึงกลายเป็นภัยใกล้ตัวอย่างคาดไม่ถึง โดยผู้ที่เข้าข่ายโรคร่าเริงมักมีพฤติกรรมดังนี้
- ไม่ยอมนอนตอนกลางคืน ตื่นตัว กระตือรือร้นในการทำงาน
- เกลียดการตื่นเช้า ง่วงเหงาหาวนอนตลอดวัน เมื่อกลางคืนไม่ได้นอน ก็จะเพลียและตื่นเช้าไม่ไหว
- กลายเป็นคนติดกาแฟ ต้องพึ่งกาแฟให้ร่างกายตื่นตัวในช่วงกลางวัน
- การทำงานของลำไส้ผิดเพี้ยน ท้องผูก ระบบย่อยอาหารทำงานผิดปกติ
- ผิวพรรณไม่สดใส การเผาผลาญน้อยลง
- อยากกินของหวานมากขึ้น อ้วนง่ายขึ้น
นอกจากนี้ อ.พญ.บุษราคัม บอกอีกว่าผู้ที่มีพฤติกรรมจาก “โรคนอนผิดเวลา” (Delayed Sleep Phase Disorder : DSPD) จะส่งผลเสียต่อร่างกายได้ทั้งแบบฉับพลันและเรื้อรัง ได้แก่
- ผลเสียแบบฉับพลัน : ตื่นเช้ามาไม่สดใส ความสามารถในการรู้คิดต่างๆ ลดลง ความตื่นตัวและสมาธิลดลง อารมณ์เปลี่ยนแปลง โมโหง่าย โกรธง่ายผิดปกติ
- ผลเสียแบบเรื้อรัง (มีอาการนาน 3 เดือนขึ้นไป) : นอกจากสมาธิลดลง และอารมณ์เปลี่ยนแปลง โมโหง่าย โกรธง่ายแล้ว ยังส่งผลให้ประสิทธิภาพการทำงานลดลง ทำงานผิดพลาดมากขึ้น เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุได้ง่ายขึ้น เสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจเพิ่มขึ้น เสี่ยงต่อภาวะอ้วน ภาวะเบาหวาน ภาวะโรคไตเรื้อรัง ภาวะภูมิคุ้มกันลดลง ป่วยง่าย ฯลฯ
ใครรู้ตัวว่าตนเองเข้าข่าวมีพฤติกรรมโรคร่าเริง จนส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน ควรไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษาเพื่อปรับพฤติกรรมใหม่ โดยแนวทางการรักษาของแพทย์ คือ จะให้ผู้ป่วยทำ “ไดอารี่การนอนหลับ” เพื่อตรวจสอบว่าผู้ป่วยมีพฤติกรรมการนอนเป็นอย่างไร
จากนั้นแพทย์จะแนะนำวิธีปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการนอน เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถเข้านอนได้เร็วขึ้น และตื่นนอนได้เร็วขึ้น ให้ใกล้เคียงกับตารางชีวิตปกติ ได้แก่
- ปรับเวลานอน เข้านอน 4 ทุ่ม หรือไม่เกินเที่ยงคืน เนื่องจากโกรทฮอร์โมนจะทำงานเวลา 22.00 - 02.00 น.
- หลีกเลี่ยงกาแฟ ชา บุหรี่ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ทำให้หลับยาก เช่น การออกกำลังกาย การเล่นโซเชียล ช่วงก่อนนอน (ถ้าจะทำควรทำให้จบ 2 ชั่วโมงก่อนเข้านอน)
- ไม่ควรนอนหลับกลางวัน เพราะจะทำให้ไม่ง่วงตอนกลางคืน
- หากให้ปรับพฤติกรรมแล้วยังไม่ดีขึ้น แพทย์อาจพิจารณาจ่ายฮอร์โมนเมลาโทนิน หรือใช้ Light Therapy เพื่อช่วยให้นอนหลับดีขึ้น
-----------------------------------------
อ้างอิง : Chula, Thai PBS, Samitivejhospitals
กลางคืนไม่นอน ระวัง! "โรคร่าเริง" ทำวัยทำงานสุขภาพแย่มากกว่าที่คิด - กรุงเทพธุรกิจ
Read More
No comments:
Post a Comment