เป็นอีกหนึ่งปัญหา “หนักใจ” ของ “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) หลังรับตำแหน่งมากว่า 1 เดือน ในประเด็น “อุโมงค์ระบายน้ำบึงหนองบอน” วงเงินกว่า 4.9 พันล้านบาท หลังจากก่อสร้างมานานราว 5 ปี แต่ปัจจุบันยังไม่แล้วเสร็จ
ก่อนการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. “ชัชชาติ” พร้อมด้วย “วิโรจน์ ลักขณาอดิศร” ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.พรรคก้าวไกล เดินทางมาตรวจสอบอุโมงค์แห่งนี้ เนื่องจากมีปัญหาการทรุดตัวของสะพานมาแล้ว โดยเกิดจากดินสไลด์ ทำให้ต้องปิดการจราจร จนประชาชนเริ่มบ่นถึงปัญหารถติดตามมา
“สุดท้ายต้องยอมรับความจริง ต้องบอกประชาชนว่าเกิดอะไรขึ้น ต้องบอกความจริงว่าจะใช้ระยะเวลากี่ปี อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นก็เป็นบทเรียน สถานการณ์ตอนนี้คือต้องมีการซ่อมแซม วิธีแก้ก็ไม่ได้ง่าย ต้องใช้เวลาแก้เป็นปี ต้องรีบเร่งคุยกับผู้รับเหมา” นายชัชชาติ ให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อเมื่อ 17 ก.ค. 2565 ที่ผ่านมา
เช่นเดียวกับ “วิโรจน์” ที่ปัจจุบันเป็นหัวหน้าคณะทำงานขับเคลื่อนนโยบายกรุงเทพมหานคร พรรคก้าวไกล โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กไล่บี้ “ผู้รับเหมา” ที่ก่อสร้างอุโมงค์ดังกล่าว ยาวนานกว่า 5 ปี และเมื่อต้นปี 2565 ที่ผ่านมาเกิดเหตุการณ์สะพานทรุด ทำให้บ้านเรือนประชาชนเกิดความเสียหาย โดย กทม.รับทราบปัญหาความล่าช้าในการก่อสร้างมาโดยตลอด และมีการเลื่อนกำหนดวันเสร็จหลายครั้ง ดังนั้นจึงควรเร่งติดตามตรวจสอบข้อเท็จจริงของปัญหานี้ จะปล่อยให้มีความคลุมเครือไม่ได้
หลายคนอาจสงสัยว่าโครงการอุโมงค์บึงหนองบอนดังกล่าว เกิดขึ้นมาอย่างไร
กรุงเทพธุรกิจ สืบค้นข้อมูลย้อนหลังพบรายละเอียด ดังนี้
โครงการอุโมงค์บึงหนองบอน มีชื่อเต็มว่า โครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำจากบึงหนองบอนลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ดำเนินการโดย กทม. ใช้งบประมาณจากปี 2558 ออกประกาศเชิญชวนเมื่อ มิ.ย. 2558 เปิดให้เอกชนซื้อเอกสาร (ซื้อซอง) ระหว่างเดือน มิ.ย.-ก.ค. 2558 โดยพบว่ามีเอกชนมาซื้อซอง 7 ราย
โดยในช่วงเดือน มิ.ย. 2558 มีบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) มาซื้อซองเมื่อวันที่ 4 มิ.ย. 2558 และ หจก.สามประสิทธิ์ มาซื้อซองเมื่อวันที่ 5 มิ.ย. 2558 อย่างไรก็ดีถัดมาเมื่อ 10 ก.ค. 2558 กิจการร่วมค้า เอสที-เอสจี หรือ ST-SG Joint Venture ได้เข้ามาซื้อซองด้วย
โดยกิจการร่วมค้า เอสที-เอสจี ถูกสมศักดิ์ มีอุดมศักดิ์ ผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ ระบุว่าคือ บริษัท ซิโน-ไทยฯ และ หจก.สามประสิทธิ์
หลังจากนั้นในขั้นตอนการยื่นเอกสาร (ยื่นซอง) มีเอกชน 4 รายเข้าร่วม ได้แก่
- กิจการร่วมค้า เอสที-เอสจี เสนอราคา 4,925,665,000 บาท
- บริษัท สี่แสงการโยธา (1979) จำกัด เสนอราคา 4,988,888,888 บาท
- บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) เสนอราคา 5,391,686,000 บาท
- บริษัท เนาวรัตน์พัฒนาการ จำกัด (มหาชน) เสนอราคา 4,941,000,000 บาท
มีผู้ผ่านการพิจารณาคุณสมบัติและเทคนิค 2 รายคือ บริษัท สี่แสงการโยธา (1979) จำกัด และกิจการร่วมค้า เอสที-เอสจี โดยท้ายที่สุด กิจการร่วมค้า เอสที-เอสจี เป็นผู้ชนะการประกวดราคาไปเนื่องจากเป็นผู้เสนอราคาต่ำสุด และดำเนินการจัดทำสัญญาเมื่อวันที่ 30 ก.ย. 2558 มีกำหนดสิ้นสุดสัญญา 15 ก.พ. 2565 ระยะเวลาก่อสร้างรวม 2,226 วัน
สำหรับบริษัท ซิโน-ไทยฯ หลายคนน่าจะทราบกันอยู่แล้วว่าคือบริษัทรับเหมาก่อสร้าง “ยักษ์ใหญ่” ของเมืองไทย โดยส่วนมากจะเน้นการก่อสร้างระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน โดยมีบริษัท ซี.ที. เวนเจอร์ จำกัด ของคนสกุล “ชาญวีรกูล” เป็นเจ้าของ
ส่วน หจก.สามประสิทธิ์ ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เมื่อ 18 ก.ค. 2565 พบว่า จดทะเบียนเมื่อวันที่ 23 เม.ย. 2508 ทุนปัจจุบัน 750 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ 10 ซอยสุโขทัย 1 ถนนสุโขทัย แขวงสวนจิตรลดา เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร 1วัตถุประสงค์ที่ส่งงบการเงินปีล่าสุด งานวิศวกรรมโยธาหรือการก่อสร้างงานขนาดใหญ่ มีคนตระกูล “เพ็ชรตระกูล” เป็นเจ้าของ โดยนายสมบัติ เพ็ชรตระกูล ถือหุ้นใหญ่สุด มูลค่า 390 ล้านบาท
นำส่งงบการเงินล่าสุดเมื่อปี 2564 มีรายได้รวม 1,005,037,150 บาท รายจ่ายรวม 914,531,960 บาท ดอกเบี้ยจ่าย 45,015,450 บาท กำไรสุทธิ 45,489,739 บาท
ทั้งหมดคือข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างโครงการอุโมงค์ระบายน้ำบึงหนองบอน วงเงินกว่า 4.9 พันล้านบาท หลังใช้เวลาก่อสร้างมายาวนานกว่า 5 ปี และสิ้นสุดสัญญาลงไปเมื่อเดือน ก.พ. 2565 ที่ผ่านมา ทว่ายังคงเกิดปัญหาคาราคาซัง จน “ชัชชาติ” ออกมากล่าวถึงอยู่ในตอนนี้
เจาะปม “อุโมงค์บึงหนองบอน” 4.9 พันล้าน ทำเสร็จแต่ทรุด ปัญหาหนักใจ “ชัชชาติ” - กรุงเทพธุรกิจ
Read More
No comments:
Post a Comment