“4ซีอีโอ” แนะทุกองค์กรต้องตั้งรับ “ราคาพลังงาน-ดอกเบี้ย-เงินเฟ้อ” “กัลฟ์” รับห่วงเงินเฟ้อกระทบวงกว้าง “ทีทีบี” เตือนระวังระเบิดเวลา “หนี้ครัวเรือน“ ทำแผนตั้งรับ “เอสไอเอส” ชูบริการ“ดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชัน” “เอ็นอีอาร์” ดอกเบี้ยขาขึ้นกระทบ เน้นเพิ่มสินค้ามาร์จินสูง
“สมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน” (IAA) จัดงานประกาศรางวัล IAA Awards for Listed Companies 2021 และสัมมนาพิเศษ
โดยมีตัวแทน “4ซีอีโอ” ที่ได้รับรางวัลมาให้มุมมองให้หัวข้อสัมมนา “แนวโน้มธุรกิจยุคแรงกดดันสูง คาดการณ์เติบโตแต่ละอุตสาหกรรม กลยุทธ์หลักในการแข่งขัน”
นายสารัชถ์ รัตนาวะดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และรองประธานกรรมการ บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF กล่าวว่า ในแง่ของราคาพลังงานปรับตัวสูงขึ้นบริษัทไม่ได้รับผลกระทบโดยตรง เนื่องจากบริษัทเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นหลัก ส่วนดอกเบี้ยเป็นขาขึ้นบริษัทยังมีเครื่องมือในการบริหารจัดการต้นทุนดอกเบี้ยที่สูงขึ้น บริษัทก็มีการทำประกันความเสี่ยง (เฮดจิ้ง) ไว้หมดแล้ว
“ราคาน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติขยับ หรือ ดอกเบี้ยสูงขึ้น มองว่าเป็นวัฏจักร แต่ที่น่าเป็นห่วงมากคงเป็นเรื่องเงินเฟ้อที่สูงขึ้น เนื่องจากเป็นสิ่งที่คนในประเทศได้รับผลกระทบ เพราะค่าของเงินน้อยลง ความสามารถในการจับจ่ายใช้สอยก็น้อยลงก็มีผลกระทบต่อทุกเซ็กเตอร์”
สำหรับในส่วนของบริษัทเน้นในเรื่องของโครงสร้างพื้นฐานของประเทศเป็นหลัก สะท้อนผ่านในช่วงที่ผ่านมาบริษัทลงทุนใน บริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ INTUCH ซึ่งมองว่าเป็นธุรกิจที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานทางด้านโทรคมนาคม หรือ ดิจิทัลอินฟราสตรักเจอร์ในอนาคต
แต่ในปัจจุบันบริษัทเป็นธุรกิจพลังงานหมุนเวียนทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งปัจจุบันสิ่งที่เกิดขึ้นและกำลังมีผลตามมาคือ ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน โดยมองว่าปัญหาดังกล่าวหนักกว่าการระบาดของโควิด-19 เพราะว่าโควิดมีวัคซีนก็คลี่คลาย แต่ปัญหารัสเซีย-ยูเครนไม่สามารถรู้ว่าจะเลิกทะเลาะกันเมื่อไหร่ และไม่รู้จะขยายวงกว้างหรือไหมก็ไม่รู้
ดังนั้น บริษัทพยายามระมัดระวังและเตรียมความพร้อมหากทุกอย่างกลับสู่ภาวะปกติก็สามารถเดินหน้าขยายธุรกิจได้ แต่ในช่วงที่อยู่ในจังหวะเวลาที่คาดการณ์ลำบาก เนื่องจากตอนนี้มีสารพัดปัจจัยที่เป็นผลกระทบต่อตัวเลขเศรษฐกิจทั้งนั้น
“เราหวังทุกอย่างสงบจะสามารถเดินหน้าต่อไปได้ ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาลงทุนไปนับแสนล้าน ดังนั้น จะใช้จังหวะนี้โฟกัสในสิ่งที่ลงทุนไปแล้วให้มีความแข็งแรงมากขึ้น ไม่มีการแตกไลน์ไปลงทุนในธุรกิจใหม่ๆ หรือมีการลงทุนก็ระมัดระวังและผลตอบแทนต้องสูงเนื่องจากช่วงดอกเบี้ยต่ำหมดแล้ว ซึ่งต่อไปจะเป็นช่วงดอกเบี้ยเป็นขาขึ้น"
นายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน) หรือ TTB กล่าวว่า ตอนนี้สิ่งที่น่ากังวลมากที่สุด และหลายคนกำลังตั้งคำถาม คือ “หนี้ครัวเรือนของไทย” กำลังเป็นระเบิดเวลาหรือไม่ เพราะดอกเบี้ยของไทยขึ้นแน่นอน คนรายได้น้อย น่าเป็นห่วงที่สุด เงินในกระเป๋าน้อยลง การจับจ่ายลดลง จะกระทบกับภาคธุรกิจด้วย
สาเหตุปัญหาไม่ใช่ “ภาระหนี้ที่มีอยู่” แต่เรากำลังมีปัญหา คือ “รายได้ในกระเป๋าลดลงเร็วมาก เมื่อเทียบกับหนี้ที่มีอยู่” จากผลกระทบเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นเป็นสิ่งที่น่ากังวลมากในขณะนี้และเราจะวิธีการอย่างไรบ้างที่จะช่วยลดภาระหนี้ของคนกลุ่มล่าง เพราะหากคนกลุ่มล่างมีปัญหาเรื่องนี้มากขึ้น จะนำไปสู่วิกฤติหนี้รายย่อย ซึ่งประเทศไทยไม่เคยเกิดขึ้นมากก่อน และประสบการณ์ในเรื่องนี้น้อยมาก แต่ก็หวังว่าจะไม่เกิดขึ้น
ทั้งนี้ ก่อนโควิดหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีของไทย อยู่ที่ 78.4% ปัจจุบันขึ้นมา อยู่ที่ 91.9% โดยมีอัตราการผิดนัดชำระหนี้ที่ 3.9% แม้ยังอยู่ในระดับต่ำ แต่อย่าเพิ่งวางใจ ยังต้องระวังใกล้ถึงจุดที่มีปัญหาเรื่องรายได้แล้วหรือไม่
แนะนำว่า ในภาวะที่กำลังเป็นระเบิดเวลา เรื่อง “หนี้ครัวเรือน" ทางสมาคมธนาคารไทย กำลังเร่งแก้หนี้ภาคครัวเรือน ภายใต้ โครงการรวบหนี้ เพื่อให้ภาระชำระหนี้ต่อเดือนลดลง คงช่วยคนกลุ่มหนึ่งได้เท่านั้น และสิ่งสำคัญ คือ โปรแกรมรีบแก้ก่อนที่จะเป็นปัญหา ทั้งเจ้าหนี้กับลูกหนี้ต้องมองหาวิธีการที่ทำให้ภาระชำระหนี้ต่อเดือนของลูกหนี้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
ขณะที่แผนรับมือของภาคธุรกิจภายใต้สถานการณ์ความไม่แน่นอนแนะว่า ธุรกิจต้องประเมิน 3 ฉากทัศน์จากประเด็นภูมิรัฐศาสตร์โลก 1.การยกระดับความขัดแย้ง ไปสู่สงครามโลกครั้งใหม่ 2.ไม่เกิดสงคราม แต่มีวิกฤติซ้ำแล้วซ้ำอีกลากยาวในหลายประเทศ 3.ซอฟท์แลนดิ้ง ตกลงกันได้ 2-3 ปี คลี่คลาย ทางเลือกสุดท้ายมองว่าเป็นทางออกที่ดีที่สุด
นายสมชัย สิทธิชัยศรีชาติ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสไอเอส ดิสทริบิวชั่น (ประเทศไทย) หรือ SIS กล่าวว่า สถานการณ์หลังวิกฤติโควิด2 ปีจนถึงตอนนี้กลับมาเปิดประเทศ แต่พฤติกรรมการใช้ชีวิตหลายอย่างเปลี่ยนไปหมด และเรื่อง เทคโนโลยี เข้ามาตอบโจทย์ จะเห็นได้ว่าทุกองค์กรยังลงทุนเพื่อปรับตัวมุ่งสู่ “ดิจิทัลทรานฟอร์เมชั่น”
ดังนั้น เราจึงมุ่งนำทั้งบริการโซลูชันและฮาร์ดแวร์เข้าไปช่วยลูกค้าองค์กรปรับธุรกิจ แบ่งเป็น 4 กลุ่ม คือ 1 Hyperconverged infrastructure เช่น ดาต้าเซ็นเตอร์ ที่มาช่วยปรับแผนไอทีทันสมัย ค่าใช้จ่ายถูกลง เช่น ระบบคลาวด์ 2. Collaboration Knowledge Management การปรับปรุงขั้นตอนการทำงานให้ทันสมัย ทุกคนทำงานได้จากทุกที่
3. Digital data analytics การวิเคราะห์เคราะห์ข้อมูลให้เป็นประโยชน์ด้วย AI และ 4. เพิ่มธุรกิจด้วยเทคโนโลยีใหม่ เช่น อุปกรณ์เกี่ยวกับพลังงานโซลาร์และที่ชาร์จอีวี เพื่อเพิ่มบริการใหม่ เราเน้นจับกลุ่มลูกค้าธุรกิจยังเติบโตได้ดีหลังโควิด เช่น ธุรกิจโลจิสติกส์ ธุรกิจออนไลน์ ธุรกิจแบงก์ ซึ่งเป็นธุรกิจที่ยังมีความสามารถในการลงทุนต่อเนื่อง
นายชูวิทย์ จึงธนสมบูรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท นอร์ทอีส รับเบอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ NER กล่าวว่า ราคาพลังงานน้ำมันแพงขึ้นบริษัทไม่ได้รับผลกระทบมาก เนื่องจากช่วงที่ผ่านมามีการลงทุนในเรื่องของการนำของเสียมาเป็นพลังงานหมุนเวียนใช้ในโรงงาน แต่ในเรื่องของดอกเบี้ยเป็นขาขึ้นบริษัทจะได้รับผลกระทบเนื่องจากบริษัทเป็นมนุษย์กู้เงิน ซึ่งบริษัทต้องบริหารจัดการเรื่องดังกล่าวให้ดี
โดยในมุมของธุรกิจบริษัทมีการเพิ่มประสิทธิภาพของสินค้าให้มีมาร์จินที่สูงขึ้น ด้วยการเพิ่มมูลค่าสินค้า ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาบริษัทมีการลงทุนนำแผ่นยางพารามาพัฒนาเป็นแผ่นรองพื้นในคอกของปศุสัตว์ ที่ได้มีการพัฒนาสูตรร่วมกับ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) ซึ่งมีรายได้จากส่วนนี้เข้ามาเสริม ซึ่งสินค้าดังกล่าวเป็นสินค้าที่มีอัตรากำไรขั้นต้นทุนในระดับสูง
“4ซีอีโอ” แนะทำแผนธุรกิจตั้งรับ “พลังงาน-ดอกเบี้ย-เงินเฟ้อ”สูง - กรุงเทพธุรกิจ
Read More
No comments:
Post a Comment