นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่าในที่ประชุม คณะรัฐมนตรี (ครม.) วานนี้ (21 มิ.ย.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหมได้มอบหมายให้สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เตรียมการหารือเรื่องความมั่นคงด้านพลังงาน และวิกฤติด้านอาหาร ซึ่งเป็นการเตรียมแผนเผชิญเหตุ เนื่องจากจะเป็นประเด็นสำคัญของไทยและโลกหลังจากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย เรื่องนี้จึงจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องรีบเตรียมมาตรการรองรับสิ่งที่จะเกิดขึ้น
รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผยว่าการประชุม สมช.เพื่อพิจารณาสถานการณ์เรื่องวิกฤติพลังงาน และอาหาร รวมทั้งหาแนวทางรับมือจะมีขึ้นในวันนี้ (22 มิ.ย.) ที่ทำเนียบรัฐบาล โดยจะมีหน่ยงานทั้งด้านความมั่นคง หน่วยงานทางด้านต่างประเทศ และหน่วยงานด้านเศรษฐกิจจะเข้าประชุมเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลที่เกี่ยวข้องในทุกๆด้าน เพื่อประเมินสถานการณ์และแนวทางมาตรการรับมือที่เหมาะสม โดยในการประชุมครั้งนี้จะเป็นการประชุมระดับเจ้าหน้าที่ก่อนจะเสนอที่ประชุมสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานต่อไป
วานนี้ (21 มิ.ย.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน กล่าวภายหลังการประชุม ครม.ว่าสถานการณ์วิกฤติพลังงานมีแนวโน้มยืดเยื้ออยู่ในขณะนี้จากสถานการณ์ความขัดแย้งในยุโรปเราคาดว่าจะส่งผลกระทบหนักหน่วงในหลายมิติ ขณะเดียวกันราคาน้ำมันตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในระดับ 100 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล และบางประเทศงดการส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์ที่จำเป็น
ทำให้ห่วงโซ่อุปทานของบริโภคขาดแคลน รวมทั้งปัญหาเงินเฟ้อสูงทั่วโลก โดยเฉพาะสหรัฐฯ ยุโรป สูงกว่า 8% สูงที่สุดในรอบหลายสิบปี ทำให้ปัญหาค่าครองชีพของประชาชนปรับตัวสูงขึ้น ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น สินค้าราคาแพง ส่งผลให้เกิดความเสี่ยงที่เศรษฐกิจชะงัก ซึ่งรัฐบาลได้ติดตามอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ได้สั่งการให้มีการประชุมร่วมกันเพื่อหารือในเรื่องการเตรียมแผนรองรับสถานการณ์ตามสมมติฐานต่างๆที่จะเกิดขึ้นว่าหากสถานการณ์ยืดเยื้อไปเป็นระยะเวลาต่างๆ ควรจะทำอะไรได้บ้าง ไม่อย่างนั้นจะมีปัญหาใหม่ไปเรื่อยๆในเรื่องการดูแลและการอุดหนุน และจะมีปัญหาด้านงบประมาณการเงินการคลังต่อไปในอนาคต
“เราต้องเตรียมแผนความพร้อมไปเรื่อยๆ ทั้งมิติด้านพลังงาน อาหาร ซึ่งล้วนแต่มีผลกระทบทั้งสิ้น เราต้องวางแผนระยะยาว ผมได้แนะแนวทางนี้มาตลอดอย่างต่อเนื่อง รัฐบาลยืนยันว่าจะพยายามหาทางช่วยเหลือพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อย และผู้ประกอบการบนพื้นฐานของวินัยการเงินการคลังที่มีความสมดุล และจะต้องไม่ก่อภาระในอนาคตจนมากเกินไป จึงขอให้เห็นใจรัฐบาลด้วย หลายอย่างเราก็ลดภาษีลงทำให้รายได้เราลดลง ฉะนั้นจำเป็นต้องใช้อย่างคุ้มค่าและประหยัดด้วยความเข้าใจซึ่งกันและกัน” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
รับมือวิกฤติพลังงาน - อาหาร ลากยาว 'ประยุทธ์' สั่ง สมช.ประชุมด่วน ทำแผนรับมือ - กรุงเทพธุรกิจ
Read More
No comments:
Post a Comment