นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ประเมินว่า กนง.คงจะไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย แม้เงินเฟ้อจะเป็นปัญหาใหญ่ทั่วโลกและในประเทศเราเองแรงกดดันเงินเฟ้อก็มีมาก
และคาดว่าคงใช้เหตุผลเดิมคือ นโยบายการเงินให้น้ำหนักกับการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเป็นสำคัญจนมีการตั้งคำถามว่า กนง.ห่วงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเกินไปหรือเปล่าหรือมองความเสี่ยงเงินเฟ้อที่ประเทศมีต่ำไปหรือเปล่า
เพราะพันธกิจหลักของธนาคารกลางคือดูแลอัตราเงินเฟ้อของประเทศให้อยู่ในอัตราที่ต่ำและมีเสถียรภาพเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจ วันนี้จึงอยากแสดงความเห็นในเรื่องนี้
ปฏิเสธไม่ได้ว่าเงินเฟ้อกำลังเป็นปัญหาสำคัญของเศรษฐกิจโลกและคงกระทบเศรษฐกิจเรามากขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ล่าสุดอัตราเงินเฟ้อประเทศเราวัดจากดัชนีราคาผู้บริโภคอยู่ที่ร้อยละ 4.65 เดือนเมษายนสูงกว่าเป้าอัตราเงินเฟ้อที่กำหนดไว้ร้อยละ 1-3
ตัวเลขเงินเฟ้อเดือนพฤษภาคมยังไม่ประกาศตอนเขียนบทความ และจะไม่แปลกใจเลยถ้าตัวเลขเงินเฟ้อเดือนพฤษภาคมเร่งตัวขึ้นอีก เพราะแรงกดดันเงินเฟ้อในระบบเศรษฐกิจขณะนี้มีมากและรัฐบาลก็เริ่มลดการอุดหนุนเพื่อไม่ให้ราคาน้ำมันปรับสูงขึ้น
เท่าที่ตาม เหตุผลที่ธนาคารกลางใช้อธิบายในการไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะมีอยู่สามเรื่อง
1.อัตราเงินเฟ้อคราวนี้เกิดจากแรงกดดันด้านอุปทานไม่ใช่อุปสงค์ ทำให้การขึ้นดอกเบี้ยไม่ใช่มาตรการที่ถูกต้อง เรื่องนี้วิกฤตราคาน้ำมัน โลกช่วงปี 1970s ให้บทเรียนชัดเจนว่า นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายในช่วงที่อัตราเงินเฟ้อปรับสูงขึ้นจากวิกฤตอุปทานคือราคาน้ำมันสูงขึ้น จะทำให้อัตราเงินเฟ้อในประเทศยิ่งเร่งตัวมากขึ้น
เพราะแรงกดดันเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นจากการขยายตัวของอุปสงค์ในภาวะที่อุปทานหรือการผลิตมีข้อจำกัด ซึ่งในที่สุดอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นก็จะเป็นข้อจำกัดต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ ทำให้เศรษฐกิจไม่ได้ประโยชน์จากการยืนอัตราดอกเบี้ยไว้ในระดับที่ต่ำเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ
บทเรียนนี้สำคัญมากทำให้คราวนี้เราจึงเห็นธนาคารกลางส่วนใหญ่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อลดแรงกดดันต่อเงินเฟ้อแม้การขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะมีผลทางลบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ
เพราะตระหนักดีว่า ถ้าอัตราเงินเฟ้อในประเทศสูง ประเทศไม่มีเสถียรภาพด้านราคา การขยายตัวของเศรษฐกิจก็จะไม่เกิดขึ้น เพราะอัตราเงินเฟ้อที่สูงอีกนัยหนึ่งก็คือต้นทุนการผลิตที่สูงทำให้ประเทศแข่งขันไม่ได้
ล่าสุด ธนาคารกลางหลายประเทศในเอเชียได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย เช่น เกาหลีใต้ มาเลเซีย แม้ตัวเลขเงินเฟ้อในทั้งสองประเทศนี้จะต่ำกว่าเรา นี่คือการให้ความสำคัญต่อการดูแลเงินเฟ้อตามหน้าที่
เหตุผลที่ 2 คือ เงินเฟ้อสูงขึ้นเพราะช็อกที่มีต่ออุปทานหรือการผลิต เมื่อช็อกผ่านไปเงินเฟ้อก็จะกลับมาอยู่ในระดับต่ำเหมือนเดิม แนวคิดนี้ถูกต้องถ้าเรายังอยู่ในโลกเดิมที่อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำต่อเนื่องเหมือนช่วง 30 ปีที่ผ่านมา เป็นโลกในอดีตที่อัตราเงินเฟ้อที่สูงเป็นเรื่องชั่วคราว
แต่ปัจจุบันเศรษฐกิจโลกกำลังเผชิญกับภาวะแวดล้อมเงินเฟ้อที่เปลี่ยนแปลงเร็วมาก คือเปลี่ยนจากเศรษฐกิจโลกที่มีอัตราเงินเฟ้อต่ำไปสู่เศรษฐกิจโลกที่มีอัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น
สาเหตุมาจากช็อกที่เกิดกับเศรษฐกิจโลก เช่น โรคระบาด สงคราม ที่ส่งผลกระทบต่ออุปทานหรือการผลิตและมีแนวโน้มจะยืดเยื้อ รวมทั้งบทบาทที่ลดลงของปัจจัยที่เคยสนับสนุนให้อัตราเงินเฟ้อในเศรษฐกิจโลกต่ำมาตลอด เช่น การแข่งขัน ระบบโลกาภิวัตน์ การรักษาวินัยทางการเงินการคลัง
สิ่งเหล่านี้ทำให้ความไม่แน่นอนในเศรษฐกิจโลกมีมากขึ้น ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น อัตราเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้น เปลี่ยนจากเศรษฐกิจโลกที่มีอัตราเงินเฟ้อต่ำไปเป็นเศรษฐกิจโลกที่มีอัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น ทำให้เงินเฟ้อเมื่อเพิ่มสูงขึ้นแล้วจะไม่ลดลงง่ายเหมือนในอดีต
เหตุผลที่ 3 คือ เงินเฟ้อจะไม่เป็นปัญหาตราบใดที่อัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ในภาคธุรกิจและของประชาชนไม่เปลี่ยนคือยังยึดอยู่ในระดับที่เป็นเป้าหมาย
ประเด็นนี้ผมเห็นด้วยแต่ต้องตระหนักว่าอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ที่ยืนอยู่ในเป้าหมายนั้นมาจากความเชื่อของประชาชนว่าทางการจะรักษาอัตราเงินเฟ้อของประเทศให้อยู่ในระดับที่ต่ำ
แต่ถ้าอัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับสูงและยืดเยื้อ และถ้าธนาคารกลางไม่ได้แสดงท่าทีว่าจะทำตามหน้าที่ดูแลอัตราเงินเฟ้อของประเทศให้อยู่ในเกณฑ์ต่ำ ความเชื่อของประชาชนก็จะถูกสั่นคลอนทำให้อัตราเงินเฟ้อคาดการณ์อาจปรับสูงขึ้นและเงินเฟ้อกลายเป็นปัญหาใหญ่
ในการทำนโยบายทุกเหตุผลที่ใช้จะมีเหตุผลโต้แย้งหรือ counter argument ได้เสมอทำให้การทำนโยบายไม่ใช่เรื่องง่าย ผู้ทำนโยบายต้องมุ่งมั่น รู้หน้าที่ของตน และมีความเข้าใจถ่องแท้ในเรื่องที่ต้องตัดสินใจ
กรณีเงินเฟ้อของประเทศเราขณะนี้ ผมห่วงว่าผู้ทำนโยบายอาจมองความเสี่ยงเงินเฟ้อที่ประเทศมีต่ำเกินไป ไม่อยากให้ประมาท เพราะถ้าอัตราเงินเฟ้อในประเทศเพิ่มสูงขึ้น ประชาชนทั้งประเทศจะเดือดร้อนมาก จึงควรรีบแก้ไขหรือดำเนินการตั้งแต่เนิ่นๆ
มีสองเรื่องอยากฝากไว้ที่อาจเป็นประโยชน์ต่อการตัดสินใจ
1) ธนาคารกลางที่ขึ้นดอกเบี้ยช้ามักจะรีรอไม่ขึ้นอัตราดอกเบี้ย จนตัวเลขเงินเฟ้อเพิ่มสูงจนปฏิเสธไม่ได้ที่จะไม่ทำอะไรต้องเร่งรีบขึ้นดอกเบี้ย เป็นตัวอย่างของการทำนโยบายตามสถานการณ์ที่ไม่ทันเวลา
เช่น กรณีของสหรัฐที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเพิ่งออกมาขอโทษประชาชนว่า มองความเสี่ยงเงินเฟ้อต่ำเกินไป ของเราก็ต้องระวังประเด็นนี้เพราะดัชนีราคาผู้บริโภคที่เราใช้วัดเงินเฟ้อในการทำนโยบายอาจไม่สะท้อนแรงกดดันเงินเฟ้อที่ประเทศมีอยู่จริง
เพราะกว่าร้อยละ 30 ของสินค้าในตะกร้าที่ใช้วัดเงินเฟ้อในดัชนีราคาผู้บริโภค เป็นสินค้าที่ราคามีการควบคุม ทำให้ตัวเลขที่ออกมาอาจต่ำกว่าความเป็นจริง จึงควรใช้ข้อมูลหลายประเภทในการติดตามเงินเฟ้อ เพื่อให้เกิดการตัดสินใจที่ทันเหตุการณ์
2) คำถามสำคัญคือนโยบายการเงินผ่อนคลายมากพอหรือยัง ที่จะสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ถ้ามากพอแล้วหรือมากเกินไปก็มี room หรือพื้นที่ที่อัตราดอกเบี้ยควรปรับขึ้นเพื่อลดความเสี่ยงเงินเฟ้อซึ่งจะไม่กระทบการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ
ในเรื่องนี้สิ่งที่ควรดูไม่ใช่ระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.5 แต่คือระดับอัตราดอกเบี้ยแท้จริงและอัตราแลกเปลี่ยนแท้จริง ซึ่งตัวเลขทั้งสองตัวนี้ชี้ว่านโยบายการเงินของเราอยู่ในระดับที่ผ่อนคลายมากๆ และแม้อัตราดอกเบี้ยนโยบายจะปรับขึ้น นโยบายการเงินก็ยังผ่อนคลายอยู่
ที่สำคัญตลาดการเงินก็มองเหมือนกันว่าอัตราดอกเบี้ยบ้านเราต้องปรับขึ้น เห็นได้จากผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวและอัตราดอกเบี้ยในอนาคต ที่สะท้อนจากอัตราสว๊อปดอลลาร์บาทที่ปรับสูงขึ้น.
คอลัมน์ เศรษฐศาสตร์บัณฑิต
ดร.บัณฑิต นิจถาวร
ประธานมูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล
[email protected]
เราควรห่วงเงินเฟ้อให้มากในการทำนโยบายการเงิน | บัณฑิต นิจถาวร - กรุงเทพธุรกิจ
Read More
No comments:
Post a Comment