ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่า COVID-19 ที่ระบาดมากว่า 2 ปี จะส่งผลต่อเนื่องกับสุขภาพของมนุษย์ต่อไปอีกยาวนานหลังการติดเชื้อและป่วย
ล่าสุด ทีมนักวิจัยจาก มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ตีพิมพ์ผลการศึกษาในวารสาร eClinical Medicine ระบุว่า ผู้ป่วยโควิด-19 ที่อาการหนักจนต้องนอนโรงพยาบาล เมื่อฟื้นตัวหรือแม้แต่หายดีแล้วอาจยังมีความเสี่ยงที่จะมีความผิดปกติทางสมองในระยะยาว
งานวิจัยครั้งนี้ได้ทำการเปรียบเทียบผลทดสอบระดับเชาวน์ปัญญา การคิดวิเคราะห์ใช้เหตุผล ความจำ และการมีสมาธิจดจ่อของผู้ที่เคยป่วยหนักด้วยโรคโควิดจำนวน 46 คน กับกลุ่มควบคุมที่เป็นบุคคลทั่วไป 460 คน ซึ่งคนกลุ่มหลังนี้มีข้อมูลสุขภาพเหมือนกับคนกลุ่มแรกก่อนล้มป่วย รวมทั้งเปรียบเทียบผลทดสอบไอคิวของผู้ป่วยกับค่าเฉลี่ยจากผลทดสอบไอคิวของประชากรกลุ่มใหญ่ในสหราชอาณาจักรกว่า 66,000 คนด้วย
ผลการศึกษาพบว่า กลุ่มคนไข้ที่เคยป่วยโควิดอย่างหนักมาก่อน ไม่สามารถใช้ความคิดได้อย่างถูกต้องแม่นยำ อีกทั้งการคิดวิเคราะห์ข้อมูลก็ทำได้ช้ากว่าคนทั่วไปมาก
ที่สำคัญคือ ระดับเชาวน์ปัญญาหรือไอคิวลดลงกว่าเดิมโดยเฉลี่ย 10 คะแนน ซึ่งเป็นภาวะที่พบได้บ่อยในกลุ่มคนอายุวัย 50-70 ปี ซึ่งหมายความว่า เชื้อไวรัสโควิด-19 อาจมีส่วนทำให้สมองแก่เร็วขึ้นอีกราว 20 ปี
ดร.เดวิด เมนอน นักประสาทวิทยา หัวหน้าทีมวิจัย บอกว่า แบบทดสอบในส่วนที่กลุ่มทดลองทำคะแนนได้ต่ำที่สุด คือการใช้คำอุปมาอุปไมย (verbal analogy) ซึ่งเป็นการจับคู่เปรียบเปรยระหว่างสองสิ่งที่มีความคล้ายคลึงกัน ซึ่งตรงกับอาการของผู้ป่วยโควิดหลายรายที่มีรายงานเข้ามาก่อนหน้านี้ว่า หลังหายจากอาการโควิด-19 แล้ว พวกเขารู้สึกเหมือนสมองล้า นึกคำศัพท์ต่างๆ ไม่ค่อยออก เหมือนกับว่าสมองอาจจะประมวลผลได้ช้าลง
“นอกจากสมองล้าจนคิดช้าหรือถึงขั้นไม่ออกแล้ว หลายรายยังมีอาการซึมเศร้าและวิตกกังวลเพิ่มขึ้น” ดร.เมนอนบอกและว่า การศึกษาครั้งนี้ส่งสัญญาณว่า อาการสมองล้าที่เกิดขึ้นมีความเชื่อมโยงกับระดับความรุนแรงของการติดเชื้อโควิด มากกว่าจะเป็นเพราะสุขภาพและสติปัญญาที่มีอยู่เดิมของคนคนนั้น
ดร.เมนอนบอกว่า ผู้ที่มีอาการสมองล้าหลังหายจากโควิดส่วนใหญ่สามารถจะฟื้นตัวได้อย่างช้าๆ และเริ่มใช้ความคิดได้ดีขึ้นในระยะยาวอาจจะประมาณกว่า 10 เดือนขึ้นไป แต่ก็มีโอกาสสูงที่หลายรายจะไม่อาจฟื้นฟูสมองได้อย่างสมบูรณ์
อย่างไรก็ดี ทีมวิจัยยังไม่สามารถยืนยันได้ว่า เหตุใดโควิด-19 จึงสร้างความเสียหายให้กับกายภาพและการทำงานของสมอง แต่ก็มีงานวิจัยก่อนหน้านี้ที่ระบุว่า อาจเป็นเพราะเครือข่ายบริหารงานส่วนกลางของสมอง (CEN) ใช้น้ำตาลกลูโคสเป็นพลังงานน้อยลง ทำให้การตั้งสมาธิจดจ่อกับงาน การแก้ไขปัญหา และการใช้งานความจำเฉพาะหน้าไม่ดีนัก
หัวหน้าทีมวิจัย มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ยังบอกอีกว่า มีความเป็นไปได้ว่า อาการสมองล้าที่เกิดขึ้นอาจเกิดจากการที่สมองได้รับออกซิเจนลดลงหรือมีเลือดไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ รวมทั้งการที่เส้นเลือดในสมองอุดตันหรือมีเลือดออกภายในเล็กน้อย
และล่าสุดยังพบหลักฐานเพิ่มเติมอีกว่า การที่ภูมิคุ้มกันต่อต้านร่างกายของตนเองจนทำให้เกิดการอักเสบของหลายอวัยวะอาจจะมีส่วนเกี่ยวข้องอย่างมากต่ออาการสมองล้า หรือสมองแก่เร็วที่เกิดขึ้นด้วย.
“COVID-19” ทำสมองแก่ลง 20 ปี - ไทยรัฐ
Read More
No comments:
Post a Comment