งวดเข้ามาทุกทีแล้วสำหรับดีเดย์ "เลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม." ที่จะมีขึ้นในวันมะรืนนี้ (22 พ.ค.65) โดยก่อนหน้านี้ กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ เคยนำเสนอวิธีใช้สิทธิเลือกตั้งและขั้นตอนการลงคะแนน พร้อมคำแนะนำเกี่ยวกับ 11 ข้อห้ามทำในการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. และ ส.ก. ในครั้งนี้
อีกหนึ่งประเด็นที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือ "กฎหมายการเลือกตั้ง ความผิดและบทกำหนดโทษ" ตาม พ.ร.บ. การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2562 โดยหากพบการกระทำผิดหรือฝ่าฝืนก็จะได้รับโทษตามที่กฎหมายกำหนด
ในที่นี้ เราจะพาไปรู้จักการกระทำผิดและบทลงโทษเฉพาะในกรณีของประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง เพื่อจะได้ระมัดระวังไม่เผลอทำผิดกฎหมายระหว่างการไปใช้สิทธิลงคะแนนเสียง โดยรวบรวมข้อหลักๆ ที่ต้องรู้ มาให้เช็กลิสต์ดังนี้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
1. ไม่มีสิทธิเลือกตั้ง แต่ไปลงคะแนนเสียง มีโทษจำคุก 10 ปี
สำหรับผู้มีสิทธิเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. และ ส.ก. ครั้งนี้ จะต้องมีคุณสมบัติผ่านตามเกณฑ์เงื่อนไข ได้แก่
- มีสัญชาติไทย (ถ้าแปลงสัญชาติ ต้องได้สัญชาติไทยไม่น้อยกว่า 5 ปี)
- มีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปี ในวันเลือกตั้ง
- มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตเลือกตั้ง เป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 1 ปี นับถึงวันเลือกตั้ง
- คุณสมบัติอื่นตามที่กฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกำหนด
สามารถตรวจสอบสิทธิเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. และ ส.ก. ด้วยตนเองผ่านเว็บไซต์สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง ได้ที่ ตรวจสอบผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งท้องถิ่น
ทั้งนี้ หากเป็นผู้ไม่มีสิทธิเลือกตั้ง แต่ยังพยายามไปออกเสียงลงคะแนน จะถือว่าเป็นการกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง "มาตรา 126 วรรคหนึ่ง" ระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1 - 10 ปี หรือ ปรับตั้งแต่ 20,000 - 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง มีกำหนด 20 ปี
อีกทั้ง ผิดกฎหมาย "มาตรา 116" ซึ่งถือว่ากระทำการอันเป็นการทุจริต ในการเลือกตั้ง
2. ใช้บัตรอื่นที่ "ไม่ใช่บัตรเลือกตั้ง" มีโทษจำคุก 10 ปี
หากพบว่าผู้ใดใช้บัตรอื่นที่ "ไม่ใช่บัตรเลือกตั้ง" มาลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง จะเป็นการกระทำผิดกฎหมายตาม "มาตรา 126 วรรคหนึ่ง" ระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1 - 10 ปี หรือ ปรับตั้งแต่ 20,000 - 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง มีกำหนด 20 ปี
อีกทั้ง ผิดกฎหมาย "มาตรา 116" ให้ถือว่ากระทำการอันเป็นการทุจริต ในการเลือกตั้ง
รวมถึงผู้กระทำอาจมีความผิดฐาน "ใช้เอกสารราชการปลอม ตามประมวลกฎหมายอาญา" ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน ถึง 5 ปี และปรับตั้งแต่ 1,000 - 10,000 บาท
3. นำบัตรออกจากหน่วยเลือกตั้ง โทษจำคุก 5 ปี
นำบัตรเลือกตั้งออกไปจากหน่วยเลือกตั้ง จะมีความผิดตาม "มาตรา 134" ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง มีกำหนด 10 ปี
4. ทำเครื่องหมายอื่นใน "บัตรเลือกตั้ง" โทษจำคุก 5 ปี
หากจงใจทำเครื่องหมายโดยวิธีใดวิธีหนึ่ง ลงในบัตรเลือกตั้ง ที่นอกเหนือจากเครื่องหมายลงคะแนน "กากบาท" (X) เช่น เขียนข้อความ, ขีดเส้นสัญลักษณ์, กากบาทซ้ำๆ หลายช่อง, ทำสัญลักษณ์ไว้เพื่อที่จะสามารถตรวจสอบผลการซื้อเสียงของตนได้ ฯลฯ
การกระทำเหล่านี้ผิดกฎหมายตาม "มาตรา 134" ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และ ให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง มีกำหนด 10 ปี
5. ถ่ายภาพบัตรเลือกตั้ง มีโทษจำคุก 1 ปี
ห้ามถ่ายภาพบัตรเลือกตั้ง เพื่อให้เห็นเครื่องหมายลงคะแนนในคูหาเลือกตั้ง หากฝ่าฝืนจะผิดกฎหมายตาม "มาตรา 135" ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
6. นำบัตรเลือกตั้งใส่ในหีบฯ โดยมิชอบ โทษจำคุก 10 ปี
หากมีการนำบัตรเลือกตั้งใส่ในหีบฯ ให้มีจำนวนเพิ่มขึ้น โดยไม่มีอำนาจโดยชอบด้วยกฎหมาย หรือทำการใดในบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง เพื่อแสดงว่ามีผู้แสดงตนผิดไปจากความจริง หรือทำให้มีบัตรเลือกตั้งเพิ่มขึ้นผิดจากความเป็นจริง
ผิดกฎหมายตาม "มาตรา 126 วรรคหนึ่ง" ระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1 - 10 ปี หรือ ปรับตั้งแต่ 20,000 - 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง มีกำหนด 20 ปี
อีกทั้ง ผิดกฎหมายตาม "มาตรา 116" ให้ถือว่ากระทำการอันเป็นการทุจริตในการเลือกตั้ง
7. โชว์บัตรเลือกตั้งที่ลงคะแนนแล้ว โทษจำคุก 1 ปี
อย่านำบัตรเลือกตั้งที่ออกเสียงลงคะแนนแล้ว แสดงต่อผู้อื่น หากฝ่าฝืนจะผิดกฎหมายตาม "มาตรา 135" ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
นอกจากนี้ ยังมีการกระทำผิดกฎหมายในลักษณะอื่นๆ อีกหลายหัวข้อ สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่ : ฐานความผิดตามกฎหมายเลือกตั้ง สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น
อย่างไรก็ตาม หากผู้ใดพบการกระทำความผิด ให้แจ้งต่อพนักงานฝ่ายปกครอง หรือตำรวจ หรือเจ้าหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยในการเลือกตั้ง หรือเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยประจำหน่วยเลือกตั้ง
ในกรณีที่เจ้าหน้าที่ฯ พบการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ในวันเลือกตั้ง หรือได้รับแจ้งโดยมีพยานหลักฐาน อันน่าเชื่อถือ และผู้กระทำความผิดยังปรากฏตัวอยู่ในบริเวณที่ลือกตั้ง
ให้เจ้าหน้าที่ฯ มีอำนาจจับกุมและควบคุมตัวผู้กระทำความผิดส่งพนักงานสอบสวนดำเนินการต่อไป โดยให้ถือว่าเป็นกรณีพบการกระทำความผิดซึ่งหน้า
------------------------------------------------
อ้างอิง : สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง, ความผิดตามกฎหมายเลือกตั้ง
ต้องรู้! หากผู้ใช้สิทธิทำผิด "กฎหมายเลือกตั้ง" มีบทลงโทษอะไรบ้าง? - กรุงเทพธุรกิจ
Read More
No comments:
Post a Comment