นายเฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า จากการประชุมสามัญประจำปีของภาคีสมาชิกองค์การ บริหารจัดการประมงในมหาสมุทรอินเดียตอนใต้ (SIOFA) ครั้งที่ 8 เมื่อเดือนกรกฎาคม 2564 ที่ผ่านมา ซึ่งประเทศไทยได้เข้าร่วมประชุมในฐานะรัฐภาคี
โดยในการประชุมดังกล่าวได้มีองค์กร The Deep Sea Conservation Coalition, DSCC ซึ่งเป็นองค์การนอกภาครัฐ (NGOs) เข้าร่วมประชุมในสถานะ observer หรือ ผู้สังเกตการณ์การประชุม ได้นำเสนอเอกสารที่มีสถานะเป็น information paper ต่อที่ประชุม เรื่อง ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับ ความหลากหลายทางระบบนิเวศจากการทำประมงอวนลากในพื้นที่ Saya de Malha Bank
โดยเรียกร้อง “ให้ประเทศไทย หยุดทำการประมงในบริเวณพื้นที่ Saya de Malha Bank จนกว่าจะมีการประเมินสภาวะทรัพยากรและพัฒนามาตรการที่ปกป้อง ความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตและชนิดสัตว์น้ำ ตลอดจนหญ้าทะเลในบริเวณดังกล่าว”
ซึ่งในการประชุมครั้งนั้นประเทศไทยและภาคีสมาชิก SIOFA พิจารณาแล้วเห็นว่า เป็นข้อเสนอที่มิได้มีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่เชื่อถือรองรับ จึงไม่ได้รับมติเห็นชอบจากภาคีสมาชิก SIOFA
ทั้งนี้ จากข้อเรียกร้องของ DSCC ดังกล่าว SIOFA เห็นว่าการศึกษาผลกระทบการประมงต่อพื้นท้องทะเลเป็นเรื่องสำคัญและต้องใช้อ้างอิงในการบริหารจัดการประมงเชิงพื้นที่ จึงมีมติให้คณะกรรมการวิทยาศาสตร์ (SIOFA Scientific Committee, SC) ทำการศึกษาระบบนิเวศและผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการทำประมงอวนลากในพื้นที่ Saya de Malha Bank ตามแผนงานที่วางไว้
โดยให้ใช้ระยะเวลาการศึกษา 2 ปี และให้นำมาพิจารณาในการประชุมประจำปี SC ในเดือนมีนาคม 2565 ซึ่งในห้วงระยะเวลาที่ผ่านมาภายหลังการประชุมสามัญประจำปีเมื่อเดือนกรกฎาคม 2564 ดังกล่าว SC ได้ทำการศึกษาในเรื่องนี้ โดยได้ประสานงานกับกรมประมงมาเป็นระยะเพื่อขอรับข้อมูลการทำประมงของกองเรือประมงไทย เพื่อประกอบการศึกษาวิเคราะห์ตามกระบวนงานและขั้นตอนของ SIOFA ที่กำหนดไว้
นอกจากนี้กรมประมงยังได้ประสานแจ้งและร่วมดำเนินการกับผู้ประกอบการประมงนอกน่านน้ำไทย และสมาคมการประมงนอกน่านน้ำไทยมาโดยตลอด
โดยล่าสุด กรมประมงได้รับร่างรายงานผลกระทบ Impact Assessments of Bottom Trawl Fisheries on VME Indicator Species จาก SIOFA ซึ่งจากการประเมินความเสี่ยงของสิ่งมีชีวิตในระบบนิเวศที่เปราะบาง (VME) จำนวน 14 ชนิด ในพื้นที่ทำประมงอวนลากบริเวณ Saya de Malha Bank พบว่า “มีความเสี่ยงในระดับต่ำ 3 ชนิด และมีความเสี่ยงในระดับปานกลาง 11 ชนิด” ทั้งนี้ในรายงานระบุชัดเจนว่า “การทำประมงอวนลากไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่หญ้าทะเลแต่อย่างใด”
อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยยังคงให้ความร่วมมือกับ SC เพื่อศึกษาผลกระทบตามแผนงานที่วางไว้ต่อไป เพื่อให้เกิดความชัดเจนของข้อมูล และเป็นการแสดงให้ภาคีสมาชิก SIOFA เห็นถึงความมุ่งมั่นและจุดยืนของประเทศไทยในการบริหารจัดการประมงนอกน่านน้ำไทยอย่างยั่งยืนและปราศจากการทำประมงผิดกฎหมาย
SIOFAปัดตก ข้อเสนอ NGOs ยันไทยทำประมงนอกน่านน้ำได้ไม่ทำลายหญ้าทะเล - กรุงเทพธุรกิจ
Read More
No comments:
Post a Comment