ในทุกๆ ปี เราจะเห็นคนตั้งเป้า New Year’s Resolutions หวังทำให้สำเร็จ ทั้งเป้าที่เปลี่ยนจากฝันให้กลายเป็นจริงหรือเป้าที่หวังจะให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น ฉลาดขึ้น เก่งขึ้น ผอมลง แข็งแรงขึ้น คราวนี้เราไม่กำหนดเป้าอย่างเดียว แต่มาทำตามเคล็ดลับบ้างดีกว่า เผื่อจะทำตามเป้าได้สำเร็จบ้าง
ก่อนจะไปดูวิธีว่าทำอย่างไรถึงจะทำตามเป้าสำเร็จ มาดู 10 เรื่องยอดฮิตที่คนมักตั้งเป็นเป้าหมายประจำกัน มีอะไรบ้าง
- ออกกำลังกายให้มากขึ้น
- ลดน้ำหนัก
- ทำชีวิตให้เป็นระบบมากขึ้น
- เรียนรู้ทักษะใหม่ หรืองานอดิเรกใหม่ๆ
- ใช้ชีวิตให้เต็มที่
- เก็บเงินให้มากขึ้น ใช้เงินให้น้อยลง
- เลิกบุหรี่
- ให้เวลาครอบครัวและเพื่อนมากขึ้น
- ท่องเที่ยวให้มากขึ้น
- อ่านหนังสือให้มากขึ้น
มีงานศึกษาพบว่า มี 46% เท่านั้นแหละที่มักจะทำเป้าหมายได้สำเร็จ เราจะเป็น 1 ใน 46% นี้หรือเปล่า ก็อยู่ที่ว่าเราจะอยู่กับเป้าหมายอย่างไร และทำให้เป้าหมายเป็นจริงได้อย่างไร ทีนี้ เว็บไซต์ goskills.com ก็เผยเคล็ดลับ 10 ข้อ ดังนี้
ข้อแรก ต้องเตรียมจิตใจให้พร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลง
อันดับแรกเลย ให้สะท้อนเป้าหมายของตัวเองและจดบันทึกในสิ่งที่คุณสามารถทำสำเร็จได้ในปีที่ผ่านมา จากนั้นก็ฉลองความสำเร็จไปกับมัน ไม่ว่าสิ่งที่ทำได้จะเล็กน้อยแค่ไหน จากนั้นก็บันทึกด้วยว่าอะไรที่ทำไม่สำเร็จ และเพราะสาเหตุอะไรที่ทำได้ไม่ตามเป้า จากนั้นก็เตรียมพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงตามเคล็ดลับดังนี้
- มองโลกแง่บวกเข้าไว้
- พยายามไม่หวังให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เกินไป หรือใช้เวลาสั้นเกินไป
- ค่อยๆ เปลี่ยนตามเป้าอย่างช้าๆ
- สร้างความเปลี่ยนแปลงเล็กๆ ทุกวัน
- เผื่อพื้นที่สำหรับความผิดพลาดบ้าง เราอาจจะพลาดตามเป้าในวันนี้ วันถัดไปก็ตั้งใจใหม่
สอง ให้ตั้งเป้าที่สร้างแรงจูงใจให้ตัวเอง
การตั้งเป้าหมายแต่ละครั้ง เราต้องแน่ใจก่อนว่าเป้าหมายนี้มีคุณค่าและสร้างประโยชน์ให้กับเราเองและเป็นสิ่งที่ทำให้เรารู้สึกว่ามันสำคัญได้ เป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องทำ เมื่อเราทำตามเป้านี้ได้สำเร็จ เราก็จะมีความสุขมากขึ้น
สาม พยายามจำกัดเป้าหมายให้อยู่ในระดับที่จัดการได้
สิ่งที่เราต้องรู้ตัวคือ ต้องรู้ข้อจำกัดของตัวเอง ไม่ตั้งเป้าหมายให้มันยากจนเหลือเชื่อว่าจะทำได้สำเร็จ เช่น อยากเรียนภาษา 25 ภาษาหรืออยากรู้ทักษะงานใหม่ 15 เรื่อง เหล่านี้ดูเกินจริงมากไป ส่วนเคล็ดลับที่จำทำให้สำเร็จ คือการเขียนเป้าหมายที่ต้องการทำให้สำเร็จ จากนั้นก็ค่อยๆ เขียนลงแผ่น post-it แปะในบ้าน บริเวณที่เราต้องผ่านบ่อยๆ แปะหลายๆ แห่ง เพื่อเตือนความทรงจำให้ระลึกถึงเป้าหมายเสมอ ไม่หลุดโฟกัส
สี่ เป้าหมายที่ตั้งไว้ ต้องเฉพาะเจาะจง
ใช้หลัก SMART ในการกำหนดเป้าหมาย แบ่งได้ดังนี้ เริ่มด้วย S ต้อง Specific หรือเฉพาะเจาะจง เช่น จากที่บอกว่าตั้งเป้าจะให้สุขภาพดี เปลี่ยนเป็น ปีนี้จะเลิกสูบบุหรี่ เป็นต้น แค่สุขภาพดียังไม่พอเพราะความหมายค่อนข้างกว้าง ต้องบอกให้ชัดเจนว่าต้องการทำอะไร
M คือ Measurable วัดผลได้ เช่น จากเดิมตั้งเป้าว่าจะลดน้ำหนักให้ได้ ก็เปลี่ยนเป็น ลดน้ำหนักให้ได้ 10% ของน้ำหนักตัว เป็นต้น
ตัว A คือ Attainable คือการตั้งเป้าหมายที่ท้าทายแต่หวังผลได้ว่ามันจะเป็นเป้าที่สามารถทำให้สำเร็จได้ เช่น จากเดิมตั้งเป้าว่าจะปีนี้จะมีเพื่อนใหม่ให้ได้ 100 คน ก็เปลี่ยนเป็นมีเพื่อนใหม่ให้ได้ 10 คน ดูแล้วมีความเป็นไปได้และไม่ยากเกินไป
ตัว R คือ Relevant คือพยายามทำให้เป้าหมายสำคัญ มีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันและเป็นเป้าหมายที่ทำให้เกิดแรงจูงใจที่เราจะทำให้สำเร็จ
ตัวสุดท้ายคือ T หมายถึง Time ต้องกำหนดเวลานการทำเป้าหมายให้สำเร็จ ต้องมีการกำหนด deadline ให้ชัดเจน
ห้า แบ่งเป้าหมายใหญ่ให้เป็นเป้าหมายเล็กๆ
เวลาที่เรากำหนดเป้าหมาย เราต้องแบ่งเป้าหมายออกเป็นเป้าหมายย่อยๆ เช่น ตั้งเป้าที่จะทำให้สำเร็จภายในสัปดาห์ เป็นเป้าหมายประจำสัปดาห์ หรือเป้าหมายประจำเดือน เช่น ต้องการลดน้ำหนัก 10 กิโลกรัมภายในปีนี้ ในแต่ละเดือนอาจจะพยายามลดให้ได้อย่างน้อย 1-2 กิโลกรัมขึ้นไป ทำไปเรื่อยๆ จนกว่าจะสำเร็จ การพยายามสร้างลิสต์เป้าหมายหรือทำให้เห็นภาพใหญ่ของเป้าหมาย เพื่อจะเห็นว่าในการทำเป้าหมายย่อยให้สำเร็จทีละขั้น ส่งผลให้เป้าหมายใหญ่สำเร็จเร็วขึ้นได้อย่างไร
หก เขียนเป้าหมายให้ชัดเจน
เขียนเป้าหมายให้ชัดเจน เขียนลงกระดาษ แปะไว้ที่ฝาผนัง เพื่อจะได้ย้ำเตือนความทรงจำให้จำได้ว่าต้องทำตามเป้าหมาย เขียนเพื่อทำให้ผู้ตั้งเป้าหมายไม่หลุดโฟกัส เขียนรายละเอียดย่อยเพื่อให้เห็นเส้นทางที่จะทำให้บรรลุเป้าหมายใหญ่ๆ เขียนเพื่อให้รู้ว่าแต่ละวันที่ผ่านไปเราทำเป้าหมายสำเร็จไปแค่ไหนแล้ว การเขียนเป้าหมายนี้นอกจากจะเขียนเพื่อบันทึกแล้ว ควรเขียนเป็นดราฟท์อีเมล์ไว้ในเมล์ส่วนตัวด้วย นอกนั้นก็ควรใช้แอปเข้ามาช่วยเพื่อติดตามว่าเป้าหมายใกล้สำเร็จแค่ไหน จากนั้นก็พิมพ์เป้าหมายหรือเขียนแปะฝาผนังไว้ กันลืม
เจ็ด แชร์เป้าหมายให้คนอื่นรับรู้
การแชร์เป้าหมายให้คนอื่นรับรู้ จะทำให้คุณรู้สึกต้องรับผิดชอบเป้าหมายที่กำหนดไว้มากขึ้น ในอีกด้านหนึ่งก็สร้างแรงกดดันให้ตัวเองที่ต้องพยายามทำให้ได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ นอกจากนี้ ถ้าหาเพื่อนที่ตั้งเป้าหมายคล้ายกันได้ก็จะมีเพื่อนร่วมทาง ช่วยกันทำเป้าหมายให้สำเร็จได้
แปด ทำให้เป็นเรื่องอัตโนมัติเท่าที่จะทำได้
เรื่องอัตโนมัติที่ว่าก็คือ การนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วย ไม่ว่าจะเป็นแอปพลิเคชันหรือใช้ to do list เพื่อทำเครื่องหมายให้รู้ว่า ในแต่ละวันคุณทำเป้าหมายอะไรสำเร็จไปแล้วบ้าง คุณได้ทำตามเป้าบ้างหรือไม่ หรือกำหนดเป้าหมายไว้แต่ไม่ได้ลงมือทำ การใช้แอปเหล่านี้จะช่วยทำให้จัดการตัวเองเพื่อทำให้เป้าหมายสำเร็จได้ง่ายขึ้น
เก้า ทบทวนเป้าหมายเป็นประจำ
พยายามจดจำเป้าหมายไว้ในความทรงจำ ไว้ในห้วงความคิดตลอดเวลา เพื่อที่จะทำให้เป้าหมายสำเร็จได้ พยายามทบทวนเป้าหมายประจำเดือน ประจำสัปดาห์ ทุกๆ วัน เพื่อจะรักษาระยะที่จะทำให้เป้าหมายบรรลุผลได้ หมั่นตรวจตราเป้าหมายที่เราวางไว้เสมอ
สุดท้าย หลุดออกจากเป้าหมายเมื่อไร กลับสู่เส้นทางที่ต้องทำเป้าหมายให้เร็ว
อย่างที่กล่าวไว้ตั้งแต่ข้อแรก คือการเผื่อพื้นที่สำหรับความผิดพลาดบ้าง เราอาจจะหลงลืม ผิดพลาด ไม่อยู่กับร่องกับรอยที่เราวางไว้บ้าง ก็จงรักษากำลังใจตัวเองไว้และกลับมาทำตามแผนให้ได้โดยเร็ว เพื่อที่สุดท้ายเมื่อเริ่มต้นปีใหม่อีกครั้ง เราจะได้มีเป้าหมายใหม่ๆ ให้ทำ มากกว่าต้องมานั่งทำตามเป้าหมายเดิมเหมือนทุกๆ ปีที่ผ่านมา เพราะทำตามเป้าไม่สำเร็จ
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา
Related
กี่ปีแล้ว? ทำ New Year's Resolutions ไม่สำเร็จ เปิดเคล็ดลับ 10 ข้อ ปีนี้ต้องทำให้ได้ - Brand Inside
Read More
No comments:
Post a Comment