อนากุลา จ กมฺมนฺตา แปลว่า “การทำงานไม่คั่งค้าง หรือการงานไม่อากูล” คำนี้เป็นคำพระแท้ ๆ ชาวบ้านฟังไม่รู้เรื่องแน่ ถ้าไม่อธิบาย “การงานไม่อากูล” ก็คือ ทำงานมิให้คั่งค้าง ไม่ทำงานแบบจับฉ่าย
ดังบัณฑิตกล่าวว่า “คนที่จะเจริญก้าวหน้าประสบความสำเร็จในชีวิต นอกจากจะเลือกคบคนดี มีการศึกษา เล่าเรียนดี มีระเบียบวินัย ยกย่องคนควรยกย่อง ตลอดถึงปฏิบัติต่อสามี ภรรยา บุตร ธิดาดีแล้ว ยังขึ้นอยู่กับเงื่อนไขปัจจัยอีกข้อหนึ่ง คือ การทำงาน”
การทำงานดุจคนขับรถเป็น รถยนต์จะใหม่เอี่ยม เครื่องยนต์ดี ยี่ห้อโก้เก๋ทันสมัยอย่างไร ถ้าคนไม่ขับเคลื่อนที่ รถก็เสมือนเศษเหล็กธรรมดา ไม่ต่างจากขอนไม้ท่อนหนึ่งเท่านั้นเอง นั่งขี่บนขอนไม้กับนั่งในรถหรูคันนั้น ได้ผลเท่ากัน คือไปไม่ถึงที่หมาย การจะไปถึงที่หมายได้ ก็ต้องสตาร์ตเครื่องแล้วก็ขับไป ฉันใดก็ฉันนั้น คนเราเกิดมาแล้วนั่งนอนอยู่เฉย ๆ งานการไม่ทำ นอกจากจะไม่เจริญแล้วจะพานเป็นอัมพฤกษ์อัมพาตเอา
เพราะฉะนั้น ปรารถนาความเจริญ ต้องทำงานและทำงานให้มีประสิทธิภาพ มิใช่สักแต่ว่าทำ ฝึกทำงานให้สำเร็จ มิใช่ทำให้เสร็จ ๆ ไป
วิธีทำงานมีอยู่ 2 แบบ คือ 1. ทำแบบมงคล และ 2.ทำแบบอัปมงคล
การงานทำแบบเป็นมงคล คือ ทำแล้วเจริญ มีหลักอยู่ 3 หลัก คือ ทำดี ทำเต็มที่ ทำให้สำเร็จ ส่วน การทำงานแบบอัปมงคล นั้น คือ ทำแล้วล่มจมเสียหาย คือ ทำค้าง ทำย่อหย่อน ทำเสีย
งานอากูล ก็คือ งานค้าง เป็นนิสัยคนทำงานประเภทหนึ่ง มักไม่ชอบทำอะไรให้เสร็จ ทั้งที่ควรทำให้เสร็จ ทำได้หน่อยหนึ่งแล้วทิ้งไว้ก่อน ผัดผ่อนไปเรื่อย “พรุ่งนี้ยังมีเวลา เอาไว้แค่นี้ก่อน”
อุปมาเสมือนผู้สูงวัย ฟันไม่ดี เคี้ยวอาหารให้ละเอียดไม่ได้ พอจวนจะละเอียดก็กะล่อมกะแล่มกลืนเข้าไป กินก็เท่ากับไม่กิน เผลอๆ อาหารที่กลืนเข้าไปไม่ย่อย หรือย่อยยาก เป็นโทษแก่ร่างกายอีก
ลักษณะคนทำงานคั่งค้าง ที่เห็นได้ชัดเจน คือ ชอบจับจด ทำงาน ก. ได้หน่อยหนึ่ง เบื่อ หันไปจับงาน ข. ไปได้หน่อยหนึ่ง หันไปจับงาน ค. เลยไม่เสร็จ ไม่สำเร็จสักอย่าง บางท่านคิดว่าคนเช่นนี้เป็นนักริเริ่ม เริ่มงานหรือวางแผนเก่ง หามิได้ อย่างนี้โบราณเขาเรียกว่า “คนจับจดต่างหาก”
ทำงานไม่ให้อากูลต้องเพิ่มพูนด้วยธรรมแห่งความสำเร็จ กล่าวคือ อิทธิบาท 4 ประจำใจ คือ
ประการที่ 1 ฉันทะ โดยสามัญทั่วไปแปลกันว่าความพอใจ ซึ่งยังไม่สื่อความหมายเท่าที่ควร ถ้าจะให้เข้าใจง่ายควรแปลว่า ความรักงานและเต็มใจทำ คนเราลองได้รักอะไรหรือรักใครแล้วย่อมเต็มใจทำให้ทุกอย่าง เสมือนวัยรุ่นหนุ่มสาว อุปมาว่า วัยรุ่นหนุ่มสาวนั้น หากคนรักชอบอะไร ต้องการอะไร จะขวนขวายอุตสาหะหามาประเคนให้ด้วยความเต็มใจ ฉันใดก็ฉันนั้น การทำงานก็ไม่แตกต่างกัน เราต้องมีความรัก เพียงแต่แปรความ “รักคน” มาเป็น “รักงาน” แล้วเราก็ทุ่มเทให้กับงานได้เป็นอย่างดี
ประการที่ 2 วิริยะ ความเพียรพยายามหรือแข็งใจทำ แข็งใจในที่นี้ มิใช้ฝืนใจทำแบบซังกะตาย หากหมายถึงทำงานด้วยความเข้มแข็ง กล้าสู้ กล้าบุก ไม่ว่างานจะใหญ่โตหรือลำบากแค่ไหน พยายามทำเต็มที่ ไม่คำนึงถึงความเหนื่อยยาก
ประการที่ 3 จิตตะ ตั้งใจทำ หมายถึง คิดถึงงานที่เริ่มไว้ตลอดเวลา เอาใจจดจ่ออยู่ที่งานนั้น เสมือนหนุ่มสาว เวลาเรารักใครสักคน เขาจะคิดถึงแต่คนที่เขารัก คนที่รักกันคิดถึงกันย่อมไม่มีวันจะทอดทิ้งกันแน่นอน นอกเสียแต่จะหมดรักกันเท่านั้น ฉันใด คนที่คิดถึงงานตลอดเวลา ย่อมไม่ทิ้งงาน มีแต่จะคิดหาทางปรับปรุงแก้ไขให้งานก้าวหน้าขึ้นเรื่อยๆ ฉันนั้น
ประการที่ 4 วิมังสา เข้าใจทำ อันนี้หมายถึงทำงานด้วยการใช้ปัญญา ทำอย่างฉลาดไม่ขาดเฉลียว คนเราถึงจะรักงานเพียงใด พากเพียรเพียงใด เอาใจจดจ่ออยู่กับงานเพียงใด ถ้าขาดปัญญา ความรู้ ความเข้าใจแล้ว แทนที่งานจะสำเร็จอาจจะไม่สำเร็จ หรือก่อทุกข์โทษให้ก็ได้ ดังวลีที่ว่า “คนโง่ขยันนั้นอันตรายยิ่งกว่าอะไรเสียอีก” เพราะเขาจะขยันสร้างปัญหาให้แก่ตัวเองและคนอื่น ๆ ดังนิทานสาธกที่ว่า
มีบุรุษคนหนึ่งเลี้ยงลิงไว้ฝูงหนึ่ง วันหนึ่งเขาจะไปธุระต่างเมือง สั่งให้หัวหน้าลิงช่วยดูแลสวนผลไม้ที่เพิ่งปลูกใหม่ ๆ เจ้านายหายไปสามสี่วัน ต้นไม้ในสวนตายเรียบ ไม่ใช่เพราะฝูงลิงนี้ขี้เกียจ แต่ลิงทำตามที่เจ้านายสั่ง ทำอย่างขะมักเขม้นทีเดียว หัวหน้าลิงสั่งให้ลูกน้องช่วยกันตักน้ำมารดต้นไม้ทุกเช้า ขณะรดน้ำ หัวหน้าลิงก็สั่งให้ลูกน้องถอนต้นไม้มาดูทุกครั้งว่ารากมันชุ่มน้ำหรือยัง ถ้ายังก็ให้ราดน้ำลงไปใหม่ ถ้ารากชุ่มแล้วจึงยัดลงหลุมกลบดินใหม่ ทำอย่างนี้ทุกวัน แล้วอย่างนี้มันจะเหลืออะไร เจ้านายกลับมาเห็นต้นไม้ตายเกลี้ยงสวนแทบลมจับ นี่แหละโทษของการใช้ลิงโง่แต่ขยันรดน้ำต้นไม้
อย่าขยันทำไปทุกเรื่อง ควรทำในเรื่องที่ควรทำ งานบางงานไม่มีเรา คนอื่นอาจทำได้ดีกว่าเรา งานหลายงานสำเร็จด้วยคนหลายคน งานจะคัดเฉพาะคนที่เหมาะที่สุด
ฝึกทำงานด้วยความรู้ตัว อย่าแค่ทำงานไปตามรู้สึกนะโยม…
……………………………………………….
คอลัมน์ : ลานธรรม
โดย : พระสุธีวชิรปฏิภาณ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ประธานพระธรรมวิทยากรเครือข่ายธรรมะอารมณ์ดี
อย่าขยันทำไปทุกเรื่อง - เดลีนีวส์
Read More
No comments:
Post a Comment