“เราได้เรียนรู้แล้วว่า เราประเมินไวรัสชนิดนี้ต่ำเกินไปสำหรับภยันตรายที่มีต่อเรา ถึงแม้ว่าโอมิครอน อาจจะทำให้อาการของโรครุนแรงน้อยกว่า แต่จำนวนผู้ป่วยอาจครอบงำระบบสาธารณสุขที่อาจตั้งรับไม่ทันท่วงทีได้อีกครั้ง” (14 ธันวาคม 2564)
“ยกเลิกการจัดงานเลี้ยงดีกว่าที่จะต้องยกเลิกชีวิต การยกเลิกในเวลานี้และจัดงานเฉลิมฉลองให้ช้าลง ดีกว่ามาฉลองกันตอนนี้แล้วมาเสียใจกันในภายหลัง” (21 ธันวาคม 2564)
หากจับใจความของ ทีดรอส อัดฮานอม กีเบรเยซุส ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก (WHO) ก็จะรู้ว่า "โอมิครอน" อาจจะ "น่ากลัว" กว่าที่คิด
ขณะที่รายงานของ WHO ณ วันที่ 21 ธ.ค. 64 ระบุว่า ตรวจพบการแพร่ระบาดของสายพันธุ์โอมิครอนแล้วอย่างน้อย 89 ประเทศทั่วโลก โดยพบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าในทุกๆ 1.5 - 3 วัน ในพื้นที่ชุมชนที่มีการแพร่ระบาด
นี่คือท่าทีของ WHO ล่าสุดก่อนเทศกาลแห่งการเฉลิมฉลองของชาวโลกกำลังใกล้จะมาถึงในอีกไม่กี่วันข้างหน้า ท่ามกลางการ “รอคอย” อย่างใจจดใจจ่อกับ “ข้อมูลอย่างเป็นทางการของสายพันธุ์โอมิครอน”
โดยก่อนหน้าการปรากฏตัวของสายพันธุ์โอมิครอน “เรา” เคยหวาดผวาการอาละวาดของ “สายพันธุ์เดลตา” กันมาก่อน เช่นนั้นแล้วในเมื่อมีความโน้มเอียงว่า สายพันธุ์โอมิครอน “ช่างน่าหวาดหวั่น” ข้อมูลที่ “เรา” มีจนถึงวันที่ 24 ธ.ค. 64 สามารถบอกถึงความ “แตกต่าง” ระหว่าง “สายพันธุ์เดลตา” และ “สายพันธุ์โอมิครอน” ได้มากน้อยแค่ไหนแล้ว?
ผลการศึกษาในประเทศแอฟริกาใต้?
Discovery Health บริษัทประกันสุขภาพรายใหญ่ที่สุดของแอฟริกาใต้ เปิดเผยผลการวิเคราะห์การแพร่ระบาดของสายพันธุ์โอมิครอนในโลกจริง โดยอิงจากผลการทดสอบผู้ติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 211,000 คน ในประเทศแอฟริกาใต้ ที่มีการเปิดเผยออกมาเมื่อวันที่ 14 ธ.ค. 64 ระบุว่า
ความเสี่ยงต่อการติดเชื้อซ้ำ : สำหรับผู้เคยติดเชื้อโควิด-19 แล้ว มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อซ้ำจากสายพันธุ์โอมิครอนในระดับสูงอย่างมีนัยสำคัญ (Significantly Higher) เมื่อเปรียบเทียบกับสายพันธุ์เดลตา
ความรุนแรงของโรคหลังการติดเชื้อ :
กลุ่มผู้ใหญ่ (Adult)
ความเสี่ยงต่อการเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลในกลุ่มผู้ใหญ่ ที่ติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนเมื่อเปรียบเทียบกับการติดเชื้อที่เกี่ยวข้องกับสายพันธุ์เดลตาในประเทศแอฟริกาใต้เมื่อช่วงกลางปี 2020 ลดลง 29%
กลุ่มเด็ก (Children)
จากข้อมูลเบื้องต้นชี้ให้เห็นว่า “กลุ่มเด็ก” มีความเสี่ยงสูงที่จะเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลจากการแพร่ระบาดระลอกที่ 4 ในประเทศแอฟริกาใต้ ที่นำโดยสายพันธุ์โอมิครอน ถึง 20% เมื่อเปรียบเทียบกับการแพร่ระบาดระลอกแรกที่นำโดยสายพันธุ์เดลตา
การศึกษาของฮ่องกง?
นักวิจัยจากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยลี กาชิง (Li Ka Shing Faculty of Medicine) เปิดเผยผลงานวิจัยเกี่ยวกับการแพร่เชื้อในทางเดินหายใจมนุษย์ หลังได้รับเชื้อสายพันธุ์โอมิครอน ระหว่าง โคโรนาไวรัสสายพันธุ์ดั้งเดิม สายพันธุ์เดลตา และสายพันธุ์โอมิครอน พบว่า สายพันธุ์โอมิครอนแบ่งตัวในหลอดลมของผู้ติดเชื้อเร็วกว่าสายพันธุ์เดลตาและโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ดั้งเดิม 70 เท่า หลังผ่านการได้รับเชื้อไปเพียง 24 ชั่วโมง ซึ่งอาจเป็นคำอธิบายได้ว่าทำไมสายพันธุ์โอมิครอน จึงแพร่เชื้อให้กับมนุษย์ได้เร็วกว่า สายพันธุ์เดลตาและโคโรนาไวรัสสายพันธุ์อื่นๆ
อย่างไรก็ดี การศึกษาดังกล่าวพบว่า การติดเชื้อในปอดของสายพันธุ์โอมิครอนน้อยกว่าสายพันธุ์ดั้งเดิม ต่ำกว่า 10 เท่า ซึ่งทำให้มีแนวโน้มว่า อาจทำให้ความรุนแรงของโรคลดลง (อย่างไรก็ดี รายงานวิจัยนี้กำลังอยู่ระหว่างการทบทวนเพื่อตีพิมพ์อย่างเป็นทางการ สิ้นสุดวันที่ 15 ธ.ค. 64)
การศึกษาในอังกฤษ?
22 ธันวาคม 2564
ผลการวิจัยเรื่องความเสี่ยงในการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลจากการติดเชื้อสายพันธุ์โอมิครอนในประเทศอังกฤษเมื่อเปรียบเทียบกับสายพันธุ์เดลตา ของ Imperial College London (ICL)
จากกลุ่มตัวอย่างผู้ติดเชื้อ ที่ได้รับการยืนยันด้วยผลตรวจ PCR ระหว่างวันที่ 1-14 ธ.ค. 64 ในประเทศอังกฤษ ระบุว่า โดยรวมแล้วพบความเสี่ยงในการเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล สำหรับผู้ติดเชื้อสายพันธุ์โอมิครอน “ลดลง” ประมาณ 20-25% เมื่อเปรียบเทียบกับสายพันธุ์เดลตา และอยู่ที่ประมาณ 40-45% ในกรณีที่ต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลนาน 1 วัน หรือนานมากกว่านั้น เมื่อเปรียบเทียบกับสายพันธุ์เดลตาเช่นกัน
อย่างไรก็ดี ในรายงานวิจัยฉบับนี้ได้ระบุเพิ่มเติมว่า แม้ค่าเฉลี่ยที่ผู้ติดเชื้อสายพันธุ์โอมิครอนที่ต้องนอนในโรงพยาบาลจะลดลงมากกว่าสายพันธุ์เดลตา แต่สิ่งที่ต้องชั่งน้ำหนักให้ดี คือ “ความเสี่ยงที่จะติดเชื้อโอมิครอนนั้นมีมากกว่าสายพันธุ์เดลตา อันเนื่องจากภูมิคุ้มกันในการต้านทานการติดเชื้อ ทั้งจากการฉีดวัคซีนและการติดเชื้อตามธรรมชาตินั้นลดลง เมื่อเทียบกับสายพันธุ์เดลตา ด้วยเหตุนี้ จำนวนผู้ป่วยที่อาจต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลจึงอาจมี “จำนวนมากกว่า” จนทำให้ระบบสาธารณสุขล่มสลายรวมถึงยังอาจทำให้ผู้ป่วยโรคอื่นๆ ได้รับผลกระทบตามมาอีกด้วย
** หมายเหตุ กรณีการติดเชื้อสายพันธุ์เดลตา มีความเสี่ยงต่อการเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลประมาณ 50% และความเสี่ยงสำหรับการเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล 1 วันขึ้นไปที่ 61% **
ขณะที่ล่าสุดรายงาน จาก สำนักงานความมั่นคงด้านสุขภาพของสหราชอาณาจักร (UK Health Security Agency) UKHSA ณ สิ้นสุดวันที่ 23 ธ.ค. 64 รายงานว่า มีผู้ติดเชื้อสายพันธุ์โอมิครอนสะสมที่ได้รับการยืนยันในสหราชอาณาจักรแล้วทั้งสิ้น 90,906 คน เพิ่มขึ้นจากรายงานก่อนหน้า (20 ธ.ค. 64) 16,817 คน โดยจำแนกเป็น
อังกฤษ มีผู้ติดเชื้อสายพันธุ์โอมิครอน ที่ได้รับการยืนยันแล้ว 83,526 คน เพิ่มขึ้น 14,379 คน จากรายงานฉบับก่อนหน้า
ไอร์แลนด์เหนือ มีผู้ติดเชื้อสายพันธุ์โอมิครอน ที่ได้รับการยืนยันแล้ว 3,877 คน เพิ่มขึ้น 1,528 คน จากรายงานฉบับก่อนหน้า
สกอตแลนด์ มีผู้ติดเชื้อสายพันธุ์โอมิครอน ที่ได้รับการยืนยันแล้ว 2,326 คน เพิ่มขึ้น 674 คน จากรายงานฉบับก่อนหน้า
เวลล์ มีผู้ติดเชื้อสายพันธุ์โอมิครอน ที่ได้รับการยืนยันแล้ว 1,177 คน เพิ่มขึ้น 236 คน จากรายงานฉบับก่อนหน้า
อ่านสกู๊ปที่น่าสนใจ
ภัยโควิด “โอมิครอน” เสี่ยงทำระบบสาธารณสุขล่มสลาย มากกว่า "เดลตา" - ไทยรัฐ
Read More
No comments:
Post a Comment