กรมชลประทาน จับตาแล้ง 2 เดือน ทำนาปรังครั้งที่ 1 ไต่ระดับแตะ 3 ล้านไร่ 46 % ของแผนแล้ว ลุ่มเจ้าพระยามากสุด 73% วอนประหยัดน้ำเพื่อให้เพียงพอใช้ตลอดทั้งปี
นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมชลประทาน ได้ติดตามการทำนาปรังครั้งที่ 1 อย่างต่อเนื่อง ซึ่งเกษตรกรได้เริ่มปลูกแล้วตั้งแต่เดือน พ.ย. ที่ผ่านมา หลังจากการเก็บเกี่ยวข้าวนาปี 2564/65 โดยผลสำรวจเมื่อ 26 ธ.ค.2564 พบว่าในพื้นที่เขตชลประทาน มีการทำนาปรังแล้ว 3.01 ล้านไร่ หรือ 46.86% ของแผนที่กำหนดไว้ 6.41 ล้านไร่
โดยอยู่ในเขตลุ่มเจ้าพระยามากที่สุด 2.08 ล้านไร่ หรือ 73.84% ของแผนที่กำหนดไว้ 2.81 ล้านไร่ หรือ 31% ของการทำนาปรังทั่วประเทศ รองลงมา ภาคตะวันออก 4.2 แสนไร่ หรือ 85.91% ของแผนที่กำหนดไว้ 4.9 แสนไร่และภาคเหนือ 4.1 แสนไร่ หรือ 90.25% ของแผนที่กำหนดไว้ 4.5 แสนไร่
“ช่วงเวลาไม่ถึง 2 เดือนหลังประกาศเข้าสู่ฤดูแล้งอย่างเป็นทางการเมื่อ 1พ.ย. โดยทั่วประเทศทำนาปรังครั้งที่ 1 แล้วมากกว่า 3 ล้านไร่ หรือเกือบ 50% ของแผนการทำนาปรังในเขตชลประทานทั่วประเทศ ที่มากสุดคงเป็นลุ่มเจ้าพระยามีการทำนาปรังครั้งที่ 1เกือบ 31% ของพื้นที่ทำนาปรังครั้งที่ 1 ทั้งหมดและคิดเป็น 74% ของแผนเพาะปลูก แต่น้ำต้นทุนในรายภาคที่จะนำมาใช้ในลุ่มเจ้าพระยา จาก 4 เขื่อนหลัก คือ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อย และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์เหลือน้ำใช้การได้ 42% ของน้ำใช้การได้เมื่อต้นฤดู”
ทั้งนี้ แผนการบริหารจัดการน้ำฤดูแล้ง (1พ.ย.64-30เม.ย.65) ลุ่มเจ้าพระยาปี 2564/65 ใน 4 เขื่อนหลักมีปริมาณน้ำใช้การได้ 14,281 ล้าน ลบ.ม. หรือ 57% ของปริมาณน้ำเก็บกักได้เมื่อต้นฤดูที่ 24,871 ล้านลบ.ม. น้ำใช้การได้เหลือ 7,785 ล้าน ลบ.ม. หรือ 42% ของปริมาณน้ำใช้การได้เมื่อต้นฤดูที่ 18,175 ล้าน ลบ.ม. โดย เขื่อนภูมิพล ปริมาณน้ำเก็บกักเหลือ 8,113 ล้าน ลบ.ม. หรือ 60% ของน้ำเมื่อต้นฤดูที่ 13,462 ล้าน ลบ.ม. และปริมาณน้ำใช้การได้ 4,313 ล้าน ลบ.ม. หรือ 45% ของปริมาณน้ำต้นฤดูแล้งที่ 9,662 ล้านลบ.ม.
เขื่อนสิริกิติ์ มีปริมาณน้ำเก็บกักเหลือ 4,404 ล้าน ลบ.ม. หรือ 46% ของปริมาณน้ำเมื่อต้นฤดูแล้งที่ 9,510 ล้านลบ.ม. และปริมาณน้ำใช้การได้เหลือ 1,554 ล้าน ลบ.ม. หรือ 23% ของปริมาณน้ำใช้การได้เมื่อต้นฤดู 6,660 ล้านลบ.ม.
เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน มีปริมาณน้ำเก็บกักเหลือ 876 ล้าน ลบ.ม. หรือ 93% ของปริมาณน้ำเก็บกักได้เมื่อต้นฤดูที่ 939 ล้าน ลบ.ม. น้ำใช้การได้เหลือ 833 ล้านลบ.ม. หรือ 93% ของปริมาณน้ำใช้การได้เมื่อต้นฤดูแล้งที่ 896 ล้าน ลบ.ม.และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีปริมาณน้ำเก็บกักเหลือ 888 ล้านลบ.ม. หรือ 93% ของปริมาณน้ำเก็บกักได้เมื่อต้นฤดูแล้งที่ 960 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณน้ำใช้การได้ 885 ล้านลบ.ม. หรือ 93% ของปริมาณน้ำใช้การได้เมื่อต้นฤดูที่ 957 ล้าน ลบ.ม.
ระยะเวลาเกือบ 2 เดือน กรมชลประทานมีการบริหารจัดการน้ำเพื่อใช้ในฤดูแล้ง ให้เพียงพอสำหรับใช้ในกิจกรรมต่างๆ ตามปริมาณน้ำต้นทุน เมื่อ 1 พ.ย.จำนวน 7,744 ล้าน ลบ.ม. มีการจัดสรรน้ำเพื่อใช้ในฤดูแล้ง 5,700 ล้านลบ.ม. ในจำนวนนี้ได้มีการสำรองไว้ต้นฤดูฝน เผื่อฝนทิ้งช่วง จำนวน 3,044 ล้าน ลบ.ม. ขณะนี้มีการจัดสรรไปแล้ว 1,425 ล้าน ลบ.ม. หรือ 25% ของน้ำใช้ในฤดูแล้ง คงเหลือน้ำที่ต้องจัดสรร 4,275 ล้าน ลบ.ม. หรือ 75%ของปริมาณน้ำที่ใช้ในฤดูแล้ง
อย่างไรก็ตามน้ำที่สำรองเพื่อใช้ในกิจกรรมต่างๆ จะถูกจัดสรร ตามลำดับความสำคัญ และปริมาณน้ำต้นทุนที่มี คือ เพื่อทำเกษตรกรรมสัดส่วน 43% เพื่อรักษาระบบนิเวศและอื่นๆ สัดส่วน 35% เพื่ออุปโภคบริโภค บริโภคสัดส่วน 20% และเพื่ออุตสาหกรรมสัดส่วน 2%
กรมชล ชี้ เกษตรกรแห่ทำนาปรัง2 เดือนแตะ 3 ล้านไร่แล้ว - กรุงเทพธุรกิจ
Read More
No comments:
Post a Comment