ในหมู่นักเทรดคริปโตฯ หรือ สินทรัพย์ดิจิทัล มีการถกเรื่องการหักภาษี 15% จากกำไรการซื้อขาย หลังจาก SCBS เข้าถือหุ้น Bitkub 51% ฟากสรรพากรยันเมื่อมีกฎหมายบังคับใช้ ผู้ปฏิบัติต้องทำตามกฎหมาย
วันที่ 4 พฤศจิกายน 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากกลุ่มเอสซีบี เอกซ์ ประกาศส่งบริษัทหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ หรือ SCBS เข้าเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ใน บิทคับ ออนไลน์ สัดส่วน 51% มูลค่า 1.78 หมื่นล้านบาท พร้อมร่วมเป็นพันธมิตรวางรากฐานธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล มุ่งสร้างการเติบโตระยะยาว ตามที่ได้รายงานไปแล้วนั้น
ล่าสุด ในกลุ่มนักลงทุนคริปโตเคอเรนซี หรือ สินทรัพย์ดิจิทัล ได้เกิดประเด็นถกกันเรื่องการหักภาษี ณ ที่จ่าย 15% จากกำไรที่ขายคริปโตฯ ตามประกาศพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 ซึ่งสาระสำคัญระบุว่า
1.กรณีมีการถือหรือครอบครองโทเคนดิจิทัล โดยนักลงทุนผู้ถือหรือผู้ครอบครอง มีสิทธิ์ได้รับส่วนแบ่งกำไรหรือผลประโยชน์อื่นใดในลักษณะเดียวกัน เงินได้ดังกล่าวจะถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ 15% จากผลประโยชน์นั้นก่อนที่จะมีการจ่ายให้กับนักลงทุนที่เป็นผู้ถือหรือผู้ครอบครอง
2.กรณีมีกำไรจากการขาย (Capital Gain) ตามพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 ที่มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2561 ระบุว่าหากมีการขายสินทรัพย์ดิจิทัล แล้วมีกำไรจากการขาย ทางผู้ขายมีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย 15% จากกำไรที่เกิดขึ้นก่อนมีการจ่ายเงินให้นักลงทุน
แม้ว่าจะถูกหัก ณ ที่จ่ายไปแล้ว 15% นั้น แต่ยังคงต้องนำเงินได้ดังกล่าวมารวมคำนวณเงินได้ฯ เพื่อยื่นแบบเสียภาษีบุคคลธรรมดาตอนปลายปีด้วย
ขณะที่ Bitkub หนึ่งในแพลตฟอร์มซื้อขายคริปโตฯ ในไทย ชี้แจงว่า สำหรับภาษีนั้นตามกฏหมายต้องหักกรณีกำไร 15% แต่เนื่องจากไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นกำไรหรือขาดทุนจึงยังไม่มีการหักแต่อย่างใด แต่เพื่อป้องกันการเรียกเก็บจากกรมสรรพากรย้อนหลัง สามารถทำการดาวน์โหลดประวัติเพื่อทำการส่งให้สรรพากรได้
ความเห็นนักเทรด
ประเด็นทำไมนักลงทุนคริปโตฯ จึงถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 15% หากมีกำไรจากการขายสินทรัพย์ดิจิทัล เมื่อเทียบกับนักลงทุนหุ้นที่ได้รับการยกเว้นการหักภาษีประเภทนี้ ทั้งที่มีกำไรจากการขายสินทรัพย์เช่นกัน เป็นประเด็นร้อนในหมู่นักลงทุนคริปโตฯ ทันที
“ประชาชาติธุรกิจ” รวบรวมส่วนหนึ่งจากความคิดเห็นต่อเรื่องดังกล่าวของเหล่านักเทรด ซึ่งมีหลากหลายความเห็นสะท้อนมุมมองและข้อเรียกร้องทั้งต่อผู้ประกอบการตลาดแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัลและหน่วยงานรัฐที่ดูแลเรื่องนี้ ดังนี้
ความเห็นที่ 1
“เหมือนเรื่องภาษีบน Bitkub จะกังวลกันเยอะว่า SCB เข้าซื้อเพื่อเรียกเก็บภาษี ความจริงกฎหมายนี้มีมานานแล้ว แต่ยังไม่มีการบังคับใช้ เพราะบิตคับให้เหตุผลว่า ยังไม่สามารถรับทราบได้ว่าเป็นกำไรหรือขาดทุน CEX ทุกที่เสี่ยงโดนภาษีตอนถอนครับ (ตามกฎหมายนำเงินเข้าประเทศ” ที่สำคัญคือกฎหมาย capital gain หากบังคับใช้ ต้องบังคับใช้ให้เหมาะสม มีการลดหย่อนภาษีเมื่อขาดทุนแบบเดียวกับอเมริกา
ทั้งนี้ ผมคิดว่าภาษี capital gain ในไทยคงยากที่จะบังคับใช้ น่าจะไปดูยอดในธนาคารมากกว่า หากมียอดเข้าบ่อย ๆ เกิน 2 พันครั้งหรือ 4 ล้าน ผมทายว่าสุดท้ายบังคับใช้ไม่ได้ แล้วต้องไปเอากฏที่เกี่ยวกับการเล่นหุ้น หรือกองทุนมาบังคับใช้โดยอนุโลม คือ capital gain ไม่เสียภาษี แต่พวกเงินปันผลอะไรพวกนั้นน่าจะเสีย”
ความเห็นที่ 2
นักเทรดอีกท่านหนึ่งได้แสดงความเห็นไว้ว่า “การหักภาษี 15% นี้ เป็นกฎหมายในประเทศไทย เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะเล่นแพลตฟอร์มใดของประเทศไทยที่ขึ้นตรงกับ กลต. จะต้องใช้กฎหมายเดียวกัน ไม่ใช่เพียง Bitkub เท่านั้น
แต่หากมองอีกมุมหนึ่งก็ถือว่าเป็นการปูฐานให้ทุนของ Bitkub หนาแน่นขึ้นเพื่อนำไปพัฒนาต่อยอดสิ่งใหม่ แต่เมื่อนักเทรดจะย้ายไปซื้อขายในแพลตฟอร์มของต่างประเทศ ทางรัฐบาลก็อาจจะออกกฎหมายใหม่มาขัดขวางได้”
นักเทรดท่านนี้มองว่าการย้ายแพลตฟอร์มไปที่ใด แต่เป็นของประเทศไทย ก็น่าจะไม่แตกต่างกัน แต่หากย้ายไปยังเว็บเทรดต่างประเทศอาจจะหนักกว่า เพราะการโอนเงินกลับเข้ามาอาจจะถือว่าเงินทั้งก้อนนั้นเป็นรายได้
ความเห็นอื่นๆ
“เข้ามาปุ้ป เอาภาษีปั้ป อยู่แบบไม่มีใครผูกมัดก็ดีอยู่แล้ว”
“ก่อนเข้าก็หักอยู่แล้วครับ เขาแค่แจ้งซ้ำนโยบายหัก 15% ทุกกระดานในไทยอยู่แล้วไม่เกี่ยวกับ SCB”
“จะด่าก็ต้องด่าสรรพากรครับ กฎออกตั้งแต่ปลายปี 2561 แค่บังคับใช้ไม่ได้เพราะตรวจสอบรายการซื้อขายจาก exchange ลำบาก”
“ต้องไปแก้กฏหมายเกี่ยวกับการลงทุนครับ หน่วยงานรัฐเป็นคนดูแล ไม่แน่ใจ กลต.หรือกรมสรรพากร น่าจะเก็บให้เหมือนแบบหุ้นไป ปล. เก็บ 15% ก็มากไป เอาแต่รอบที่ได้ด้วยนะ รอบที่เสียคนเก็บภาษีออกให้ไหมครับท่าน”
ต่อมามีนักเทรดอีกท่านมาชี้แจงว่า กำไรจากการขายหุ้นไม่ได้เสียภาษี แต่มีค่าธรรมเนียม ซึ่งกำหนดอัตราแล้วแต่บริษัท
“เรื่องภาษี เป็นเรื่องละเอียดอ่อน หลาย ๆ คนก็โพสต์ไปต่าง ๆ นานา ครับ โยงไปเรื่อง VAT เรื่อง 1.8 ล้านบาท ฯลฯ มันไม่เกี่ยวกันครับ
“ภาษี 15% ที่ว่านี้อาจไม่ใช่แค่ 15% จริง ๆ ครับ เพราะถ้านำไปรวมกับเงินได้บุคคลธรรมดาแล้ว อาจจะต้องเสียเพิ่มว่า 15% อีก เช่น นักลงทุนเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่อัตรา 30% ก็แปลว่าสิ้นปีนอกจากที่หักไป 15% แล้วนั้นยังไม่พอกับภาษี สิ้นปีก็ต้องเสียภาษีเพิ่มอีกครับ เพื่อให้ครบถ้วน (ซึ่งอาจจะทำให้บันไดภาษีของเงินได้บุคคลธรรมดานั้นสูงขึ้นอีก)
“ทาง Bitkub ก็แจ้งแล้วว่าทางบริษัทไม่สามารถคำนวณภาษีออกมาได้เพราะไม่สามารถระบุได้ว่ากำไรหรือขาดทุน
“แต่ถ้าเราดาวน์โหลดประวัติส่งให้กรมสรรพากรตามที่ Bitkub แนะนำ ก็จะต้องมีการคำนวณภาษีเกิดขึ้นครับ ซึ่งจะคำนวนอย่างไรนั้น คงต้องลุ้นกันไปอีก เพราะอาจคำนวณได้หลายมุมมองครับ อย่างที่ทาง Bitkub แจ้งครับว่าคำนวณไม่ได้
“ความเห็นส่วนตัวก็คือ ถ้าสิ้นปีของทุกปี Bitkub มีเอกสารยืนยันการหักภาษี 15% ของกำไร เราก็นำไปเสียภาษีให้ถูกต้องตามกฏหมายครับ ซึ่งเป็นหน้าที่ของทุก ๆ คนครับ
“แต่ถ้าทาง Bitkub คำนวณไม่ได้ เราเองจะคำนวณอย่างไร การเสียภาษีของทุกคนควรคำนวณแบบเดียวกันครับ ก็ไม่ทราบจะทำอย่างไรเช่นกัน ผมก็จะยื่นภาษีตามเอกสารการหัก ณ ที่จ่ายครับ ไม่มี ก็ไม่ทราบจะเอาอะไรไปยื่น มีเอกสารการหัก ณ ที่จ่ายก็นำไปยื่นครับ”
สรรพากรย้ำบริษัทต้องปฎิบัติตามกฎหมาย
ขณะที่ นางสมหมาย ศิริอุดมเศรษฐ ที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์การจัดเก็บภาษี (กลุ่มธุรกิจพลังงาน) ในฐานะโฆษกกรมสรรพากร เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กรณีที่มีประเด็นในกลุ่มนักลงทุนคริปโตฯ เรื่องการเตรียมเก็บภาษี ณ ที่จ่ายในอัตรา 15% ของผู้ซื้อขายคริปโตฯ บนกระดานของ Bitkub
โดยมีการกล่าวอ้างถึงพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561นั้น ขอชี้แจ้งว่า บริษัทที่ถือหุ้นรายใหญ่ของ Bitkub ได้ปฏิบัติตามกฎหมายแล้ว เพราะเมื่อมีกฎหมายบังคับใช้ ผู้ที่ปฏิบัติก็ต้องปฏิบัติตาม
โดยในประมวลกฎหมายกำหนดหลักเกณฑ์ในการเสียภาษีของนักลงทุนที่ลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล ตามพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร ฉบับที่ 19 พ.ศ.2561 โดยกรมต้องเก็บภาษี หัก ณ ที่จ่าย 15% เมื่อนักลงทุนขายสินทรัพย์ดิจิทัลแล้วทำกำไรได้ ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ช่วงเดือนพฤษภาคม 2561 แล้ว
อย่างไรก็ดี หากนักลงทุนที่ขายสินทรัพย์ดิจิทัลแล้วทำกำไรได้ ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 15% หลังการขาย ก็ยังคงสามารถนำเงินภาษี หัก ณ ที่จ่ายจำนวนนี้ ไปแสดงในแบบภาษีบุคคลธรรมดาได้ เช่น โดนหักภาษี ณ ที่จ่าย 15% สามารถนำมาลดหย่อนเป็นเครดิตภาษี ตอนที่ยื่นแบบเสียภาษีบุคคลธรรมดาได้
ดีล SCB-Bitkub ทำนักเทรดผวาขายคริปโตฯ ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 15% - ประชาชาติธุรกิจ
Read More
No comments:
Post a Comment