‘เอ็ม เทอร์ตี้ไนน์’ หรือ ‘M39’ เป็นค่ายหนังที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นเฉพาะตัว สร้างผลงานที่มีทั้งสีสันและคุณภาพออกมาประดับวงการภาพยนตร์บ้านเราเอาไว้มากมาย แม้แต่ในช่วงโควิดระลอกแรกที่วงการหนังไทยหนังเทศซบเซาอย่างหนัก ค่ายหนังสุดเก๋าแห่งนี้ก็ยังสามารถส่งภาพยนตร์ ‘มนต์รักดอกผักบุ้ง เลิกคุยทั้งอำเภอ’ ออกมาสร้างปรากฎการณ์คนแห่ไปดูหนังจนล้นโรง กวาดรายได้ทั่วประเทศไปร่วม 60 ล้านบาท
ปรากฎการณ์ครั้งนี้เกิดขึ้นภายใต้การบริหารของคุณนก ‘ปัญชลีย์ นิธิจิระโรจน์’ Managing Director & Executive Producer คนใหม่ของ M39 ที่วันนี้มาเปิดใจให้สัมภาษณ์แบบ Exclusive Talk กับ ‘จุดประกาย’ ถึงทิศทางใหม่ของค่ายภายใต้การกุมบังเหียนของเธอ พ่วงด้วย 2 ผู้กำกับ ‘ขุนพลหนังท้องถิ่น’ อย่าง หม่ำ- เพ็ชรทาย วงษ์คำเหลา และ เอกชัย ศรีวิชัย ที่มาร่วมถ่ายทอดประสบการณ์การทำงานกับ M39 ในยุคใหม่ให้เราฟังกัน
- ทำหนังที่คนดูมีความสุข
ในปีแรกที่เข้ารับตำแหน่งผู้บริหาร M39 ‘ปัญชลีย์ นิธิจิระโรจน์’ ได้ดูแลการผลิตให้มีการสร้างหนังออกมา 4 เรื่องด้วยกัน คือ มนต์รักดอกผักบุ้ง เลิกคุยทั้งอำเภอ, อีหล่าเอ๋ย, วอนเธอ และเรื่องผีเล่า ซึ่งสังเกตได้ว่ามีความหลากหลาย ทั้งหนังท้องถิ่นใต้ หนังท้องถิ่นอีสาน หนังรักวัยรุ่น และหนังผี ทำให้เราอยากรู้ว่าทิศทางของ M39 ที่จะดำเนินต่อไปในอนาคตคืออะไร
เรื่องนี้ ‘ปัญชลีย์’ ตอบเอาไว้ชัดเจนว่าจุดยืนของเธอคือ การทำภาพยนตร์ไทยให้มีความสนุกสนาน เพื่อมอบความสุขให้กับคนดู ส่วนการพิจารณาอนุมัติหนังแต่ละเรื่องนั้นเธอไม่ได้มีกฎตายตัว เพราะหนังทุกเรื่องคือศิลปะ ขอแค่มีความชัดเจนในกลุ่มเป้าหมายเท่านั้น
credit : Nation Photo วันชัย ไกรศรขจิต
“หนังทุกเรื่องเป็นงานศิลปะ มันมีวิธีเล่าของมัน ถ้าคนที่อยากจะทำหนัง ขอให้เข้าใจว่าเราทำให้ ใครดู ใครคือคนดู ที่ผ่านมา M39 เน้นเจาะกลุ่มเป้าหมายให้ชัดเจน ซึ่งการประสบความสำเร็จของ ‘มนต์รักดอกผักบุ้งฯ’ คือข้อพิสูจน์
เพราะพี่เขา (เอกชัย ศรีวิชัย-ผู้กำกับ) เข้าใจคนพื้นที่ว่ามีรสนิยมแบบไหน ชอบอะไร อะไรคือวิถีชีวิต ทำแล้วจึงประทับใจโดนใจ ขอให้คุณเข้าใจว่าจะเล่าอะไร จะสื่อสารอะไร แล้วคนดูคุณเป็นใคร อันนี้สำคัญ กลุ่มเป้าหมายต้องชัด จะไม่สะเปะสะปะ
เราต้องเห็นหนังเรื่องเดียวกันตั้งแต่ต้น ทั้งคนเขียนบท คนกำกับ โปรดิวเซอร์ รวมทั้ง พาร์ทที่จะต้องมาโปรโมทหนัง ต้องเห็นเป็นภาพเดียวกันและที่สำคัญที่สุดคือ ความทุ่มเท และรับผิดชอบในแต่ละหน้าที่ จึงจะสามารถนำพาหนังไปถึงความสำเร็จได้ นี่คือสิ่งที่ใช้ในการทำงานของ M39 ”
ทั้งนี้ M 39 ได้เตรียมภาพยนตร์ 2 เรื่องเอาไว้มอบเป็นของขวัญให้กับคนไทยในช่วงที่สถานการณ์โควิดเริ่มคลี่คลาย ประชาชนเริ่มกลับมาใช้ชีวิตตามปกติกันได้แล้ว เรื่องแรกคือ ‘ส้ม ปลา น้อย’ หนังท้องถิ่นอีสานจากการกำกับของ ‘หม่ำ จ๊กมก’ ที่จะเข้าฉายในวันที่ 30 ธันวาคม เพื่อมอบเป็นของขวัญส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ส่วนเรื่องที่สองคือ ‘มนต์รักวัวชน’ ผลงานการกำกับของ ‘เอกชัย ศรีวิชัย’ ที่จะเข้าฉายต้อนรับปีใหม่ในวันที่ 27 มกราคม 2565
- ‘หม่ำ-เอกชัย’ 2 ขุนพลหนังท้องถิ่น
ทำไมถึงเป็น ‘หนังท้องถิ่น’ (local film) ของ ‘หม่ำ จ๊กมก’ และ ‘เอกชัย ศรีวิชัย’
ปัญชลีย์กล่าวว่า M39 ทำหนังภาคใต้ประสบความสำเร็จมาแล้วจาก ‘มนต์รักดอกผักบุ้งฯ’ ตามมาด้วยหนังอีสานอย่าง ‘อีหล่าเอ๋ย’ แล้วหนังท้องถิ่นไม่ใช่ว่าดูเฉพาะคนในพื้นที่ แต่คนภาคอื่นก็ดูได้เช่นกัน เธอจึงคิดว่าสิ่งนี้แหละที่จะเดินหน้าต่อ
credit : Nation Photo วันชัย ไกรศรขจิต
“ในวงการผู้สร้างภาพยนตร์ไทย พี่หม่ำเป็นสิงห์อีสาน ส่วนพี่เอกเป็นเสือใต้ ในการสร้างสรรค์ภาพยนตร์ไทยก็ต้องให้พี่เค้าทั้งสองคนในเรื่องตั้งแต่รากความคิดในพื้นที่ ทั้งอีสาน ใต้ วัฒนธรรม รสนิยม ภาษา ต้องสองคนนี้แหละ”
“ทั้งพี่หม่ำ พี่เอก เข้าใจคนในพื้นที่อยู่แล้ว เข้าใจวัฒนธรรม วิถีชีวิต ไม่มีอะไรที่น่ากังวล ไม่ว่าจะในแง่ของมาร์เกตติ้งหรือหน้าหนัง มันทำงานอยู่แล้ว สิ่งที่สำคัญมาก คือ เรื่องบทที่ต้องลงรายละเอียดให้ชัดเจนตรงกัน จนทุกคนมั่นใจร่วมกันว่า บทดี สนุก เข้าถึงอารมณ์ หลังจากนั้นเราก็ปล่อยให้ทุกอย่างดำเนินไปตามกระบวนการของโปรดิวเซอร์ ผู้กำกับ พอหนังเสร็จเราก็มาดำเนินการให้เข้มข้นในเรื่องของการโปรโมท เมื่อมันครบวงจรแล้วทุกอย่างก็น่าจะสมบูรณ์ และก็น่าจะพาไปให้หนังมันสำเร็จได้ เราต้องทำให้ครบทุกด้าน”
- ถอดหมวกผู้บริหาร ใส่หมวกคนดู
เมื่อถามถึงความรู้สึกที่ได้ทำหนังกับสตูดิโอ M39 ภายใต้การบริหารของคุณนก - ปัญชลีย์ นิธิจิระโรจน์ สองผู้กำกับขุนพลหนังท้องถิ่นกล่าวตรงกันว่าเป็นผู้บริหารที่ ‘ใส่ใจ’ และ ‘เข้าใจ’ แต่ไม่ ‘แทรกแซง’ การทำงาน ขณะที่เจ้าตัวเองกล่าวว่า การไว้วางใจซึ่งกันและกันเป็นสิ่งสำคัญมากที่ใช้ในการทำงานร่วมกัน
“คุณนกเวลาบริหารจะเป็นคนหนึ่ง แต่เวลานั่งวิจารณ์หนังเค้าจะเป็นคนดู อันนี้ผมพูดต่อหน้าเลย เค้าจะไม่มาชี้นิ้วว่าอันนี้ไม่เอาแบบนี้ ไม่เอาแบบนั้น ผู้บริหารหนังเค้าจะเป็นก่อนที่จะอนุมัติให้ทำหนัง แต่เมื่อไรที่หนังทำออกมาแล้วเค้าจะเป็นคนดู ซึ่งบางทีมุมนี้เราก็ไม่ได้คิดนะ แต่เค้าคิด และรับฟังซึ่งกันและกัน” เอกชัย ศรีวิชัย กล่าว
ขณะที่ หม่ำ จ๊กมก เสริมว่า คุณนก ปัญชลีย์ เป็นคนที่คนละเอียดกับบทมาก
“ขอนินทาต่อหน้าเหมือนกันนี่แหละ เค้าอ่านบทละเอียด รู้ทุกอันว่าทำไมไม่มีซีนนั้น ซีนนี้ พออธิบายให้ฟังแล้วเค้าก็เข้าใจได้ง่ายๆ”
credit : Nation Photo วันชัย ไกรศรขจิต
ขุนพลหนังถิ่นใต้ ‘เอกชัย ศรีวิชัย’ ขอเสริมว่า “เค้าไม่อวดเก่ง ผมพูดตรงๆ เลย เพราะว่าในการทำหนัง ไม่ว่าจะเกลี่ยสี ทำสกอร์ ทำซาวด์ดีไซน์ ฯลฯ ผมเป็นคนที่ลงมือทำเองหมด แล้วคุณนกเค้าจะไม่ยุ่ง เค้าจะดูอยู่เฉยๆ แต่บอกได้หมดเลยนะว่ามิกซ์เสียงออกมาระดับนี้ เบาไป ดังไป เค้าดูออกนะ”
ขณะที่คุณนก ปัญชลีย์ เล่าถึงการทำงานของตัวเองในฐานะผู้บริหารค่ายหนัง M39 ให้ฟังว่ามี 2 บทบาท
“บทบาทแรก ก่อนที่จะทำหนังทุกเรื่องเราต้องสวมหมวกผู้บริหาร ผู้อำนวยการสร้าง เราก็ต้องแม่นยำในบทที่พี่หม่ำพี่เอกเสนอมา เรารู้สึกกับบทว่ามันโอเครึยัง มันใช่ไหม เรามีทีมงาน บทใต้-คนใต้ช่วยอ่าน บทอีสาน-คนอีสานช่วยอ่าน
พอบทเสร็จปุ๊บก็ปล่อยให้พี่ๆ เค้าทำงานกัน ให้เค้าแสดงฝีมือ พี่หม่ำพี่เอกก็สบายใจในการทำงาน แล้วเราก็ไปเยี่ยมให้กำลังใจพี่ๆ เค้า เพราะกำลังใจเป็นสิ่งสำคัญ เราต้องเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ต้องทุ่มเท เราเห็นพี่ๆ เค้าเหนื่อยมากนะ อยู่หามรุ่งหามค่ำ ตื่นเช้านอนดึก ไหนจะแก้งาน เราต้องให้เค้ามีความสุขในการทำงานให้ได้ก่อน”
พอหนังเสร็จ คุณนก ปัญชลีย์ก็จะเปลี่ยนหมวกมาเป็นคนดูหนังแทน
“พอเข้าไปในแล็บโพสต์ ต้องบอกตัวเองว่า ชั้นเป็นคนดูนะ เพราะถ้าไม่ทำตัวเป็นคนดูหนัง ทำเป็นผู้รู้ มันจะเหมือนไปเข้าจับผิดโฆษณา มันไม่ได้ มันต้องเอาอารมณ์ดูว่าเราอิน เราเพลิดเพลินไปกับมันไหม พี่ๆ เค้าจะเล่าอะไรให้เราดู บทนี่อาจจะลืมไปได้เลยนะ เพราะพอถึงหน้างานจริงมันต้องปรับเปลี่ยนได้ ยืดหยุ่นได้ ถ้าดูแล้วฟีลได้ สัมผัสกับหนังได้ จบแล้ว มีแค่นี้ แล้วดีเทลปลีกย่อยเราค่อยมาคุยกัน”
- ‘ส้ม ปลา น้อย’ v.s. ‘มนต์รักวัวชน’
การอนุมัติให้สร้างภาพยนตร์แต่ละเรื่องเป็นตัวสะท้อนให้เห็นวิธีคิด และแนวทางของผู้บริหารค่ายหนังแต่ละค่ายได้เป็นอย่างดี แล้วคุณนก ปัญชลีย์ มองเห็นอะไรในหนังเรื่อง ‘ส้ม ปลา น้อย’ และ ‘มนต์รักวัวชน’
“หนังไทยมันมีหลากหลาย แต่สิ่งที่อยากให้คงอยู่ไปทุกๆ ปีคือ หนังอีสานกับหนังใต้ เราก็ต้องหาให้เจอว่าอะไรเป็นศูนย์รวม ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของชุมชนคนใต้ที่เป็นอัตลักษณ์ นอกจากโนราห์ หนังตะลุง เราก็ไปเจอ ‘วัวชน’ กับ ‘ควายน้ำ’ แล้วก็ไปรีเสิร์ชพบว่ากีฬาวัวชนไม่ได้มีอยู่เฉพาะในภาคใต้ของไทยนะ มันมีทั่วโลก ในเซาธ์อีธเอเชียก็มี คนมาเลย์ก็ข้ามมาดู
เราไปสัมภาษณ์คนใต้ เค้าตอบว่าใช่ ทุกจังหวัดจะมีกีฬาตัวนี้แล้วมาแข่งแบทเทิลกัน ตระเวนไปสนามวัวนู่นนี่นั่น แล้วเราก็มาปรึกษากับพี่เอกว่าอันนี้ใช่ไหม พี่เอกตอบว่าเส้นผมบังภูเขา ไม่ได้คิดเลย ซึ่งเรื่องนี้ในนามของสตูดิโอ M39 มองว่าน่าจะเป็นโปรดักชั่นหนังใต้ที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยทำมา เรามองว่ามันมีโอกาส มันเป็นสิ่งที่คนใต้เค้ารัก เป็นวัฒนธรรมท้องถิ่น เป็นกีฬา”
ส่วนเรื่อง ‘ส้ม ปลา น้อย’ คุณนก ปัญชลีย์บอกว่าสิ่งที่ทำให้เธอสนใจหนังเรื่องนี้คือนอกจากจะเป็นหนังคอเมดี้ วิถีอีสานแล้วยังได้เห็นความสัมพันธ์ของคนในชุมชน คนในหมู่บ้านที่มีวัดเป็นที่ยึดเหนี่ยวเป็นแหล่งศูนย์รวมจิตใจ โดยหนังจะมีทั้งความสนุกสนาน ความขำ แล้วก็ข้อคิดที่ใช้ได้จริงในชีวิตประจำวันด้วย
- ‘หนังท้องถิ่น’ อนาคตของหนังไทย?
ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ผู้สร้างหนังไทยผลิต ‘หนังท้องถิ่น’ ออกสู่ตลาดกันไม่น้อย และมีทีท่าว่าจะมากขึ้นเรื่อยๆ แล้วหนังท้องถิ่นมีเอกลักษณ์ จุดเด่นอย่างไร
credit : Nation Photo วันชัย ไกรศรขจิต
‘เอกชัย ศรีวิชัย’ ให้มุมมองที่น่าสนใจว่าจริงๆ แล้วแม้กระทั่งหนังภาคกลางเองก็ไม่ได้ขาดความเป็น local หนังไทยจะมีความเป็นท้องถิ่นอยู่ในนั้นแทบทั้งหมด ยกเว้นหนังอย่าง ‘รถไฟฟ้ามาหานะเธอ’ ที่มีความเป็นกรุงเทพฯ จ๋า
“หนังไทยตั้งแต่ยุคไหนมันก็หนีไม่พ้นโลคอล คนที่อยู่ในกรุงเทพฯ ก็มาจากตรงนั้นทั้งนั้น ทุกคนไม่ได้เกิดที่ลาดพร้าวกันหมดซะเมื่อไหร่ มันแค่เปลี่ยนสถานที่ แต่ความเป็นโลคอลมันลาออกกันไม่ได้ คนโลคอลในกรุงเทพฯ จะดูหนังท้องถิ่นแล้วคิดถึงบ้าน แต่คนในพื้นที่เองจะมองในเรื่องของสิ่งใกล้ตัว ใกล้ๆ บ้าน”
เอกชัย ศรีวิชัย ยังชื่นชมคุณนก ปัญชลีย์ด้วยว่าเป็นคนแรกที่บอกว่าจะเปิดตลาดหนังภาคใต้ และมีวิธีคิดที่มองล่วงหน้าไปแล้ว
“เค้าเป็นคนแรกเลยนะที่บอกว่าจะเปิดตลาดหนังภาคใต้ อันนี้ต้องขอบคุณคุณนก เพราะมันไม่เคยมีใครให้โอกาส ผมทำเรื่องแรก ‘เทริด’ คุยกับใครเค้าก็บอกว่ามันไม่เชิญแขก หนังต้องพูดภาษากลางสิ ใครจะดู แต่คุณนกไม่สนใจเรื่องนั้นเลย เค้าบอกว่าหนังต้องสื่อความเป็นท้องถิ่น หนังใต้ก็ต้องสื่อความเป็นภาคใต้สิ คือเค้าจะให้วิธีคิดแบบล่วงหน้ามาเลย ซึ่งผมก็มองว่าในอนาคตมันเป็นอย่างนั้น เพราะตอนนี้โลกมันแคบมาก
ถามว่าวันนี้คนในจังหวัดพัทลุง คนอำเภอกงหรา กับเด็กที่เซ้นเตอร์พอยท์ เค้าเห็นเหมือนกัน แต่สัมผัสไม่เท่ากัน เพราะอินเตอร์เน็ตมันก็มีทุกบ้าน มันก็รู้จักชาบูกันหมดแล้วที่โน่น เพียงแต่มันสัมผัสไม่เท่ากัน ผมมองว่าเป็นอะไรที่เราไปเสิร์ฟหน้าบ้าน เดลิเวอรี่ส่งตรงถึงบ้าน มันใกล้บ้านเลย
ถ้าคนพัทลุงเขาดูหนังวัวชนแล้วบ่อนที่เค้ามาถ่ายมันตรงเนี้ย มันตื่นเต้นนะ แล้วมันเป็นภาษาที่จับต้องได้ เป็นภาษาที่เค้าใช้กันอยู่ทุกวัน คนท้องถิ่นดูหนังพวกนี้ในกรุงเทพฯ จะคิดถึงบ้าน แต่เมื่อไรที่ดูที่บ้านมันจะรู้สึกภูมิใจ”
หม่ำ จ๊กมก ทั้งกำกับและนำแสดงใน 'ส้ม ปลา น้อย'
คุณนก ปัญชลีย์ นิธิจิระโรจน์ ได้ทิ้งท้ายด้วยการฝากภาพยนตร์เรื่อง ‘ส้ม ปลา น้อย’ กับ ‘มนต์รักวัวชน’ เป็นของขวัญให้คนไทยยิ้มได้กันในช่วงส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ที่กำลังจะมาถึงนี้
“ล็อคดาวน์ก็ไม่มีแล้ว เคอร์ฟิวก็ไม่มีแล้ว มันถึงเวลาแล้วที่พวกเราจะมาสนุกสนาน มีความสุขกัน ความเป็นคนไทยมันหนีไม่พ้นหรอก ความสนุกสนาน บันเทิง แล้วสถานที่หนึ่งที่ทำให้เรามีความสุขร่วมกันได้ก็คือโรงภาพยนตร์ ทาง M39 ได้เตรียมทั้ง ‘ส้ม ปลา น้อย’ และ ‘มนต์รักวัวชน’ เอาไว้ให้ชมกัน รับรองว่าทุกคนจะได้ความสุขกลับบ้านไปอย่างแน่นอนค่ะ”
ทำหนังที่คนดูมีความสุข ทิศทางใหม่ของ 'M39' ในยุค 'ปัญชลีย์ นิธิจิระโรจน์' - กรุงเทพธุรกิจ
Read More
No comments:
Post a Comment