รศ.นพ.เมธี วงศ์ศิริสุวรรณ (ผู้ช่วยเลขาธิการแพทยสภา)
การประกอบวิชาชีพเวชกรรม ที่ต้องมีการทำหัตถการบางอย่างโดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำหัตถการในคลินิกที่มิได้มีความพร้อมในระดับเดียวกับโรงพยาบาล เช่น การผ่าตัดเสริมเต้านม การเหลากราม อาจจำเป็นต้องมีการใช้ยาเพื่อบรรเทาอาการเจ็บปวด ลดความกังวลระหว่างการทำหัตถากร หรืออาจต้องมีการดมยาสลบระหว่างการทำหัตถการ แต่การให้ยาดังกล่าวล้วนแต่มีความเสี่ยงที่จะเกิดผลข้างเคียงอันไม่พึงประสงค์หรือที่เรียกกันว่า “ผลแทรกซ้อนจากการให้ยาสงบประสาท (Sedative drug)” ซึ่งผู้มารับการทำหัตถการหรือญาติมักไม่ทราบถึงความเสี่ยงด้านนี้ก่อนรับการทำหัตถการ แม้ว่าโอกาสจะเกิดขึ้นไม่มากแต่ในบางกรณีอาจรุนแรงถึงชีวิตหรือลงเอยด้วยการเป็นเจ้าหญิงนิทรา แพทยสภารับทราบข่าวผลแทรกซ้อนดังกล่าวเป็นระยะ จึงได้พยายามแก้ไขปัญหาดังกล่าว เพื่อทำให้การทำให้การทำหัตถการที่มีความจำเป็นต้องใช้ยาสงบประสาทเป็นไปด้วยความปลอดภัยมากที่สุด จึงได้มีคำสั่งตั้งคณะอนุกรรมการที่ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญหลายสาขาที่มีส่วนเกี่ยวข้องเพื่อร่วมกันหาทางออกที่ดีที่สุดกับทั้งผู้ป่วยและแพทย์ที่เกี่ยวข้อง
หลังจากผ่านการประชุมร่วมกันมาตลอดระยะเวลา ๑ ปี ในที่สุดเมื่อวันที่ ๓๐ กันยายน พ.ศ. ๒๕๖๔ คณะกรรมการแพทยสภาจึงได้มติให้ออกประกาศแพทยสภา เรื่อง “แนวทางการให้ยาสงบประสาท (Sedative drug) ของแพทย์ในการทำหัตถการเกี่ยวกับการเสริมสวย” โดยจะมีผลบังคับใช้ภายใน ๑ปี ทั้งนี้รายละเอียดโดยย่อของประกาศนี้คือ การจัดให้มีการอบรมความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับการใช้ยาสงบประสาทสำหรับแพทย์ที่จะทำหัตถการในกลุ่มนี้ทั้งหมด การควบคุมให้มีมาตรฐานการเฝ้าระวังระหว่างการให้ยาสงบประสาท การกำหนดคุณสมบัติของแพทย์และผู้ช่วยแพทย์ในการให้ยา ตลอดจนการเฝ้าระวังระหว่างการใช้ยาดังกล่าว รวมถึงการกำหนดแบบฟอร์มมาตรฐานในการทำเช็คลิสต์บันทึกการให้ยาสงบประสาทดังกล่าวเพื่อให้ผู้ป่วยได้รับความมั่นใจว่าจะได้รับความปลอดภัยมากขึ้นระหว่างการได้รับยาสงบประสาท ในขณะเดียวกันแม้จะยังคงมีการเปิดกว้างให้แพทย์ที่มิใช่วิสัญญีแพทย์สามารถให้ยาสงบประสาทได้ด้วยตนเอง แต่ก็จำเป็นต้องมีการควบคุมในบางกรณีโดยเฉพาะกับการให้ยาบางกลุ่มบางตัวที่อาจทำให้กระทบต่อสัญญาณชีพของผู้มารับการทำหัตถการได้ รวมไปถึงการบังคับให้มีมาตรฐานการเฝ้าระวังทั้งก่อน ขณะ และหลังการให้ยา ทั้งนี้ในส่วนของแพทย์นั้นแพทยสภาจะได้ประชาสัมพันธ์ให้แพทย์ได้ทราบรวมทั้งประสานงานกับราชวิทยาลัยวิสัญญีแพทย์แห่งประเทศไทยในการเร่งให้ความรู้ดังกล่าวแก่แพทย์ที่เกี่ยวข้องทั่วประเทศ ในส่วนของผู้มารับการทำหัตถการหรือญาติเองนอกเหนือจากการซักถามเรื่องความคาดหวังเกี่ยวกับประเด็นเรื่องความสวยงามที่จะได้รับหลังทำหัตถการแล้ว ก็ควรจะสอบถามแพทย์ถึงขั้นตอนการได้รับยาดังกล่าวว่ามีความเสี่ยงมากน้อยเพียง มาตรการเพื่อความปลอดภัยเป็นอย่างไร อย่าใช้เพียงแต่ราคาเป็นตัวตัดสินเพียงอย่างเดียว ซึ่งมาตรการดังกล่าวแพทยสภามุ่งหวังว่าจะเป็นการยกระดับความปลอดภัยระหว่างการทำหัตถการดังกล่าวให้มีมาตรฐานมากขึ้นกว่าในอดีต อันจะส่งผลดีต่อแพทย์ที่จะมีความมั่นใจในการทำหัตถการดังกล่าวและที่สำคัญที่สุดคือความปลอดภัยของผู้ป่วย
การยกระดับความปลอดภัยระหว่างการทำหัตถการด้านเสริมความงาม - ผู้จัดการออนไลน์
Read More
No comments:
Post a Comment