ชีพจรเศรษฐกิจโลก นงนุช สิงหเดชะ
คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีแถลงการณ์ภายหลังการประชุมเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายนที่ผ่านมาว่า จะเริ่มปรับลดวงเงินซื้อพันธบัตรภายใต้มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (คิวอี) ในปลายเดือนพฤศจิกายนนี้ โดยปรับลงเดือนละ 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์ จากปัจจุบันที่ซื้ออยู่เดือนละ 1.2 แสนล้านดอลลาร์
เนื่องจากเศรษฐกิจมีความก้าวหน้าและเติบโตอย่างยั่งยืนตามเป้าหมาย ซึ่งในเดือนต่อ ๆ ไปก็จะปรับลดคิวอีในอัตราเดียวกันเพราะเห็นว่าเป็นอัตราที่เหมาะสม อย่างไรก็ตาม พร้อมจะปรับเปลี่ยนวงเงินซื้อพันธบัตรตามสถานการณ์เศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป
ส่วนการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายนั้น ถ้อยแถลงของเฟดได้ย้ำว่า ไม่ต้องการให้ลงทุนตีความว่าการ “ลดคิวอี” หมายถึงการส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยในระยะอันใกล้ เพราะถึงแม้อัตราเงินเฟ้อจะอยู่ในระดับสูงเป็นเวลานานกว่าที่เฟดคาดไว้ แต่เฟดยังคงยืนยันว่าภาวะดังกล่าวเป็นเพียงเรื่องชั่วคราว
โดยสาเหตุหลักเกิดจากความไม่สมดุลระหว่าง “ซัพพลาย” และ “ดีมานด์” อันเนื่องมาจากการระบาดของโควิด-19 และการเปิดเศรษฐกิจ ทั้งนี้เฟดคาดว่าเศรษฐกิจจะปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะหลังจากปัญหาห่วงโซ่อุปทานได้รับการแก้ไข เมื่อบวกกับความคืบหน้าในการฉีดวัคซีน ก็จะสนับสนุนกิจกรรมเศรษฐกิจและการจ้างงานให้เติบโตและลดเงินเฟ้อไปด้วย
“เจอโรม พาวเวลล์” ประธานเฟด ระบุว่า ยังไม่ถึงเวลาปรับขึ้นดอกเบี้ย เนื่องจากอยากเห็นตลาดการจ้างงานดีขึ้นกว่านี้ จำเป็นต้องให้ตลาดแรงงานมีเวลาเยียวยาตัวเอง ซึ่งเชื่อว่าจะดีขึ้นหลังจากการระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้าคลี่คลาย
พอล แอชเวิร์ท หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์แคปิตอล อีโคโนมิกส์ ระบุว่า การลดคิวอีเป็นไปตามที่ตลาดคาดการณ์ แต่เฟดยังคงยืนกรานว่า “เงินเฟ้อส่วนใหญ่เป็นเพียงเรื่องชั่วคราว” ซึ่งบ่งบอกว่ากรรมการเฟดสายพิราบยังคงมีบทบาทเหนือกว่า ทางด้าน “ไมเคิล คุชมา” หัวหน้าเจ้าหน้าที่การลงทุนของมอร์แกน สแตนลีย์ อินเวสต์เมนต์ แมเนจเมนต์ กล่าวว่า ครั้งนี้เฟดไม่ได้พูดถึงการขึ้นดอกเบี้ย คาดว่าการประชุมครั้งหน้าจะมีการหารือเรื่องนี้ เป็นไปได้ว่าเฟดจะมีคาดการณ์ใหม่เกี่ยวกับแนวโน้มดอกเบี้ย
ลิซ ยัง หัวหน้ากลยุทธ์การลงทุนโซฟี กล่าวว่า ท่าทีของเฟดบ่งชี้ถึงความอดทนไม่รีบร้อนที่จะขึ้นดอกเบี้ย ตนเชื่อว่าการขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกน่าจะเกิดขึ้นเดือนกันยายนแทนที่จะเป็นเดือนมิถุนายนปีหน้า เพราะเฟดต้องการเว้นช่วงระหว่างการลดคิวอีกับการขึ้นดอกเบี้ย เฟดต้องการดูว่าการลดคิวอีจะช่วยควบคุมแรงกดดันเงินเฟ้อบางส่วนได้เพียงพอหรือไม่
“เดวิด เคลลี่” หัวหน้านักกลยุทธ์ของเจพีมอร์แกน แอสเซต แมเนจเมนต์ เห็นว่า เฟดจำเป็นต้องพิจารณาว่าภาวะเงินเฟ้อสูงชั่วคราวจะสร้างแรงกดดันอย่างไรหลังจากปัญหาห่วงโซ่อุปทานได้รับการแก้ไขไปแล้วบางส่วน เชื่อว่าเฟดจะรอไปจนถึงการประชุมครั้งสุดท้ายของปีหน้าก่อนจะตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ย แบบเดียวกับที่เคยทำเมื่อ 10 ปีที่แล้ว
ด้านตลาดตอบสนองเชิงบวกต่อผลการประชุม ดัชนีทั้ง 3 ของตลาดหุ้นสหรัฐล้วนปรับขึ้นทำสถิติสูงสุดใหม่ โดยดาวโจนส์ปรับขึ้น 104.95 จุดหรือ 0.29% ปิดตลาดที่ 36,157.58 จุด เอสแอนด์พี 500 เพิ่มขึ้น 29.92 จุดหรือ 0.65% ปิดที่ 4660.57 จุด ขณะที่แนสแดคบวก 161.98 จุดหรือ 1.04% ปิดที่ 15,811.58 จุด นับเป็นครั้งที่ 4 ติดต่อกัน ที่ดัชนีหุ้นทั้งสามของสหรัฐทำสถิติสูงสุดใหม่
“ไมเคิล อารอน” แห่งสเตต สตรีต โกลบอล แอดไวเซอร์ ชี้ว่า การที่เฟดยังคงใช้คำว่า “ชั่วคราว” กับภาวะเงินเฟ้อในขณะนี้ บ่งบอกว่าอัตราดอกเบี้ยจะอยู่ในระดับต่ำยาวนานกว่าที่หลายคนคิด ส่วนไรอัน ดีทริก หัวหน้านักกลยุทธ์ตลาดแอลพีแอล ไฟแนนเชียล กล่าวว่า แม้ตลาดจะมีความกังวลหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นห่วงโซ่อุปทาน เงินเฟ้อ เป็นต้น แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือรายได้ของบริษัทต่าง ๆ ดีกว่าที่คาดมาก สร้างความชอบธรรมในสายตานักลงทุนว่าระดับของดัชนีตลาดหุ้นปัจจุบันเหมาะสมแล้ว
ตามกำหนดการปัจจุบัน การลดวงเงินซื้อพันธบัตรจะดำเนินการเสร็จสิ้นประมาณเดือนกรกฎาคมปีหน้า ซึ่งกรรมการเฟดหลายคนระบุว่า ไม่น่าจะมีการขึ้นดอกเบี้ยจนกว่าการลดคิวอีจะแล้วเสร็จ
หุ้นมะกันทำสถิติใหม่ทั้ง 3 ดัชนี “เฟด” ลดคิวอี-ไม่รีบขึ้นดอกเบี้ย - ประชาชาติธุรกิจ
Read More
No comments:
Post a Comment