นายกฯ เผยล็อกดาวน์ทำยอดโควิดลดลง เล็งปรับมาตรการควบคุมโรคให้ประชาชนกลับมาใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงช่วงก่อนหน้านี้ ลดผลกระทบด้านเศรษฐกิจและสังคม
พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ระบุผ่านเพจเฟซบุ๊ก “ประยุทธ์ จันทร์โอชา Prayut Chan-o-cha” ว่า การประชุม ศบค.ชุดใหญ่มีการประเมินผลของมาตรการล็อกดาวน์ โดยกระทรวงสาธารณสุขได้นำเสนอผู้ติดเชื้อที่เริ่มมีแนวโน้มลดลง ทำให้คณะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญมีความเห็นปรับมาตรการควบคุมโรคให้ประชาชนกลับมาใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงช่วงก่อนหน้านี้ ลดผลกระทบด้านเศรษฐกิจและสังคม ภายใต้การดำเนินการตามมาตรการควบคุมโรคอย่างเคร่งครัด ด้วยเงื่อนไขที่ไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยง
ในปัจจุบัน ทั่วโลกต่างยอมรับว่า เชื้อโควิดนี้มีการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ และแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็วและง่ายดาย จนกลายเป็นโรคประจำถิ่น จึงไม่ใช่การกำจัดโรคนี้ให้หมดไปแต่เป็นการอยู่ร่วมกับโควิดให้ได้อย่างปลอดภัยและสมดุล ศบค. ได้เห็นชอบกับแผน “Smart Control and Living with COVID-19” หรือ การควบคุมโรคแนวใหม่ที่สมดุลกับการดำเนินชีวิตที่ปลอดภัยจากโควิด-19 โดยมี 10 มาตรการดังนี้
1. การยกระดับมาตรการ DMHT (อยู่ห่าง-ใส่แมสก์-ล้างมือ-วัดอุณหภูมิ) เป็นมาตรการ Universal Prevention (การป้องกันแบบครอบจักรวาล) คือการระมัดระวังตัวเองอย่างสูงสุด
2. การจัดหาวัคซีนและฉีดให้ได้มากและเร็วที่สุด ภายในสิ้นปีนี้ จะจัดหาวัคซีนที่ฉีดให้ประชาชนได้อย่างน้อย 120 ล้านโดส ซึ่งขยายเพิ่มจากเป้าหมายเดิม 100 ล้านโดส ซึ่งเมื่อรวมกับวัคซีนทางเลือกของเอกชน เราจะมีวัคซีนรวมอย่างน้อย 130 ล้านโดส ทำให้เราจะสามารถฉีดวัคซีนให้ประชาชนในประเทศไทยได้กว่า 65 ล้านคน
3. การจัดหาชุดตรวจโควิดด้วยตนเอง (ATK – Antigen Test Kit) ให้ประชาชนเข้าถึงได้ง่ายและราคาถูก ซึ่งทาง สปสช. ได้สั่งซื้อหาและจะแจกจ่ายให้ประชาชนจำนวน 8.5 ชุด โดยเร็วที่สุด และจะจัดหามาเพิ่มอีกในอนาคต
4. การจัดทำมาตรการ Bubble & Seal กับโรงงาน สถานประกอบการ และแคมป์ก่อสร้าง เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดที่เกิดขึ้นให้อยู่ในวงจำกัดที่สุด และดูแลจัดการอย่างครบวงจร
5. การจัดการสภาพแวดล้อมและการคัดกรองการตรวจด้วยชุดตรวจ ATK ในสถานที่เสี่ยง ตลาด และชุมชนแออัด ที่เป็นแหล่งแพร่ระบาดและเกิดคลัสเตอร์ผู้ติดเชื้อเป็นจำนวนมาก เพื่อหยุดการระบาดตั้งแต่ต้น
6. การจัดสภาพแวดล้อมของกิจการที่มีความเสี่ยงเป็นแบบปราศจากโควิด (COVID-Free Setting) เพื่อให้สามารถเปิดดำเนินกิจการได้ มี 3 องค์ประกอบสำคัญคือ 1. COVID-Free Environment (สภาพแวดล้อมปราศจากโควิด) เช่นระบบระบายอากาศ การจัดสถานที่ให้ไม่แออัด 2. COVID-Free Personnel (พนักงานปราศจากโควิด) เช่นการฉีดวัคซีนและตรวจ ATK 3. COVID-Free Customer (ลูกค้าปราศจากโควิด) เช่นการแสดงผลฉีดวัคซีนหรือการตรวจ ATK
7. การจัดสภาพการทำงานและการเดินทางที่ปลอดภัย ไม่แออัด รวมถึงการคัดกรองโรคด้วยชุดตรวจ ATK สำหรับองค์กรขนาดใหญ่ที่มีพนักงานจำนวนมากจะทำให้ไม่เกิดการระบาดในสถานที่ทำงาน และติดเชื้อต่อไปยังครอบครัวที่บ้าน
8. การจัดกิจกรรม สถานที่ และบริการสาธารณะต่างๆ ภายใต้มาตรการ 3C คือ การไม่จัดให้เกิดพื้นที่เสี่ยง 3 ประการ คือ “แออัด-ใกล้ชิด-ปิดอับ” ซึ่งเป็นสภาพแวดล้อมที่เสี่ยงในการแพร่ระบาดได้สูง
9. การจัดการบริการควบคุมโรคเชิงรุก เข้าถึงกลุ่มเสี่ยงและกลุ่มเปราะบางในพื้นที่และชุมชนระบาด ด้วยหน่วยเคลื่อนที่CCRT (Comprehensive COVID-19 Response Team)ทั้งตรวจคัดกรอง การนำผู้ป่วยออกมารักษา การฉีดวัคซีน โดยเฉพาะกับผู้ป่วยติดเตียง หรือผู้ที่ไม่สามารถขอรับความช่วยเหลือได้ด้วยตนเอง
10. ตรวจคัดกรองเชิงรุกให้รวดเร็ว รู้ผลให้เร็ว แยกกักผู้ป่วยและผู้มีความเสี่ยงเร็ว และรักษาผู้ป่วยได้เร็ว ด้วยชุดตรวจ ATK และระบบแยกกักที่บ้าน-ชุมชนHome Isolation & Community Isolation สำหรับผู้ป่วยที่ไม่มีอาการหรืออาการไม่รุนแรง
นโยบาย “Smart Control and Living with COVID-19” ทั้ง 10 ข้อนี้ ได้มีการดำเนินการมาแล้วในหลายข้อ และได้ผลดี เป็นปัจจัยสำคัญในการลดยอดผู้ติดเชื้อได้ส่วนบางข้อนั้นจะมีการยกระดับและเริ่มในวันที่ 1 กันยายนนี้ ซึ่งจะเป็นหนทางที่ช่วยให้ประเทศไทยจะก้าวไปสู่อนาคตร่วมกันอย่างปลอดภัยและมั่นคง สามารถฟื้นเศรษฐกิจและชีวิตความเป็นอยู่ของเราได้ จึงขอให้ทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน ประชาชนทุกคน นำไปปรับใช้เพื่อให้เราก้าวผ่านวิกฤตสู่อนาคตของประเทศไทยด้วยกัน
ล็อกดาวน์ทำโควิดลด...นายกฯ เผยเตรียมปรับมาตรการคุมโรค หวังให้ ปชช.กลับมาใช้ชีวิตดังเดิม - Sanook
Read More
No comments:
Post a Comment