Rechercher dans ce blog

Friday, August 27, 2021

“ทำตามคำสั่งนาย” ข้อแก้ตัวที่ฟังไม่ขึ้นในคดีฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว - โพสต์ทูเดย์

“ทำตามคำสั่งนาย” ข้อแก้ตัวที่ฟังไม่ขึ้นในคดีฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว

วันที่ 27 ส.ค. 2564 เวลา 19:30 น.

ศาลพิพากษาข้ออ้าง “ทำตามคำสั่งนาย” เพื่อให้พ้นผิดในคดีฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ฟังไม่ขึ้น

คดีสะเทือนวงการสีกากีที่ผู้กำกับสถานีตำรวจนายหนึ่งและผู้ใต้บังคับบัญชาใช้ถุงพลาสติกคลุมศีรษะผู้ต้องหาจนเสียชีวิตทำให้สังคมไทยได้ยินคำว่า “ทำตามคำสั่งนาย” อีกครั้ง

คำว่า “ทำตามคำสั่งนาย” ไม่ได้มีเฉพาะในสังคมไทย แต่เคยถูกนำมาใช้เป็นข้ออ้างให้พ้นผิดในเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญอย่างการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวกว่า 6 ล้านคนของนาซีที่นำโดย อดอล์ฟ ฮิตเลอร์

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จบลงฝ่ายสัมพันธมิตรที่นำโดยสหรัฐและอังกฤษตัดสินใจตั้งศาลขึ้นมาพิจารณาคดีกับฝ่ายนาซีมือเปื้อนเลือดไล่ตั้งแต่ระดับหัวแถวไปจนถึงหางแถวตั้งแต่วันที่ 20 พ.ย. 1945 โดยเลือกพิจารณาคดีที่เมืองนูเรมเบิร์ก แคว้นบาวาเรียของเยอรมนี

ที่เลือกเมืองนูเรมเบิร์กเพราะกระทรวงยุติธรรมซึ่งมีคุกขนาดใหญ่ในเมืองนี้ไม่ได้รับความเสียหายจากสงคราม บวกกับเมืองแห่งนี้ยังเป็นจุดที่ฝ่ายนาซีใช้จัดขบวนพาเหรดเพื่อโฆษณาชวนเชื่อ ดังนั้นการพิจารณาคดีที่เมืองนี้จึงเป็นการประกาศว่าจักรวรรดิไรซ์ที่ 3 ของฮิตเลอร์สิ้นสุดลงแล้ว

และข้ออ้างที่ถูกนำมาใช้มากที่สุดในการพิจารณาตัดสินโทษนาซีก็คือ “ทำตามคำสั่งนาย” ซึ่งเป็นที่มาของ Nuremberg defense หรือข้ออ้างนูเรมเบิร์ก หรือ Superior orders ที่จำเลยอ้างว่าพวกเขาแค่ทำตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา (วลีเยอรมันคือ Befehl ist Befehl แปลว่า คำสั่งคือคำสั่ง) ดังนั้นจึงไม่ต้องรับผิดชอบกับอาชญากรรมที่ตัวเองก่อไว้กับเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน

หนึ่งในผู้ต้องหาที่ใช้ข้ออ้างนูเรมเบิร์กคือ ออทโท โอเลินดอร์ฟ (Otto Ohlendorf) อดีตผู้บังคับบัญชาของหน่วยงานไอน์ซัทซ์กรุพเพิน (Einsatzgruppen) หรือกองกำลังสังหารเคลื่อนที่ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการสังหารทั้งเด็กและผู้ใหญ่ชาวยิว โรมา และซินติกว่า 90,000 คน เขาต่อสู้ด้วยถ้อยคำง่ายๆ ว่า ทำตามคำสั่งผู้บังคับบัญชา แต่ที่สุดแล้วศาลตัดสินประหารชีวิต

เช่นเดียวกับ รูดอล์ฟ เฮิส (Rudolf Höss) ผู้บัญชาการค่ายกักกันเอาช์วิตซ์ ที่พยายามแก้ตัวว่าเขาแค่ทำตามคำสั่งเท่านั้น

“คุณไม่เห็นเหรอ พวกเราหน่วย SS ไม่ควรมาคิดถึงเรื่องเหล่านี้ มันไม่เคยเกิดขึ้นกับพวกเรา...เราถูกฝึกให้เชื่อฟังคำสั่งอย่างเคร่งครัดโดยไม่เคยแม้แต่จะคิดว่าการไม่เชื่อฟังคำสั่งไม่เคยเกิดขึ้นกับคนอื่นเลย และถึงผมไม่ทำ คนอื่นก็ทำอยู่ดี...ผมไม่เคยเสียเวลาคิดเลยว่ามันผิดหรือไม่ เพราะมันคือสิ่งที่ดูเหมือนจำเป็นต้องทำ” เฮิสกล่าว

ผู้พิพากษาคดีนูเรมเบิร์กไม่ยอมรับฟังข้อแก้ตัวว่า “ทำตามคำสั่งนาย” โดยบอกว่าเมื่อผู้ใดผู้หนึ่งกระทำตามคำสั่งที่ฝ่าฝืนกฎหมายสากล เขาผู้นั้นย่อมต้องรับผิดชอบต่อสิ่งที่ตัวเองเลือก นอกเสียจากจะอยู่ภายใต้พฤติการณ์บางอย่าง อาทิ หากบุคคลผู้นั้นสามารถพิสูจน์ได้ว่าไม่ทราบจริงๆ ว่าคำสั่งนั้นผิดกฎหมาย จึงไม่ต้องรับผิด

ซึ่งในกรณีนี้ผู้พิพากษายืนยันว่า เป็นไปไม่ได้ที่สมาชิกหน่วยไอน์ซัทซ์กรุพเพินจะไม่ทราบว่าการสังหารพลเมืองเป็นสิ่งผิดกฎหมายและผิดศีลธรรม

ข้อยกเว้นอีกอย่างหนึ่งคือ หากบุคคลนั้นๆ ปฏิบัติตามคำสั่งที่ผิดกฎหมายเพื่อหลีกเลี่ยงอันตรายต่อร่างกาย การทรมาน หรือการเสียชีวิต

คำพิพากษาคดีไอน์ซัทซ์กรุพเพินระบุว่า “ศาลจะไม่ลงโทษบุคลที่ถูกปืนบรรจุกระสุนจ่อศีรษะบังคับให้กระทำการ หรือไม่จำเป็นต้องเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึงจึงจะได้รับยกเว้นโทษ แต่มีจำเลยคนใดหรือไม่ที่ถูกข่มขู่ว่าตัวเขาเองจะถูกฆ่าหากฆ่าชาวยิวไม่สำเร็จ?”

ขณะที่จำเลยในคดีฆ่าล้างเผ่าพันธุ์บางคนอ้างว่าหรือเชื่อว่า พวกเขาอาจได้รับอันตรายแก่กายจริงๆ หากไม่ทำตามคำสั่งให้สังหารชาวยิว ทว่า ดอริส เบอร์เจน นักประวัติศาสตร์เผยว่า นาซีไม่ได้ทำอันตรายกับคนที่ไม่ทำตามคำสั่ง ชาวเยอรมนีไม่ได้ถูกบีบบังคับให้เป็นมือสังหาร คนที่ไม่เข้าร่วมจะได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่อื่น

ซึ่งศาลนูเรมเบิร์กก็มีความเห็นว่าสมาชิกในหน่วยไอน์ซัทซ์กรุพเพินไม่เคยถูกคุกคามหรือได้รับอันตรายต่อร่างกายหากไม่ลงมือกับชาวยิว จึงพิพากษาว่าหัวหน้าหน่วยไอน์ซัทซ์กรุพเพิน 20 คนมีความผิด โดย 4 คนรวมทั้งโอเลินดอร์ฟูกตัดสินประหารชีวิต

อีกคนหนึ่งที่ใช้ข้ออ้าง “ทำตามคำสั่งนาย” คือ อดอล์ฟ ไอช์มันน์ (Adolf Eichmann) อดีตสมาชิกพรรคนาซีคนสำคัญและข้าราชการระดับสูงที่มีส่วนสำคัญในการก่ออาชญากรรมฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวภายใต้การนำของฮิตเลอร์ เขามีตำแหน่งผู้บังคับบัญชาหน่วยราชการที่มีชื่อว่า กรมกิจการว่าด้วยชาวยิว (Office of Jewish Affairs) ซึ่งมีหน้าที่รวบรวมข้อมูลคนยิวในพื้นที่ ยึดทรัพย์ และขนย้ายลำเลียงชาวยิวไปยังค่ายกักกัน

ในปี 1962 ไอช์มันน์เขียนจดหมายขอผ่อนผันโทษโดยระบุว่า ตัวเขาและเจ้าหน้าที่ระดับล่างคนอื่นๆ “ถูกบังคับให้ทำหน้าที่เป็นเพียงเครื่องมือ” เพื่อพยายามจะผลักความรับผิดชอบต่อการฆ่าชาวยิวนับล้านๆ คนไปให้ผู้บังคับบัญชา แต่ข้ออ้างนี้ฟังไม่ขึ้น สุดท้ายเขาก็ถูกตัดสินประหารชีวิตด้วยการแขวนคอในปีเดียวกันนั้น

ในคดีนูเรมเบิร์กส่วนใหญ่ศาลมองว่าการกระทำของจำเลยมีความชั่วร้ายมากจนข้ออ้างที่ว่าทำตามคำสั่งผู้บังคับบัญชาไม่สามารถนำมาใช้เป็นปัจจัยในการลดหย่อนผ่อนโทษได้

อีกทั้งขณะที่ผู้บังคับบัญชาสั่งนั้น ผู้รับคำสั่งซึ่งเป็นมนุษย์จะต้องรู้สึกผิดชอบชั่วดีกับสิ่งที่ตัวเองกำลังจะทำ จึงไม่สามารถอ้างว่าทำตามคำสั่งเพื่อไม่ต้องรับโทษ

ในปีเดียวกับที่ไอช์มันน์ถูกแขวนคอ สแตนลีย์ มิลแกรม นักจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยเยลลงมือทดสอบว่าคนธรรมดาทั่วไปจะทำอันตรายผู้อื่นหลังจากได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาหรือไม่ ซึ่งน่าตกใจที่ผลปรากฏว่ามนุษย์มีสิทธิ์ถูกความมืดมนเข้าครอบงำหัวใจได้ทุกคน

ส่วนงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Current Biology บอกว่า การทำตามคำสั่งทำให้คนทำรู้สึกว่าตัวเองอยู่ห่างไกลจากผลลัพธ์ที่ตัวเองก่อขึ้น หรือพูดอีกอย่างหนึ่งคือ เมื่อปฏิบัติตามคำสั่ง ผู้คนจะรู้สึกว่าตัวเองไม่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่ตัวเองทำ แม้ว่าคนคนนั้นจะเป็นคนที่ลงมือก็ตาม

ภาพ: wikipedia

Adblock test (Why?)


“ทำตามคำสั่งนาย” ข้อแก้ตัวที่ฟังไม่ขึ้นในคดีฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว - โพสต์ทูเดย์
Read More

No comments:

Post a Comment

พระครู เชิญวิญญาณ เมียฝรั่ง เผยต้องทำพิธี 3รอบ ตร.เจอเรื่องแปลก - ข่าวสด - ข่าวสด

พระครู ทำพิธีเชิญดวงวิญญาณ เมียฝรั่ง ถูกฆ่าทิ้งไร่ข้าวโพด เผยสิ่งผิดปกติ ต้องทำพิธีถึง 3 รอบ ด้าน พนักงานสอบสวน เล่าเรื่องแปลก ก่อนวันผู้ต้อ...